การแก้ไขเครื่องยนต์รถยนต์ที่จมน้ำและเคลมประกัน

ก่อนอื่นขอส่งกำลังใจให้่ชาวอีสาน ผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกคน ไปเจอเพจของคุณ มากมี บริการเรื่องรถ ครบวงจร จึงนำวิธีแก้ไขรถยนต์ที่กำลังจมน้ำในขณะนี้ การเคลมประกัน และการขับรถลุยน้ำมาเป็นข้อมูลเบื้องต้น

กรณีหากรถมีประกัน

1. ถอด แบตเตอรี่ ออกหนึ่งข้าง บวก หรือ ลบ ก็ได้
2. เอามือถือ ถ่ายรูปรถทุกจุดที่น้ำเข้า
3. ถ่ายรูปตอนน้ำท่วมสูงสุดจะได้รู้ว่าถึงจุดใหนของรถ
4. พอน้ำลง พอน้ำลงโทรตามประกันมาซ่อม
5. ถ้าประกันมาดูรถ แล้วบอกให้ใส่แบ็ต ขอติดเครื่อง “ห้ามเด็ดขาด” เพราะน้ำเข้าท่อไอดี ไปอยู่ที่หัวลูกสูบ พอติดเครื่อง น้ำก็จะอัดในห้องเครื่องทำให้ก้านสูบคด งอ พังในที่สุด ซ่อมใหม่ก็ หลายๆหมื่น เลยทีเดียว
6. ให้ประกันลากเข้า 0 บริการ พร้อมทำหนังสือว่าจะรับผิดชอบ ทุกอย่าง ทำให้เหมือนเดิม แล้วเซ็นต์กำกับ 

คันไหน #ไม่มีประกัน ให้ทำตาม ผมบอกต่อไปนี้

7.1 ถอดแบตเตอรี่ 
7.2 เอาลมเป่า ตามปลั๊กไฟทุกจุด และถอดกล่อง ECU มาเป่า ,ใช้ลมเป่า เบาๆ หรือไดร์เป่าผมก็ได้ แล้วตากแดด 20 นาที [กล่องจมน้ำไม่พัง #ถ้าลมเป่าแรงๆพังเลย กล่องพวกนี้เขามีน้ำยาเคลือบมาแล้ว จมน้ำเลยไม่เสีย แต่ใส่แบ็ต ผิดเสียเลย เปลี่ยนใหม่ หลัก หมื่น
7.3 ถ่ายน้ำมันเครื่อง เกียร์ เฟืองท้าย ทิ้ง เติมใหม่
7.4 รถ #เบนซิน ถอดหัวเทียนออก ติดเครื่อง 3 วิ ทำแบบนี้ 3 ครั้ง ครั้งแรกน้ำพุ่งออกรูหัวเทียน มาก #ห้ามลืมถอดหัวเทียน นะ ก้านสูบคด เสีย เงินหมื่น
7.5 #เครื่องดีเชล ถอดหัวฉีด หรือหัวเผาก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วติดเครื่อง 4 วิ ทำ 4 ครั้ง
7.6 ประกอบคืน ล้างถังน้ำมันเชื้อเพลิง เติมใหม่ แล้วติดเครื่องได้เลย เครื่องติดแล้ว ทำตามที่บอก อย่าข้ามขั้นตอน แค่นี้ ก็ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น
7.7 เมื่อเครื่องยนต์ ติดแล้ว เข้าเกียร์ไม่ได้ วิ่งไม่ได้ เพราะ ผ้าครัชติดกับหวีครัช #ไม่ต้องยกเกียร์ให้ลำบาก ทำง่ายๆ นาทีเดียวก็ ดีเยี่ยม #เข้าเกียร์ 2 ติดเครื่อง 8 วินาที ใช้ได้เลย ,ใช้ได้ 2,000 โล เปลี่ยนลูกปืนครัชใหม่ ราคาไม่ถึงพัน
8. มอไซค์ ที่จมน้ำ
8.1 ให้ทำทุกอย่าง เหมือน 7.1ถึง7.6
มอไซค์ ดีอย่าง แบ็ตเตอรี่ จมน้ำไม่เสีย เพราะเป็นแบตแห้ง

ขอบคุณเพจ อู่เคาะพ่นสี รถยนต์ , มากมี บริการเรื่องรถ ครบวงจร

ควรดูแลรถที่จมน้ำ อย่างไรเมื่อนำขึ้นมาได้?

จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้นอกจากบ้านเรื่อน ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายแล้ว รถยนต์ก็เป็นอีกทรัพย์สินหนึ่งที่มูลค่าสูงและได้รับความเสียหายเยอะพอๆกับบ้านเรือน เรามาดูวิธีการดูแลรถหลังจากนำขึ้นมาจากน้ำได้แล้ว ดังนี้

1.  อย่าพยายามรีบร้อนติดเครื่องยนต์รถที่เพิ่งเอาขึ้นจากน้ำ หรือน้ำลดลงไปจากการท่วมมิดเครื่องยนต์เป็นอันขาด เพราะน้ำที่แทรกซึมอยู่ในเครื่องยนต์อาจจะทำให้กลไกภายในตัวเครื่อง เช่น ก้านสูบกับก้านกระทุ้งวาล์วได้รับความเสียหาย

2. ห้ามพ่วงต่อกระแสไฟ เช่น พ่วงแบตเตอรี่ เพื่อติดเครื่องยนต์รถที่ใหม่กว่ารุ่นปี ค.ศ. 1989 หรือ พ.ศ. 2532 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้แอลเทอร์เนอเตอร์ซึ่งมักจะเรียกกันง่ายๆ ว่าไดชาร์จ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆที่มีติดตั้งอยู่ เช่น กล่องสมองกลไฟฟ้าควบคุมเครื่องยนต์ (ECU) กล่องควบคุมเกียร์หรือระบบควบคุมการทรงตัว ระบบช่วยเสริมแรงเบรก หรือระบบป้องกันล้อล็อก รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบให้ความบันเทิงเสียหายจนใช้ไม่ได้ ซึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วมีราคาค่าตัวสูงมาก

3. เมื่อรู้ว่าไม่สามารถขนย้ายรถยนต์ส่วนตัวออกจากพื้นที่ที่น้ำท่วม ควรถอดสายไฟที่เชื่อมต่อกับแบตเตอรี่ออกทันที แล้วยกแบตเตอรี่ออกจากช่องเก็บ ถ้าทำไม่ทัน แบตเตอรี่จมน้ำอยู่อาจทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งจะตามมาด้วยความเสียหายในระดับที่ร้ายแรง เมื่อน้ำแห้งแล้ว วงจรของการเชื่อมต่อระหว่างสายไฟขั้วบวก-ลบ หากยังไม่เอาสายไฟที่เชื่อมต่อออก แล้วมีกระแสเข้าไปมันจะก่อให้เกิดการลัดวงจรแบบทันทีทันใด จึงควรรีบถอดสายแบตเตอรี่ออกทันทีที่สามารถกู้รถให้พ้นจากพื้นที่น้ำท่วม

4. ก่อนที่จะต่อขั้วแบตเตอรี่เข้ากับรถอีกครั้งหลังจากพ้นน้ำแล้ว จำเป็นจะต้องปลดฟิวส์ในกล่องควบคุมของระบบถุงลมนิรภัยเพื่อตัดการทำงาน หากวงจรไฟฟ้าในระบบถุงลมนิรภัยเกิดลงดินหรือช็อตลัดวงจรโดยที่ยังไม่ได้ปลดฟิวส์ออก ถุงลมนิรภัยของใหม่ที่มีมูลค่าหลายหมื่นบาทในรถยนต์แทบทุกรุ่นหรือบางรุ่น ราคาเป็นแสน (ทั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า-หลัง ม่านนิรภัย) อาจระเบิดขึ้นเองได้จากการลัดวงจรของระบบ

5. เมื่อทำการตรวจสอบรถยนต์ ที่เพิ่งกู้ให้พ้นจากพื้นที่น้ำท่วมแล้ว หากพบน้ำในที่เขี่ยบุหรี่ แสดงว่าน้ำคงเข้าไปถึงระบบไฟฟ้าบนหน้าปัดหรือคอนโซล มาตรวัด จอมัลติฟังก์ชั่น และสวิตช์สั่งงานควบคุมระบบต่างๆ วงจรของระบบเหล่านั้น สามารถนำออกมาทำความสะอาดและเป่าแห้งโดยช่างผู้ชำนาญ แต่มันอาจตามมาด้วยปัญหาของวงจรในการใช้งานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จมน้ำ หรือเปียกน้ำ อายุการใช้งานอาจสั้นลงมาก

