ทำไมต้องซื้อ เรือดำน้ำ

ทำไมต้องซื้อ เรือดำน้ำ 22,500,000,000 บาท (สองหมื่นสองพันห้าร้อยล้านบาท)

เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน

พรรคก้าวไกล โพสต์ลงแฟนเพจของพรรควันนี้ (21 ส.ค.) ระบุว่า สัญญาการต่อเรือดำน้ำแบบ S26T ระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ไม่ได้บังคับให้ไทยซื้อเรือดำน้ำเพิ่มอีก 2 ลำ และไม่ได้ระบุว่าห้ามเลื่อนจัดซื้อ ตามที่กองทัพเรืออ้าง

เอาจนได้!

วันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ประชุมอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ของคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2564 สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณางบประมาณส่วนของกองทัพเรือในรายการจัดซื้อเรือดำน้ำ เนื่องด้วยมีความเห็นเป็นสองทาง และทางกองทัพเรือยังยืนยันว่ามีความจำเป็นไม่สามารถเลื่อนได้ ที่ประชุมจึงมีมติให้มีการลงคะแนนเสียงโดยการยกมือ ด้วยคำถาม 1.เห็นชอบตามคำขอปี 2564 (เรือดำน้ำ) 2.ไม่เห็นชอบตามคำขอปี 2564 (เรือดำน้ำ) 3.งดออกเสียง

ผลการลงมติคือ มีคะแนนเท่ากัน 4 ต่อ 4 เสียง ทำให้ประธานในที่ประชุมตามข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎรข้อที่ 79 วรรคสอง ต้องลงคะแนนชี้ขาด ประธานในที่ประชุมได้ออกเสียงว่า “เห็นชอบ” โครงการจัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่ารวมทั้งหมด 22,500 ล้านบาท โดยมีการตั้งเป็นงบผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ ตามงบประมาณประจำแต่ละปี ที่เสนอโดยกองทัพเรือ โดยผ่านด้วยมติ 5:4 เสียง

ผู้ที่ลงมติเห็นชอบ ประกอบด้วย
1.จีรเดช ศรีวิราช พรรคพลังประชารัฐ
2.ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู พรรคประชาธิปัตย์
3.กรนิต งามสุคนธ์รัตนา พรรคพลังประชารัฐ
4.ชยุต ภุมมิกาญจนะ พรรคภูมิใจไทย

ส่วนผู้ที่ลงมติไม่เห็นชอบ ประกอบด้วย
1.ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม พรรคเพื่อไทย
2.ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร พรรคเพื่อไทย
3.เรวัติ วิศรุตเวช พรรคเสรีรวมไทย
4.วรรณวรี ตะล่อมสิน พรรคก้าวไกล

ส่วนประธานอนุกรรมาธิการ คือ สุพล ฟองงาม พรรคพลังประชารัฐ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา กองทัพเรือได้เข้ามาชี้แจงการจัดของบประมาณกับทางอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน สภาผู้แทนราษฎร โดยปีงบประมาณ 2564 มีวงเงิน 48,289 ล้านบาท และมีรายการจัดซื้อเรือดำน้ำใหม่จำนวน 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท ซึ่งทางอนุกรรมาธิการฯครุภัณฑ์ ได้มีมติให้แขวนงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ ไว้ก่อน โดยให้กองทัพเรือไปนำเอกสารมาชี้แจงว่าในสัญญาจะสามารถเลื่อนการจัดซื้อได้หรือไม่ ซึ่งทางกองทัพเรืออ้างว่าไม่สามารถเลื่อนการจัดซื้อได้เนื่องจากเป็นการจัดซื้อแบบ G2G คือการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ จะทำให้เกิดความเสียหายในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศจีน

ทั้งนี้ ในวันนี้(วันที่ 21 สิงหาคม 2563) ที่ประชุมอนุกรรมาธิการฯครุภัณฑ์ ได้มีการพิจารณาเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำอีกครั้ง โดยทางกองทัพเรือได้นำสัญญา ”Agreement for construction of S26T submarine between government of Thailand and government of China”มาชี้แจงต่อที่ประชุม ซึ่งในสัญญาไม่ได้ปรากฎข้อความตามที่กองทัพเรือกล่าวอ้างในเรื่องความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศจีน หากมีการเลื่อนการจัดซื้อในปีนี้แต่อย่างใด รวมถึงในสัญญาก็ไม่ได้มีการระบุพันธะผูกพันให้ต้องซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 แต่อย่างใดด้วย
.

