สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2562

วันอังคาร ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2562 สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

15 ตุลาคม 2562 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ในการออกระเบียบของ ก.บ.ศป. กำหนดเบี้ยประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้

                   1. มติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่ศาลปกครองเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

                   2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองซึ่งต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว 

                   3. ให้ศาลปกครองรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป

                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

                   เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 โดยเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารศาลปกครอง (ก.บ.ศป.) ในการออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมสำหรับข้าราชการตุลาการศาลปกครองซึ่งเข้าร่วมการประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด

2. เรื่อง ร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมสรรพสามิต พ.ศ. ….

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมสรรพสามิต พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

                   สาระสำคัญของร่างกฎสำนักนายกรัฐมนตรี

                   เป็นการปรับปรุงเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมสรรพสามิต โดยรวบรวมเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการกรมสรรพสามิตกับการแต่งเครื่องแบบไว้เป็นกฎสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับเดียวกัน และกำหนดให้มีเครื่องแบบพิเศษเพิ่มขึ้นเป็นเครื่องแบบภาคสนาม เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานและมีเครื่องแบบที่เหมาะสมกับภารกิจของกรมสรรพสามิต

3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่เป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. ….

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่เป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

                   กำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เลขที่ มกษ. 6909 – 2562 ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นมาตรฐานบังคับ โดยฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ ตั้งแต่จำนวน 100,000 ตัวขึ้นไป ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สำหรับฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่จำนวน 1,000 ตัว ถึง 99,999 ตัว ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 5 ปีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 จำนวน 3 ฉบับ 

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 จำนวน 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

                   1. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นการยกเลิกบัญชีประเภทหรือชนิดของโรงงานท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวม 6 ฉบับ เพื่อจัดทำบัญชีประเภทหรือชนิดของโรงงานท้ายกฎกระทรวงใหม่ โดยปรับปรุงเงื่อนไขเรื่องขนาดกำลังแรงม้าของเครื่องจักรและจำนวนคนงานของโรงงาน

                    2. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สำหรับโรงงานจำพวกที่ 3 เช่น อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การขยายโรงงาน และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ

                   3. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมประกอบกิจการโรงงานรายปี สำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 และโรงงานจำพวกที่ 3 เช่น อัตราค่าธรรมเนียมประกอบกิจการโรงงานที่ไม่ใช้เครื่องจักร และอัตราค่าธรรมเนียมประกอบกิจการที่ใช้เครื่องจักรไม่ถึงห้าสิบแรงม้า

5. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรียกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2547 พ.ศ. ….

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรียกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2547 พ.ศ. …. ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

                   สาระสำคัญของร่างระเบียบ

                   เป็นการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2547 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548

                   เนื่องจากระเบียบดังกล่าวหมดความจำเป็นที่ส่วนราชการต่าง ๆ จะต้องปฏิบัติตามแล้ว ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว ประกอบกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เห็นชอบในหลักการ

6. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการคว่ำบาตรสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลียและรัฐเอริเทรีย (ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกและนำผ่านไปยังสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย และกำหนดให้ถ่านไม้ที่ส่งมาจากหรือมีแหล่งกำเนิดจากสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและนำผ่านมาในราชอาณาจักร พ.ศ. …. และร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกและนำเข้าจากรัฐเอริเทรีย พ.ศ. 2559 พ.ศ. …. จำนวน 2 ฉบับ)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกและนำผ่านไปยังสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย และกำหนดให้ถ่านไม้ที่ส่งมาจากหรือมีแหล่งกำเนิดจากสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและนำผ่านมาในราชอาณาจักร พ.ศ. ….

                   2. ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกและนำเข้าจากรัฐเอริเทรีย พ.ศ. 2559 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

                   พณ. เสนอว่า 

                   1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศนั้น เป็นการให้ความเห็นชอบต่ออายุมาตรการลงโทษทางอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่อสหพันธสาธารณรัฐโซมาเลีย และมาตรการห้ามนำเข้าถ่านไม้จากสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลียออกไปจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 และยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมดต่อรัฐเอริเทรีย 

                   2. โดยที่ประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตามข้อ 25 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติต่อไป ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์เพื่อต่ออายุมาตรการลงโทษทางอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่อสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย และมาตรการห้ามนำเข้าถ่านไม้จากสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย และยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมดต่อรัฐเอริเทรีย ตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 2444 (ค.ศ. 2018) ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว 

จึงได้เสนอร่างประกาศ จำนวน 2 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ 

                   สาระสำคัญของร่างประกาศ

                   1. ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกและนำผ่านไปยังสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย และกำหนดให้ถ่านไม้ที่ส่งมาจากหรือมีแหล่งกำเนิดจากสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและนำผ่านมาในราชอาณาจักร พ.ศ. …. มีสาระสำคัญดังนี้ 

                             1.1 ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกไปยังสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย และกำหนดให้ถ่านไม้เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าจากสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย พ.ศ. 2559   