6. ระบบส่งกำลัง แบบเกียร์อัตโนมัติกับชุดทอร์กคอนเวิร์ตเตอร์ ต้องถอดออกมาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันไฮดรอลิกและแยกชิ้นส่วนทั้งหมดออกมาทำความสะอาดทุกชิ้นส่วน รวมถึงน้ำมันเฟืองท้ายและชุดฟันเฟืองของเฟืองท้าย ชุดส่งกำลังทรานสเฟอร์ของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ

7. เมื่อตรวจสอบระบบส่งกำลัง ควรตรวจเช็กลูกปืนล้อทั้งสี่ล้อ โดยนำออกมาทำความสะอาดแล้วอัดสารหล่อลื่นพวกจาระบีใหม่ทั้งหมด

8. ยางหุ้มเพลาที่ขาด อาจมีน้ำเข้าไปแทนที่จาระบีภายใน ต้องถอดออกมาทำความสะอาดเปลี่ยนยางหุ้มเพลาใหม่ และอัดจาระบีหลังจากทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว รวมถึงลูกปืนล้อทั้งสี่ก็ต้องถอดออกมาทำความสะอาดแล้วอัดจาระบีด้วยเช่นกัน

9. ระบบระบายความร้อน เช่น หม้อน้ำ ต้องถ่ายน้ำในหม้อน้ำทิ้งทั้งหมด แล้วเติมน้ำใหม่พร้อมน้ำยาลดอุณหภูมิน้ำตามระดับที่กำหนดในคู่มือประจำรถ พัดลมไฟฟ้าอาจได้รับความเสียหายเนื่องจากแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน มอเตอร์พัดลมข้อต่อสายไฟต่างๆ ถอดออกแล้วทำความสะอาดโดยการเป่าแห้งแล้วตากแดด หากโชคดีอาจทำงานได้เหมือนเดิม

10. รถที่จอดแช่น้ำ เพียงแค่ครึ่งล้อเป็นเวลานานจะทำให้ระบบเบรกเกิดความเสียหาย บางรายถึงกับต้องซ่อมหรือเปลี่ยนเบรกกันทั้งระบบ ตรวจเช็กโดยการเปลี่ยนของเหลวพวกน้ำมันเบรก สายไฟเซนเซอร์ของระบบช่วยเบรก พวก ABS /BA ในรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีติดตั้ง ข้อต่อสายไฟที่เชื่อมต่อกับชุดควบคุม ลองถอดออกแล้วทำความสะอาด เป่าขั้วต่อให้แห้งก่อนการเสียบกลับคืนเพื่อทดสอบว่ามันยังสามารถใช้งานได้ หรือไม่

11. แร็คพวงมาลัย โดยเฉพาะพวงมาลัยแบบพาวเวอร์ทั้งปั๊มไฟฟ้าและปั๊มสายพาน ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องตรวจระบบรองรับพวกโช๊คอัพ ลูกหมากปีกนก ยางรองรับห่อหุ้ม ควรเปลี่ยนถ้าพบความเสียหายหรือไม่แน่ใจ

12. กล่อง ฟิวส์ รีเลย์เซ็นเซอร์ ต้องได้รับการตรวจเช็กให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรเสียหาย โดยเฉพาะกล่องฟิวส์ถ้าเกิดมีการจมน้ำเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนใหม่ทันที รวมถึงจานจ่าย เพราะหากใช้งานต่อไปมักทำให้เครื่องยนต์สั่น แผงวงจร ล้างทำความสะอาจด้วยน้ำ หลังจากนั้นจึงนำไปอบที่ความร้อน 120F (120 องศาฟาเรนไฮต์) ประมาณ 30 นาที แล้วพ่นด้วยสเปรย์แล็กเกอร์เคลียร์ก่อนจะนำมาใช้ใหม่ ซึ่งมันอาจได้รับความเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ก็อาจมีความเป็นไปได้