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียน สภาผู้แทนราษฎร ระบุ

ตนถามทหารที่มาชี้แจงว่า ถ้าไม่ซื้อจะเกิดความเสียหายอะไรหรือไม่ มีการทำข้อตกลงอะไรไว้หรือไม่ ผู้ชี้แจงตอบว่า ไม่มี เพียงแต่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และคณะ ไปรับปากกับจีนไว้ตั้งแต่ไปซื้อลำแรกมา ว่า จะซื้ออีก 2 ลำ ได้มีการต่อรองว่า ซื้อลำนึงก่อนได้หรือไม่ แต่ผู้ชี้แจงยืนยันว่า จำเป็นต้องซื้อ 2 ลำ / ที่มา : ไทยรัฐ

วิจารณ์ยับ ไม่เห็นด้วยซื้อเรือดำน้ำขณะนี้

หลังจากนั้น ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความไม่เห็นด้วยกัน กับการลงมติให้ซื้อเรือดำน้ำของกรรมาธิการ ฯ และ แฮชแท็ก #เรือดำน้ำ ในโซเซียล ตั้งคำถาม ใช้ช่วยน้ำท่วมตอนนี้ได้ไหม , รัฐบาลควรนำเงินเหล่านี้มาช่วยเยียวยาประชาชน ฯลฯ

ทำไมต้องซื้อเรือดำน้ำ มาฟังเหตุผลกันดู

รมช.กลาโหม “เรือดำน้ำ จำเป็นกับไทย เพื่อปกป้องเศรษฐกิจทางทะเล ที่มีมูลค่านำเข้าถึง 24 ล้านล้านบาท

1 ก.ค. 63 พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงข้อซักถามการซื้อเรือดำน้ำในสภา วาระการพิจารณางบประมาณ ฯ ว่า โครงการดังกล่าวเป็นปีงบฯ 63 โดยชะลอการดำเนินการ เพื่อปรับโอนมาเป็นงบฯ กลาง ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อทางทะเลให้ความสำคัญอย่างมาก เรื่องความมั่นคงทางทะเลและเศรษฐกิจทางทะเล

ปีนี้ไทยและสหรัฐฯ จะกำหนดแนวทางความมั่นคงทางทะเลร่วมกันในอาเซียน และประเทศคู่เจรจาอีก 8 ประเทศ เน้นเรื่องเศรษฐกิจทางทะเล และเส้นทางการเดินเรือ มูลค่าทางเศรษฐกิจทางทะเล ที่ไทยจะได้รับประมาณปีละ 24 ล้านล้านบาท มีเรือขนส่งสินค้าเข้าออกอ่าวไทยปีละ 1.5 หมื่นลำ

พล.อ.ชัยชาญกล่าวว่า ประเทศในภูมิภาคนี้ 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีเรือดำน้ำเข้าประจำการ และมากกว่าไทยที่กำลังจะจัดหา แต่ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะจัดหาเพื่อแข่งขัน หรือรบกับประเทศใด แต่เป็นการควบคุมและรักษาความมั่นคงทางทะเล รวมทั้งถ่วงดุลอำนาจทางทะเลที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกองทัพเรือและยุทธศาสตร์ทางเรือ

เรือดำน้ำที่จะจัดหา 1 ลำ จะได้ในปี 2566 ส่วนการจัดหาในปี 2564 ใช้เวลา 6-7 ปี คาดว่า จะเข้าประจำการได้ในปี 2569 ถือว่าเรื่องดุลยภาพทางทะเลไทยจะตามหลังประเทศอื่น 8-10 ปี

พล.อ.ชัยชาญกล่าวต่อว่า การปฏิบัตินั้นที่ต้องมี 3 ลำ เพราะพื้นที่อาณาเขตทางทะเลของไทย 3.2 แสนตารางกิโลเมตร เปรียบเทียบกับพื้นที่ทางบก 5 แสนตารางกิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ทั้งอ่าวไทยและอันดามันมีความสำคัญ และการปฏิบัติงานในจำนวน 3 ลำ ถือว่าต่ำที่สุด

ส่วนดำเนินการลักษณะจีทูจี ยืนยันว่าโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคัดเลือกแบบของเรือดำน้ำหลายประเทศ ซึ่งจีนเสนอพร้อมด้วยการฝึกอบรมอาวุธ ถ่ายทอดเทคโนโลยี รับประกัน 2 ปี ดูแลอะไหล่ 8 ปี

เรือดำน้ำเป็นเรื่องการรักษาผลประโยชน์ชาติและความมั่นคงทางทะเลอย่างแท้จริง เป็นไปตามยุทธศาสตร์ทางเรือและกองทัพเรือ สามารถตรวจสอบได้

รวบรวมการชี้แจงเหตุผลในการซื้อเรือดำน้ำจากกองทัพเรือ ฟังความทั้ง 2 ฝั่ง

@ยันอ่าวไทยเรือดำน้ำจีนปฏิบัติงานได้

พล.ร.ท.พัชระ พุ่มพิเชฏฐ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเรือดำน้ำฯ อธิบายว่า อ่าวไทยเป็นก้นถุง ปากอ่าวแคบ อาจถูกเรือรบ หรือเรือดำน้ำปิดอ่าวได้ง่าย ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นมากมายถึงขนาดที่กระทบต่อเศรษฐกิจ และความอยู่รอดของประเทศ สิ่งที่ตอบโจทย์คือต้องมีเรือดำน้ำ ซึ่กองทัพเรือเห็นประเด็นนี้