13. ตรวจสอบระบบปรับอากาศ คลัตซ์ของคอมเพรสเซอร์แอร์ อุปกรณ์ที่เสี่ยงต่อความเสียหายมากทีี่สุดหลังจากแช่น้ำ คือ ชุดควบคุมอุณหภูมิแบบดิจิตอลภายในห้องโดยสาร

14. ถอดพรมรองพื้นออกมาทำความสะอาดทั้งหมด แล้วผึ่งรถ โดยจอดตากแดดเปิดประตูทุกบานจนกว่าจะแน่ใจว่าภายในแห้ง และมีกลิ่นอับลดลง

15. ลากไปอู่  อาจเป็นข่าวดีและฝันร้ายสำหรับบรรดาช่างเครื่องทั้งหลายที่คงจะต้องมีงาน ให้ลากยาวถึงปีใหม่กันเลยทีเดียว แต่เมื่อคุณคิดว่าพร้อม ก็จัดการลากไปให้ผู้เชี่ยวชาญดู โดยกำชับว่ารถคุณถูกน้ำท่วมมา

ซึ่งปกติแล้วจะแยกเป็น 2 กรณี

กรณีแรกที่น้ำท่วมไม่เยอะนั้นระบบ เครื่องยนต์อาจจะได้รับความเสียหายเล็กน้อย โดยเฉพาะถ้าน้ำท่วมไม่มากจนรถของคุณไม่ดำน้ำลงไปทั้งคันนั้น ช่างก็จะไล่ระบบอากาศ โดยเฉพาะกรองอากาศจะต้องลดความชื้น ตรวจสอบหัวเทียน และกล่องควบคุมการทำงาน ที่ต้องมีการไร้ความชื้นเป็นอย่างดี ก่อนที่ช่างจะสตาร์ทเครื่อง ซึ่งโดยมากก็จะมีค่าใช้จ่ายระดับ 5000 -10000 บาท

กรณีที่ 2 ท่วมแบบจมหายทั้งคันนั้น โดยมาก ช่างจะต้องทำงานกันหนักหน่อย และนั่นอาจหมายถึงการผ่าเครื่องยนต์ เพื่อตรวจสอบน้ำที่เข้าสู่เสื้อสูบว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด และทำการไล่น้ำความชื้น และถ้าเครื่องของท่านมีอาการหลวมร่วมด้วยอยู่แล้ว มันก็เป็นโอกาสที่จะโอเวอร์ฮอลเครื่องยนต์ไปพร้อมกัน เพราะยังไงช่างต้องผ่าเครื่องออกอยู่แล้ว

รถจมน้ำส่วนใหญ่ หลังจากแก้ไขปัญหาจากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด อาจไม่สามารถกลับมาทำงานปกติเหมือนเดิมได้ บางระบบอาจรวนจนเจ้าของต้องขายทิ้ง ขอให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยดีครับ.

ที่มา : LG :  www.trrheaderturbo.com , www.rakcar.com

ช่วยด้วย! น้ำท่วมรถประกันรับเคลมหรือไม่?

หลายคนจะกังวลถึงขึ้นกลุ่มใจยามวิกฤตน้ำท่วม ว่า รถน้ำท่วมประกันฯ จะรับเคลมความเสียหายให้บ้างหรือไม่?

ไม่ต้องห่วง ถ้าคุณทำประกันชั้น 1 หรือชั้น 2+ 3+ ในบางแพคเกจ บริษัทประกันฯ จะรับเคลมและจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ เมื่อรถของคุณถูกน้ำท่วม แบ่งออกเป็น 2 กรณี โดยพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ต้องเช็คกรมธรรมประกัน จะระบุรายละเอียดไว้