เรื่องความลึกของอ่าวไทยนั้น ไม่อยากให้พูดว่าน้ำตื้น ทุกคนทราบดีว่าอ่าวไทยมีความลึกประมาณ 50 เมตร เรือดำน้ำขนาดกลางสามารถปฏิบัติงานได้แบบสบาย ๆ โดยมีสิ่งที่ยืนยันได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาอ่าวไทยสร้างความเสียหายแก่ไทยหลายครั้ง นอกจากนี้ตนเคยร่วมฝึกกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา และเรือดำน้ำของสหรัฐฯ เห็นได้ว่า มีความยากที่จะค้นหาเรือดำน้ำให้เจอ นอกจากนี้เรือดำน้ำสหรัฐฯมีขนาด 6 พันตัน ใหญ่กว่าที่กองทัพเรือจะซื้อ 2-3 เท่า ยังไม่เห็นมีข้อจำกัดอะไรมากในการปฏิบัติที่อ่าวไทย เพียงแต่บางพื้นที่จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

ส่วน พล.ร.ต.วิสาร ปัณฑวังกูร ผบ.กองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ยืนยันเช่นกันว่า ข้อกังวลที่ว่า เรือดำน้ำที่จัดซื้อครั้งนี้ใหญ่มาก จะสามารถใช้งานในอ่าวไทยได้หรือไม่ ต้องดูว่าการใช้งานไปสู่พื้นที่ที่ทำงาน สามารถดำได้ที่ความลึกที่สามารถเดินเรือได้อย่างปลอดภัย และชักปล้องตาเรือขึ้นผิวน้ำเพื่อตรวจการณ์ได้ ดังนั้นเรือดำน้ำนี้ ถ้ามีความลึกตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป สามารถออกเรือดำน้ำไปทำงานที่อ่าวไทยได้อย่างปลอดภัย และอ่าวไทยมีที่เหลือเพียงพอเหลือเฟือที่เป็นท่ำงานของเรือดำน้ำ แต่วัตถุประสงค์หลักคงไม่ได้ใช้ที่อ่าวไทยเป็นหลัก ขณะเดียวกันถ้าเป็นที่ฝั่งอันดามัน มีพื้นที่ความลึกของทะเลมาก ไม่มีอุปสรรคในการใช้งานแต่อย่างใด

@ศึกษามายาวนานกว่า 30 ปี สุดท้ายเลือกแล้วต้อง S26T

พล.ร.ท.พัชระ ระบุว่า กองทัพเรือศึกษาเรื่องนี้มายาวนานกว่า 30 ปี เกือบได้แล้ว 2-3 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2538 ครั้งที่ 2 ในปี 2535 และครั้งสุดท้ายในปี 2554 ที่กองทัพเรือเสนอจัดหาเรือดำน้ำใช้แล้วรุ่น S206A จากเยอรมัน แต่ที่ผ่านมามีเหตุผลที่ต้องเลื่อนการจัดหามาโดยตลอด แต่ครั้งนี้การจัดหาไม่ได้เริ่มในปีงบประมาณ แต่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 กองทัพเรือได้รับอนุมัติให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาเรือดำน้ำที่มีความเหมาะสมกับยุทธการ และภารกิจของกองทัพเรือ หลังจากนั้นได้ศึกษาเรือดำน้ำใน 6 ประเทศ บางประเทศให้แต่ตัวเรือ ไม่แถมอาวุธ บางประเทศไม่สนับสนุนการฝึกอบรมเทคโนโลยีและองค์ความรู้ เป็นต้น ต่อมาปี 2559 ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาทบทวนอีกครั้ง พบว่า เรือดำน้ำ S26T ของประเทศจีน มีความเหมาะสมที่สุดที่จะเข้ามาใช้งาน เนื่องจากมีความพร้อมด้านยุทโธปกรณ์ ความสามารถ ความต่อเนื่องในการใช้งาน ตลอดอายุการใช้งาน สุดท้ายที่สำคัญคืองบประมาณในการจัดหา และการซ่อมบำรุงตลอดอายุการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีชื่อเสียงด้านสมรรถนะ และความเงียบ มีอุปกรณ์เพิ่มระยะเวลาการดำน้ำได้นานขึ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เรือดำน้ำต้องการมากที่สุด มีการพัฒนาระบบอาวุธ ประสิทธิภาพความแม่นยำ และทำลาย ซึ่งเป็นประโยชน์ที่กองทัพเรือต้องการมานาน

@ยันคุณภาพของประเทศจีนเชื่อถือได้

พล.ร.ท.พัชระ ยืนยันอีกว่า การวิจัยพัฒนาและการสร้างต่อเรือของประเทศจีน มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีคุณภาพที่เชื่อถือได้ เพราะประเทศจีนมีกองเรือดำน้ำใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก มีเรือดำน้ำประจำการกว่า 50 ลำ ปฏิบัติการจริงในทะเลมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก นอกจากนี้มีหลายประเทศที่สนใจจะซื้อจากจีน เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศปากีสถาน เตรียมสั่งซื้อเรือดำน้ำรุ่นดังกล่าวจากประเทศจีนอย่างน้อย 8 ลำ จากเดิมที่ใช้ของประเทศฝรั่งเศส และตนเคยเยี่ยมชนศูนย์วิจัยเรือดำน้ำของประเทศจีนมาแล้ว ซึ่งการจัดซื้อครั้งนี้จะเปิดพื้นที่ให้กำลังพลของไทยไปร่วมฝึกกับประเทศจีน ทั้งด้านกำลังพล ด้านเทคนิค และด้านบังคับบัญชาด้วย จึงถือว่าคุ้มค่า รวมถึงกระทรวงกลาโหมประเทศจีน และกองทัพเรือประเทศจีน ยินดีที่จะร่วมกับกองทัพเรือไทย ในการตรวจสอบยืนยันคุณภาพทุกขั้นตอนของการดำเนินการ เพื่อให้มีมาตรฐานตามที่ต้องการ ตั้งแต่การรับรองการออกแบบเรือดำน้ำ การตรวจรับรองแผ่นเหล็ก วัสดุในการสร้าง การทดสอบขั้นโรงงาน การทดสอบหน้าท่า การทดสอบทางทะเล การทดสอบตอร์ปิโด และสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการฝึกยุทโธปกรณ์ และการฝึกเพิ่มเติมอีกมาก นับว่าเป็นประโยชน์ในการทำสงครามใต้น้ำอย่างยิ่ง

@ทำสัญญาจีทูจีเพื่อลดความเสี่ยง

พล.ร.ท.พัชระ ระบุว่า สาเหตุที่ต้องทำสัญญาจีทูจีเพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญ เวลาดำเนินโครงการค่อนข้างนาน วงเงินค่อนข้างสูง มีผลกระทบต่อขีดความสามารถของกองทัพเรือ และประเทศไทย ที่สำคัญมีหน่วยงานเกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยเฉพาะจากประเทศจีน เช่น กระทรวงกลาโหมประเทศจีน บริษัทต่อเรือ กองทัพเรือจีน และหน่วยงานของประเทศจีนที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมทหาร ต้องเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการ ให้โครงการมีความสำเร็จตั้งแต่ขั้นดำเนินการ จนตลอดอายุการใช้งานของเรือ

“การทำสัญญาจีทูจี จึงช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มความเชื่อมั่นของโครงการว่า จะสำเร็จ ราบรื่น มีคุณภาพ ยืนยันว่า การจัดหาเรือดำน้ำรุ่น S26T ครั้งนี้ จะทำให้ไทย และกองทัพเรือได้ประโยชน์สูงสุด และเป็นการวางรากฐานสงครามใต้น้ำของกองทัพเรือให้มีความยั่งยืนได้แน่นอน”

@ลั่นจัดซื้อจากงบกองทัพเรือเอง ไม่ได้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน-ปัดเป็นภาระประเทศ

พล.ร.ต.กฤษฎากรณ์ พันธ์มโพธิ ผบ.สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ชี้แจงถึงการใช้งบประมาณจัดซื้อว่า ขอให้สบายใจได้ กองทัพเรือไม่ได้เบียดเบียนเงินงบประมาณของส่วนราชการอื่น หรือแม้แต่ขอสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาล เพื่อให้ส่วนราชการอื่น หรือประชาชนเดือดเนื้อร้อนใจ กองทัพเรือใช้งบประมาณจากงบประมาณที่ได้รับปกติ ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ในส่วนที่เป็นการลงทุน และพัฒนากองทัพ เพื่อจัดหายุทโธปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้งาน ซึ่งเป็นปกติตามแผนงานของกองทัพเรืออยู่แล้ว ไม่ได้ใช้งบส่วนอื่น หรืองบใดให้เป็นภาระแก่ประเทศ

ส่วนจะลงทุนในเรื่องใด เวลาไหน ขึ้นอยู่กับความจำเป็นเร่งด่วน และสภาพความเป็นไปได้ด้านงบประมาณในช่วงเวลานั้น ที่ไม่ทำให้มีผลกระทบกับการใช้จ่ายงบประมาณด้านอื่นของกองทัพเรือ หรือเป็นภาระกับกองทัพเรือ ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้เรียนว่า เหมือนส่วนราชการอื่นทั่วไป จำเป็นต้องจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบ เช่นเดียวกับกระทรวงคมนาคม ที่จำเป็นต้องจัดหารถขุด รถตัก ในการทำถนน เป็นต้น