  1. การสูญเสียโดยสิ้นเชิง (Total Loss) เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยที่ได้รับการพิจารณาจากบริษัทประกันฯ ว่ารถยนต์คันที่พังไม่คุ้มที่จะซ่อมแซมให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมได้ กรณีนี้ยังรวมถึงเครื่องยนต์ที่ต้องได้รับการซ่อมแซมให้สามารถกลับมาใช้ได้ดังเดิมก่อนเกิดภัยพิบัติด้วย ส่วนใหญ่บริษัทประกันฯ จะประเมินมูลค่าความเสียหายที่ 70-80 % ของมูลค่ารถคันนั้นหรือทุนประกันเพื่อเป็นการขอซื้อซากรถ หากพิจารณาจากความเสียหายในกรณีนี้คือ ท่วมมิดคัน หรือท่วมเกินคอนโซลหน้า ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับทั้งห้องโดยสาร
  2. ความเสียหายบางส่วน (Partial Loss) ถ้ารถคันนั้นไม่เสียหายมากนัก สามารถซ่อมกลับมาใช้ได้ บริษัทประกันฯ ก็จะตีเป็นลักษณะความเสียหายบางส่วน ลักษณะความเสียหายบางส่วนถือเป็นความรับผิดชอบของประกันในการซ่อมแซมรถที่ประสบภัยให้กลับมาใช้งานได้ปกติ โดยที่บริษัทประกันฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดของการคืนสภาพรถคันดังกล่าว ตั้งแต่เรื่องเครื่องยนต์กลไกไปจนถึงการทำความสะอาดต่างๆ แม้แต่การทำความสะอาดภายในก็สามารถเคลมได้ทั้งสิ้น

ขั้นตอนการเคลมประกัน

  1. เมื่อรู้แน่ว่าน้ำท่วมถนนไหลเข้ามาในรถ และเครื่องดับชัวร์แล้ว อย่าเพิ่งใจเสีย รีบตั้งสติ โทรหาบริษัทประกันฯ เพื่อตรวจสอบดูว่ากรมธรรม์ของเราเป็นประเภทไหน? ครอบคลุมความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือไม่? แล้วรอพนักงานเคลมประกันประสานงานเรื่องรถยก รถลาก ทำใจเย็นๆ รอความช่วยเหลือไปก่อน
  2. ถ้ารอไม่ไหว คุณสามารถนำรถไปรอซ่อมที่อู่เอง แล้วโทรเรียกประกันนัดเจอที่นั่นเลยก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรซ่อมที่ “อู่กลาง” (อู่กลางการประกันภัย) จะค่อนข้างสะดวกในการเคลม
    รายชื่อสมาชิกอู่กลางประกันภัย
  3. สำหรับเคสที่น้ำท่วมหนักขั้นอุทกภัยหนีไม่ทัน ระหว่างถูกน้ำท่วมให้ถ่ายรูปรถบางส่วนเอาไว้ก่อน และหลังจากน้ำลดแล้วให้โทรเรียกประกันมาดูความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถ
  4. เมื่อบริษัทประกันฯ รับทราบเคสแล้วก็จะดำเนินการตรวจสอบว่าคุณไม่ได้ตั้งใจขับลุยเข้ามาในเส้นทางที่น้ำท่วม และประเมินมูลค่าความเสียหาย หากรถของคุณเข้าข่ายความเสียหายโดยสิ้นเชิงก็จะได้รับเงินจากประกัน โดยเงินจะถูกโอนไปยังผู้เอาประกัน ซึ่งบางครั้งคือไฟแนนซ์ที่คุณทำสัญญากู้เงินซื้อรถไว้ สำหรับกรณีที่ได้รับความเสียหายบางส่วน เมื่อประกันรับทราบความเสียหาย ได้รับใบเคลมเรียบร้อย รถของคุณก็จะได้รับการซ่อมแซมตามความเหมาะสม โดยเราสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ และเมื่อรถซ่อมเสร็จนำกลับมาใช้ หากพบปัญหาอันอาจจะเกิดจากภัยธรรมชาติที่ได้รับมานั้น สามารถแจ้งอู่หรือประกันได้ทันทีเพื่อเคลมความเสียหายต่อเนื่อง

อย่าลืมเช็คกรมธรรม์ของคุณ

สิ่งสำคัญที่สุด คือการตรวจดูความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่เราต่ออายุไว้ทุกปีว่าครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติด้วยหรือไม่ การคลอบคลุมในกรณีภัยพิบัติจะเข้าข่ายการคุ้มครองก็ต่อเมื่อรถยนต์ของคุณได้มีการทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 และ 2+ หรือ 3+ (บางแพคเกจ) ส่วนประกันภัยรถยนต์ประเภทอื่น จะไม่รับความคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วม ดังนั้นถ้าคุณตัดสินใจทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ไว้แต่แรกก็อุ่นใจได้เลย