@ผ่อนจ่าย 7 ปี 17 งวด เฉลี่ยงวดละ 2.1 พันล้านบาท

พล.ร.ต.กฤษฎากรณ์ ระบุว่า งบประมาณที่ใช้ในการจัดหาเรือดำน้ำ 3.6 หมื่นล้านบาท ไม่ได้ใช้ในคราวเดียว แต่ผ่อนชำระ 7 ปี รวม 17 งวด โดยจ่ายไปตามความก้าวหน้าของงาน เฉลี่ยปีละประมาณ 2.1 พันล้านบาท ยืนยันว่าการจ่ายเงินแต่ละปีไม่เป็นภาระต่องบประมาณ และงบประมาณด้านอื่นของกองทัพเรือ

“บางท่านอาจถามว่า ทำไมกองทัพเรือไม่จัดหาพร้อมกันทีเดียว 3 ลำ จริง ๆ อยากได้ทั้ง 3 ลำ แต่ว่าเรือดำน้ำ 1 ลำ ค่อนข้างมีราคาสูง ขณะเดียวกันงบประมาณที่กองทัพเรือได้รับแต่ละปีค่อนข้างมีจำนวนไม่มากนัก และกองทัพเรือจำเป็นต้องใช้จ่ายแต่ละปีในเรื่องซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ที่มีใช้ได้อย่างต่อเนื่อง การฝึกกำลังพล ค่าใช้จ่ายปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่ ตลอดจนแผนการลงทุนพัฒนากองทัพ ดังนั้นคงต้องทยอยจัดหาทีละลำ ตามสภาพความเป็นไปได้ในปีนั้น ๆ”

@มี กก.พิจารณาเกือบร้อยคน โปร่งใสแน่นอน

พล.ร.ต.กฤษฎากรณ์ ยืนยันว่า การจัดซื้อครั้งนี้มีความโปร่งใสอย่างแน่นอน เนื่องมีคณะกรรมการที่กองทัพเรือแต่งตั้งขึ้นหลายคณะ เกือบร้อยคน ทั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ฯ ที่มี เสนาธิการทหารเรือ เป็นประธาน รวมถึงกรรมการชุดอื่น ๆ ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ มาประกอบด้วย ต้องเรียนว่าเป็นการยากที่จะชักนำคนเกือบร้อยคนให้เป็นไปในทิศทางอย่างใดอย่างหนึ่งตามใจชอบ เรียนว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส

@ชี้เรือดำน้ำจีนมีประสิทธิภาพสูง ยิงจรวดจากชลบุรีได้ไกลถึงชุมพร !

พล.ร.ต.วิสาร ปัณฑวังกูร ผบ.กองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ มีความยินดีอย่างยิ่งที่กองทัพเรือได้จัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ หลังจากศึกษามานานกว่า 30 ปี โดยเปรียบเทียบว่า การจัดซื้อครั้งนี้เหมือนครอบครัวที่ซื้อรถยนต์ ต้องดูว่าจะสนองประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด อาจมีบางคนในครอบครัวไม่ชอบใจบ้าง เป็นเรื่องปกติ

สำหรับข้อดีของเรือดำน้ำ S26T คือ มีการเพิ่มอุปกรณ์ที่ช่วยยืดอายุของแบตเตอรี่เรือได้นานกว่าปกติ 5 เท่า ทำให้ไม่ต้องขึ้นมาผิวน้ำเพื่อเติมแบตเตอรี่บ่อย ๆ ซึ่งทางทหารถือว่าเป็นการได้เปรียบอย่างมากที่ทำอะไรโดยที่ฝ่ายตรงข้ามไม่รู้ไม่เห็นได้มากขึ้น มีโอกาสใช้อาวุธ หรือปฏิบัติภารกิจได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีระบบป้องกันไม่ให้น้ำเข้าห้องของกำลังพล ถือเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดีมาก ขณะเดียวกันยุทโธปกรณ์นอกเหนือจากตอร์ปิโดแล้ว ยังมีจรวดนำวิถีที่ยิงจาก จ.ชลบุรี ได้ไกลถึง จ.ชุมพร ด้วย รวมถึงมีขีดความสามารถในการวางทุ่นระเบิดพื้นทะเลเพื่อทำอันตรายเรือผิวน้ำ หรือเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามได้ เท่ากับว่าเป็นเพิ่มเขี้ยวเล็กของกองทัพเรือเป็นอย่างมาก ไม่ใช่ใช้ด้านยุทธวิธีอย่างเดียว แต่มีผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ หรือสมดุลอำนาจกำลับรบด้วย

“สาเหตุสำคัญที่กองทัพเรือต้องจัดซื้อเพื่อต้องการใช้ด้านความปลอดภัยในการเดินเรือสินค้า เพื่อเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก พวกเราคงมองออกว่า ใช้เรือดำน้ำที่ไหน ปกติคงไม่ใช้ในบ้านเราเป็นหลัก คงเหมือนใช้ในพื้นที่ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของเรา หรือหน้าบ้านเรา ฝ่ายที่เป็นคู่อริของเรา คงไปตีหัวที่หน้าบ้าน หรือเส้นทางหน้าบ้านเขามากกว่า”

ข้อมูลการอนุมัติซื้อเรือดำน้ำ “ลำแรก” จากจีน ก่อนกมธ.จะมีมติให้ซื้ออีก 2 ลำ

วันที่ 18 เมษายน 2560 ครม.อนุมัติซื้อเรือดำน้ำจีน 1 ลำ 13,500 ล้านบาทผบ.ทร.เตรียมไปเยือนจีนลงนามซื้อจีทูจี

เรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ที (Yuan Class S26T) ครม.อนุมัติซื้อเรือดำน้ำจีน 1 ลำเป็นเงิน 13,500 ล้านบาท โฆษกเผยเหตุไม่มีลับลมคมในเป็นเรื่องความมั่นคง พล.อ.ประวิตรส่งเรื่องให้ทัพเรือพิจารณารายละเอียด ผบ.ทร.เตรียมไปลงนามซื้อแบบรัฐต่อรัฐ และทยอยจ่าย

24 เมษายน 2560 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ตามที่กองทัพเรือเสนอ ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนว่า ครม.มีมติอนุมัติโครงการดังกล่าวจริง โดยจัดซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ที (Yuan Class S26T) จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท ยืนยันว่าไม่มีอะไรเป็นลับลมคมใน การจัดซื้อเป็นงบผูกพันไม่ได้จ่ายเงินครั้งเดียว แต่จะทยอยจ่าย

ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงกลาโหม ชี้แจงในที่ประชุมว่า มีความจำเป็นต้องจัดซื้อ เพราะเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ ไม่ใช่อยากได้ตามประเทศอื่น แต่กองทัพเรือประเมินจากภัยคุกคามของประเทศที่มีอาณาเขตติดกับไทย ประเมินจากความมั่นคงทางท้องทะเล จึงต้องมีการศึกษาแนวทางการป้องกันทางทะเล เพื่อการป้องกันภัยคุกคามที่มีศักยภาพเหนือกว่า

“ประเทศเราอยู่ติดทะเล วันหน้าไม่มีสิ่งที่แน่นอน เราจึงต้องมีศักยภาพเพื่อป้องกันภัย และการสั่งซื้อไม่ใช่ว่าอนุมัติไปแล้วจะได้ใน 3- 5 วัน แต่ต้องรอหลายปี ทั้งนี้ เป็นการซื้อลำเดียวก่อน ส่วนลำต่อไปอยู่ที่กองทัพเรือ อย่างไรก็ตามที่โฆษกฯไม่ได้แถลงข่าว เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเอกสารลับที่สุดหรือมุมแดง และเป็นโหมดงานด้านความมั่นคง จึงไม่จำเป็นต้องแถลง แต่ยืนยันว่าไม่มีลับลมคมใน”พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

เรื่องนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำโครงการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยตัวเอง ภายหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ หลังจาก ครม.ได้อนุมัติแล้วพล.อ.ประวิตรได้นำโครงการดังกล่าวส่งกลับไปยังกองทัพเรือ เพื่อให้พิจารณาระเบียบวาระในการเซ็นสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน โดยมี พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย จะเดินทางไปเยือนจีนเพื่อเซ็นสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

รายงานข่าวเปิดเผยว่าก่อนที่ พล.อ.ประวิตรจะนำโครงการดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม. สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ติดต่อสอบถามถึงความคืบหน้าการดำเนินการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร เนื่องจากจีนเองเตรียมจะต่อเรือดำน้ำชนิดเดียวกันที่ขายให้ไทยไว้ใช้เอง และอยู่ระหว่างการตีเส้นเรือ และจะถือโอกาสนี้ต่อเรือ ไปพร้อมๆ กัน

พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผบ.ทร. เป็นประธานในพิธีตัดแผ่นเหล็กเริ่มการสร้างเรือดำน้ำ S26T ที่อู่ต่อเรือ ในอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย

กองทัพเรือ แถลงข่าว เหตุผลความจำเป็นในการซื้อเรือดำน้ำ

24 ก.ย. 14. 05 น. กองทัพเรือแถลงข่าวปมซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ เข้าประจำการในกองทัพเรือ ณ บก.ทร.วังนันทอุทยาน มูลค่ากว่า 2.25 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

  • พลเรือโท เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ
  • พลเรือโท ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกิจการพลเรือน ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ
  • พลเรือโท ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ
  • พลเรือโท ภราดร พวงแก้ว รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานยุทธการ
  • พลเรือเอก สิทธิพร มาศเกษม เสนาธิการทหารเรือ
  • พลเรือตรี อรรถพล เพชรฉาย ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ
  • นาวาเอก ธาดาวุธ ทัตพิทักษ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ

พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ ยืนยันว่า การจัดหาเรือดำน้ำอีก 2 ลำ งบ 2.25 หมื่นล้านบาท เทียบไม่ได้กับความคุ้มค่า ในการปกป้องผลประโยชน์ในทรัพยากรทางทะเลของไทยที่มีกว่า 24 ล้านล้านบาท คิดเป็นแค่ 0.093 % เท่านั้น