ขอบคุณข้อมูลที่มา : https://www.easycompare.co.th

การขับรถลุยน้ำท่วมขัง หรือจำเป็นต้องขับผ่านถนนน้ำท่วม

1. ประเมินก่อนว่าน้ำท่วมสูงแค่ไหน

การลงไปวัดระดับระดับน้ำเอง คงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แต่เราสามารถสังเกตง่ายๆ จากรถคันข้างหน้า หรือบริเวณใกล้เคียง โดยสังเกตจากรถประเภทเดียวกัน เช่น ถ้าเป็นรถเก๋งก็ให้ดูจากล้อรถเก๋งด้วยกัน ว่าจมน้ำไปแค่ไหน ถ้าอยู่ในระดับที่ไปไหวไม่เกินครึ่งล้อก็อาจพอลุยต่อได้ และถ้าให้ดีกว่านั้น พยายามมองคันข้างหน้าไกลๆ ว่าระดับน้ำมีแนวโน้มท่วมเยอะขึ้นไหม โดยสังเกตเทียบได้จากล้อรถเช่นกัน หรือถ้าไม่มีรถให้เปรียบเทียบก็อาจมองแนวขอบฟุตบาทแทน

2. ใช้ความเร็วต่ำสม่ำเสมอ

เพื่อไม่ให้เกิดคลื่นน้ำกระฉอกตีกลับหรือกระเด็นสูงเข้าห้องเครื่องยนต์ สำหรับรถเกียร์ธรรมดาอาจใช้เกียร์ 1-2 ส่วนเกียร์อัตโนมัติควรใช้เกียร์ L หรือใกล้เคียง ขณะขับพยายามใช้ความเร็วต่ำสุดและคงที่ รอบเครื่องยนต์ไม่ควรเกิน 1,500 รอบ/นาที

3. ปิดแอร์ก่อนขับลุยน้ำ

การเปิดแอร์อาจจะทำให้น้ำใต้ห้องเครื่องยนต์ถูกพัดกระจายขึ้นมาได้ จนทำให้พัดลมระบายความร้อนไม่ทำงาน และเครื่องยนต์ร้อนขึ้นเรื่อยๆ

4. เหยียบเบรกหรือคลัตช์

นับเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้าม หลังลุยน้ำท่วมเสร็จใหม่ๆ และมักทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะเบรกไม่อยู่และคลัตช์ลื่น การย้ำเบรกหลังลุยน้ำท่วมหมาดๆ ก็เพื่อไล่ความชื้นในกลไกของระบบเบรก ทำให้เบรกกลับมามีประสิทธิภาพใกล้เคียงเดิม

5. ไม่ดับเครื่องยนต์ทันทีหลังลุยน้ำ

ควรจอดเดินเบาไว้สักครู่ และอาจเหยียบคันเร่งเบาๆ เป็นจังหวะ เพื่อไล่น้ำที่อาจค้างอยู่ในหม้อพักไอเสียออกให้หมด และเป็นการสร้างความร้อนให้สะสมมากพอไล่ความชื้นตามจุดต่างๆ ในห้องเครื่องยนต์

นอกจากนี้การขับรถลุยน้ำ ควรคำนึงด้วยว่ารถของเราเป็นรถประเภทไหนด้วยนะครับ เพราะว่ารถแต่ละประเภทมีความสูงที่แตกต่างกัน สำหรับรถเก๋งทั่วไป ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่น้ำท่วมที่สูงกว่า 25 ซม. ส่วนรถกระบะทั่วไป ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่น้ำท่วมที่สูงกว่า 40 ซม. และรถขับเคลื่อน 4 ล้อ (4WD) ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่น้ำท่วมที่สูงกว่า 50 ซม. ถึงแม้ว่ารถเราจะมีความสูงที่พอจะขับรถลุยน้ำได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการขับรถลุยน้ำให้ได้มากที่สุดจะดีกว่าครับ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบต่างๆ ของรถยนต์เสียหาย

ขอบคุณข้อมูลที่มา https://www.checkraka.com