ด้าน พล.ร.ท.ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ ชี้แจงว่า เป็นการตั้งงบแบบผูกพัน ไม่ใช่การตั้งงบใหม่ ซึ่งกองทัพเรือ เข้าใจถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งกองทัพเรือ ได้ขอทางการจีน ชะลอการจ่ายงวดปี 63 ไปแล้ว 3,375 ล้านบาท และนำเงินส่วนนี้ส่งคืนให้รัฐบาล ผ่าน พ.ร.บ. โอนงบ 4,130 ล้านบาท คิดเป็น 8.78 % ทำให้ต้องขยับกรอบชำระจากกรอบ 63-69 เป็นถึงปี 70 ซึ่งที่ผ่านมา ทร. ก็ตั้งงบโดยคำนึงถึงความประหยัดเป็นหลัก

พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการกองทัพเรือ ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ แถลงตอบโต้ กรณี ที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. เพื่อไทย ที่ออกมาโจมตีกองทัพเรือ เปิดเผยเอกสารลับการจัด ซื้อเรือดำน้ำ ว่า เป็นการพูดที่บิดเบือนข้อเท็จจริงนำไปซึ่งความแตกแยก นำมาสู่ความเกลียดชังต่อกองทัพและเป็นสิ่งที่ไม่สมควร และนำมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวทางการเมือง

“ที่กล่าวหาว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เป็นสัญญาเก๊ ก็ไม่เป็นความจริง โครงการรับจำนำข้าว ที่พรรคเพื่อไทย ทำต่างหากที่เป็นจีทูจีเก๊ และไม่ถูกต้อง แต่กองทัพเรือทำการซื้อแบบจีทูจีอย่างถูกต้องโปร่งใส ขอสังคมอย่าตกเป็นเหยื่อเรื่องการเมือง การให้ข่าวของพรรคเพื่อไทย หวังผลการเมือง และเป็นการเห็นแก่ตัว”

พล.ร.ต.อรรถพล เพชรฉาย ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ชี้แจงถึงกรณี ที่ถูกพาดพิง เป็นสัญญาเก๊ เป็นการลงนามที่ไม่รองรับด้วยทางกฎหมาย ส่อโมฆะ ว่า  พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสธ.ทร. ในสมัยนั้น เป็นผู้ลงนาม ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย

น.อ.ธาดาวุธ ทัตพิทักษ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ยืนยัน ว่า สัญญาจีทูจี เป็นไปอย่างถูกต้อง พร้อมฉายเส้นทาง การลงนามข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 โดย รัฐบาลจีน สั่งการให้ SASTIND มอบอำนาจให้ บริษัท CSOC ก่อนมอบอำนาจให้  Chirman of CsOC มาเซ็นสัญญา ขณะที่ ฝั่งไทย ครม. ได้อนุมัติ ให้ใช้วิธีจัดซื้อแบบ จีทูจี มอบอำนาจให้ ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้แทน โดย ผบ.ทร. ในสมัยนั้น ได้มอบอำนาจให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสธ.ทร. ในฐานะ ประธาน กจค. ไปเซ็นสัญญา

ทั้งนี้การจัดซื้อครั้งนี้ ไม่ได้จ่ายทั้งก้อน 2.25 หมื่นล้านบาท ในคราวเดียว ปี 64 ทั้งหมด ปี 64 ใช้งบเพียง 3,925 ล้านบาท

มาติตตามประเด็นการแถลง ประเด็นการตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องของแถม , ปลาปิรันย่าในสระว่ายน้ำ

พรรคประชาธิปัตย์ มีมติ ให้ชะลอซื้อเรือดำน้ำ เตรียมลงมติไม่เห็นด้วย หากไม่ชะลอ

25 ส.ค. ที่ประชุมสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้รัฐบาล กระทรวงกลาโหมได้ชะลอเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ ออกไปก่อน

หากกระทรวงกลาโหมคือกองทัพเรือยังไม่ชะลอเรื่องดังกล่าวกรรมาธิการวิสามัญในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 7 คน ก็มีความจำเป็นต้อง ลงมติไม่สนับสนุนงบประมาณในส่วนของเรือดำน้ำในชั้นพิจารณาวาระที่จะถึงต่อไป

การประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 สภาผู้แทนราษฎร เลื่อนวาระ รายงานเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ ออกไปเป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เพื่อให้กองทัพเรือเข้ามาชี้แจงว่า จะเลื่อนการจัดซื้อเรือดำน้ำได้หรือไม่ เพราะการยกเลิกการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น ไม่สามารถทำได้

เพราะ กมธ.คณะใหญ่ต้องให้กองทัพเรือชี้แจงว่าขั้นตอนต่างๆ ว่าขั้นตอนการจัดซื้อเรือดำน้ำได้ไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว เนื่องจากกรณีดังกล่าวทางกองทัพเรือได้การอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2563 จากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตราเป็นกฎหมายไปแล้ว

มารู้จักเรือดำน้ำ Yuan Class S26T ที่ไทยสั่งซื้อจากจีน แบบคร่าวๆสำคัญๆ

  • Yuan Class S26T เป็นเทคโนโลยีต่อเรือมาจากเรือดำน้ำชั้นกิโลของ “รัสเซีย”  พลังดีเซลไฟฟ้า มีระบบ AIP ไม่ต้องขึ้นมาผิวน้ำเพื่อชาร์จไฟฟ้า
  •  เป็นเรือดำน้ำลาดตระเวนเดินสมุทรขนาดใหญ่ ราคา 13,000 ล้านบาท/ลำ 
  •  เป็นรุ่นพิเศษสำหรับไทยโดยเฉพาะ พัฒนาจากเรือดำน้ำคลาส Yuan Class S26 ขนาดยาว 77.7  เมตร กว้าง 8.6 เมตร ระวางขับน้ำ 2,600 ตัน 
  •  ดำปฏิบัติการได้นาน 21 วัน “ใต้ผิวน้ำ” โดยไม่ต้องโผล่มาชาร์จไฟเหมือนเรือดำน้ำรุ่นเก่า
  • เครื่องยนต์สเตอร์ลิง จีนซื้อต้นแบบจากสวีเดนมาพัฒนาต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพในการดำทน 
  • ตอร์ปิโด 6 ท่อยิง พร้อมระบบยิงขีปนาวุธ ยิงไกลกว่า 250 กม.
  • ติดตั้งเทคโนโลยีเสียงและอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ล่าสุด
  • สามารถบรรทุกตอร์ปิโดและขีปนาวุธสูงสุด 16 ลูก และทุ่นระเบิดสูงสุด 30 ลูก
  • กำลังพล 65 นาย 
  • ทันสมัยรองจากเรือดำน้ำนิวเคลียร์ระบบติดจรวดเรือผิวน้ำที่มีความทันสมัยที่สุด
  • ความเร็วสูงสุด 18 นอต ระยะทำการ 8,000 ไมล์ทะเล ดำลึกสูงสุด 300 เมตร 
  • ระยะปฏิบัติการต่อการออกทะเล 1 ครั้ง นาน 2 เดือน  
  • เครื่องยนต์และประสิทธิภาพปฏิบัติการรบใต้น้ำและผิวน้ำ ความลึกปฏิบัติการน้อยสุด 50 เมตร  ระดับความลึกปลอดภัย 60 เมตร  

พิธีตัดเหล็กแผ่นแรกของ S-26T เรือดำน้ำลำแรกของกองทัพเรือไทย เมื่อ 4 ก.ย.61 เป็น “วันเรือดำน้ำไทย” ที่อู่เรือ Wuchang เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

เรือดำน้ำ ลำแรกจะต่อเสร็จและส่งมอบเข้าประจำการในกองทัพเรือไทย ปี พ.ศ. 2566

ทำไมต้องซื้อ 3 ลำ

 ประจำการเฝ้าอ่าวไทย 1 ลำ
 ประจำการด้านอันดามัน 1 ลำ
และ เพื่อการฝึกและสำรอง 1 ลำ
รวม 3 ลำ

จำนวนเรือดำน้ำของประเทศอาเซียน

สิงคโปร์

ปัจจุบันมี 6 ลำ มีเรือดำน้ำที่สั่งซื้อจากสวีเดนด้วยกัน 2 รุ่น  รวม 4 ลำ  ได้แก่ รุ่น Archer 2 ลำ , และรุ่น Challenger  2 ลำ สั่งซื้อเรือดำน้ำจากเยอรมนีอีก 2 ลำ ส่งมอบเรือทั้งหมดภายในปี 2563

อินโดนีเซีย

ปัจจุบันเป็นเรือดำน้ำที่สั่งจากเยอรมนี 2 ลำ คือ รุ่น KRI Cakra (401) และ KRI Nenggala (402) กำลังจัดซื้อจากเกาหลีใต้ 3 ลำ

มาเลเซีย

ปัจจุบันมี 2 ลำ เรือดำน้ำชั้นสกอร์แปน (Scorpène-class) สั่งซื้อจากฝรั่งเศสทั้งหมด

เวียดนาม

มีเรือดำน้ำชั้นกิโล (Kilo Class) จากประเทศรัสเซีย มากถึง 6 ลำ มากที่สุดในอาเซียน

พม่า

ปัจจุบันมี 1 ลำ ซื้อต่อเรือดำน้ำจากรัสเซีย มาจากอินเดีย เป็นเรือดำน้ำ INS Sindhuvir ชั้น KILO (Project 877) อนาคตเมียนมาเตรียมจัดหาเรือดำน้ำชั้น Kilo เพิ่ม

ไทย

สั่งซื้อจากจีนมาแล้ว 1 ลำ ยังไม่ส่งมอบปี 2566

ส่วนประเทศในอาเซียนที่ยังไม่มีเรือดำน้ำ

ประกอบด้วย ลาว (ติดทะเล) กัมพูชา บรูไน และฟิลิปปินส์