                             1.2 กำหนดบทนิยามคำว่า “อาวุธและยุทโธปกรณ์” และคำว่า “ข้อมติ” เพื่อให้เกิดความชัดเจนของหน่วยงานที่ดำเนินการ 

                             1.3 กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกและนำผ่านไปยังสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย และบุคคลหรือองค์กรตามที่กำหนดไว้ในข้อมติ  

                             1.4 กำหนดให้ถ่านไม้ที่ส่งมาจากหรือมีแหล่งกำเนิดจากสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลียเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและนำผ่านมาในราชอาณาจักร 

                   2. ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกและนำเข้าจากรัฐเอริเทรีย พ.ศ. 2559 พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออกและนำเข้าจากรัฐเอริเทรีย พ.ศ. 2559

เศรษฐกิจ – สังคม

7. เรื่อง ขอผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อดำเนินงานขยายเขตระบบจำหน่ายให้กับบ้านห้วยปลาหลด หมู่ที่ 8 ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อดำเนินงานขยายเขตระบบจำหน่ายให้กับบ้านห้วยปลาหลด หมู่ที่ 8 ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ มท. (กฟภ.) รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป  และให้ มท. กำกับให้ กฟภ. ดำเนินการให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วนตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   มท. แจ้งว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนราษฎรรายใหม่ของ กฟภ. ซึ่ง กฟภ. ได้จัดงานขยายเขตระบบจำหน่ายให้กับบ้านห้วยปลาหลด หมู่ที่ 8 ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เข้าดำเนินการตามโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนราษฎรรายใหม่ด้วย (มติคณะรัฐมนตรี 19 พฤศจิกายน 2556) โดยการขยายเขตระบบจำหน่ายดังกล่าวเริ่มต้นรับกระแสไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายไฟฟ้าระดับแรงดัน 22 กิโลโวลต์ ของ กฟภ. จังหวัดตาก โดยปักเสาพาดสายไปตามแนวถนนที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเข้าไปยังบ้านห้วยปลาหลดฯ มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 7.3 กิโลเมตร ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชตลอดทั้งเส้นทาง โดยมีแนวก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ระยะทางประมาณ 0.29 กิโลเมตร (แนวก่อสร้างที่เหลือ อยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2) 

                   อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชขอให้ กฟภ. จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) ของโครงการฯ และดำเนินการให้ครบถ้วน ซึ่ง กฟภ. ได้จัดทำรายงาน EIA ของโครงการดังกล่าวแล้ว โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาแล้วเห็นชอบ ต่อรายงาน EIA ดังกล่าว [ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (8 มีนาคม 2561)] โดยมีข้อเสนอแนะให้ กฟภ. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เช่น การควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน การบำรุงรักษาป่าธรรมชาติ การปลูกป่าทดแทน และการป้องกันการบุกรุกป่าเพื่อตัดไม้และล่าสัตว์ ที่อาจจะเกิดจากการดำเนินโครงการทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการ เพื่อไม่ให้ศักยภาพการเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารในลุ่มน้ำลดลง เป็นต้น

                   โดยที่เรื่องนี้เป็นการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (28 พฤษภาคม 2528) กำหนดให้กรณีการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ไม่ให้มีการใช้พื้นที่ในทุกกรณีโดยเด็ดขาด แต่โดยที่พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บริเวณบ้านห้วยปลาหลด หมู่ที่ 8 ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ที่ กฟภ. จะเข้าดำเนินการเข้าใช้ประโยชน์ในครั้งนี้ อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชได้มีการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของอุทยานฯ โดยมีการให้เจ้าหน้าที่ ดำเนินกิจกรรมของโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริบ้านห้วยปลาหลด เช่น การศึกษาดูงานของคณะบุคคล การทัศนาจรหรือการพักอาศัยในหมู่บ้าน การจัดตั้งกลุ่มอาชีพ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเท่าที่จำเป็นบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (เช่น ซ่อมแซมถนนเข้าหมู่บ้าน โรงเรียน สาธารณสุข เป็นต้น) จึงเข้าข่ายเป็นพื้นที่ที่ทางราชการได้ใช้ประโยชน์ หรือรัฐได้อนุญาตให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์แล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (21 กุมภาพันธ์ 2538) เห็นควรให้มีมาตรการผ่อนผันยกเว้นเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงและเศรษฐกิจ ซึ่ง กฟภ. ได้ดำเนินการตามข้อกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการขอเข้าใช้ประโยชน์ในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เรียบร้อยแล้ว และการดำเนินการในขั้นตอนนี้ไม่ได้เป็นการพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช แต่เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ

8. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2562

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

                   1. อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1

                   2. อนุมัติขยายวงเงินสินเชื่อและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท

                   3. อนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท

                   4. อนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท

                   5. อนุมัติขยายระยะเวลาและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ

                   สาระสำคัญ 

                   คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2562 มีมติในเรื่องสำคัญต่างๆ ดังนี้

          1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1

                             1) เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 วงเงิน รวมทั้งสิ้น 24,278,626,534 บาท โดยกรอบวงเงิน 24,043,906,318 บาท ให้ใช้เงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายแทนรัฐบาลไปก่อน จำนวน 23,472,021,541 บาท และให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และปีถัด ๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป เพื่อชำระคืนต้นเงินและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการโอนเงิน จำนวน 8,556,260 บาท และชดเชยต้นทุนเงินในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 ปัจจุบัน เท่ากับ ร้อยละ 2.40 จำนวน 563,328,517 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี ปีละ 5,500,000,000 บาท ยกเว้นปีที่ 5 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด  และเห็นชอบค่าบริหารจัดการโครงการ ไม่เกินร้อยละ 1 ของวงเงินประกันรายได้ จำนวน 234,720,216 บาท โดยให้การยางแห่งประเทศไทยเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป

                             2) เห็นชอบในหลักการ ของหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของโครงการ ได้แก่

          2.1) ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ และคนกรีดยาง) โดยประกันรายได้จากการจำหน่ายยางพาราแต่ละชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี, น้ำยางสด และยางก้อนถ้วยให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย และเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่

                             2.2) กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ (ยางแห้ง) 240 กิโลกรัม/ไร่/ปี หรือ 20 กก./ไร่/เดือน

          2.3) กำหนดระยะเวลาประกันรายได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน (เดือนตุลาคม 2562 – เดือนมีนาคม 2563)

                              2.4) กำหนดราคายางที่ใช้ประกันรายได้ ดังนี้

                                     – ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม

                                     – น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม

                                     – ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม

                              2.5) แบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของสวนร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด

               3) เห็นชอบระยะเวลาดำเนินการ ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 (ประกันรายได้เดือนตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563)

               4) ที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ จากเดิมกำหนดให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 เปลี่ยนเป็น เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนวันที่             12 สิงหาคม 2562 และเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางแจ้งขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ การยางแห่งประเทศไทยกำหนด

              5) ที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงช่วงเวลาการจ่ายเงิน จากเดิม การจ่ายเงิน 2 เดือน 1 ครั้ง โดยให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้ดำเนินการโอนเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง โดยกำหนดจ่ายเงินเดือนธันวาคม กุมภาพันธ์ และเมษายน เปลี่ยนเป็น เริ่มจ่ายเงินงวดแรกระหว่างวันที่ 1 – 15 พฤศจิกายน 2562 งวดที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 –15 มกราคม 2563 และงวดที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 – 15 มีนาคม 2563 โดยให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง และมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย ปรับปรุงช่วงเวลาการจ่ายเงินและวิธีการคำนวณราคากลางอ้างอิงการขายในโครงการฯ ต่อไป

                                   6) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการชุดต่าง ๆ ตามที่การยางแห่งประเทศไทยเสนอ และจัดทำรายละเอียดโครงการฯ ที่ได้ปรับปรุงตามมติการประชุม รวมทั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

     2. ขออนุมัติขยายวงเงินสินเชื่อและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท

                   1) เห็นชอบขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อตามโครงการ (เพิ่มเติม) จำนวน 10,000 ล้านบาท และขออนุมัติงบประมาณ (เพิ่มเติม) ในการชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเงิน 2,100 ล้านบาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2569 จากงบประมาณรัฐบาลโดยการจัดสรรของสำนักงบประมาณ และเห็นชอบปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง 

                2) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

     3. ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท

               1) เห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2564 โดยระยะเวลาในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อที่เข้าร่วมโครงการจนสิ้นสุดระยะเวลาการชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการ 1 ปี แต่ไม่เกินเดือนธันวาคม 2563

               2) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย จัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

          4. ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท

                 1) เห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง (วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท) ออกไปอีก 4 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 มีนาคม 2567 ระยะเวลาจ่ายเงินกู้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2566 และกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้เป็นคราว ๆ คราวละไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่กู้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2567 

                                    2) เห็นชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 1,400 ล้านบาท โดยขอใช้จากงบประมาณประจำปี ทั้งนี้ ให้จ่ายไม่เกินตามที่จ่ายจริง ดังนี้  

                                      2.1) เงินอุดหนุนจ่ายขาดเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสถาบันเกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี จำนวน 300 ล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลาโครงการ ฯ 4 ปี รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,200 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามที่จ่ายจริง

                                      2.2) ค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันภัย อัตราร้อยละ 0.36 ต่อปี จำนวน 36 ล้านบาทต่อปีรวมเป็นเงิน 144 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามที่จ่ายจริง

                                      2.3) ค่าบริหารโครงการฯ ที่เกี่ยวข้อง อัตราร้อยละ 0.14 ต่อปี จำนวน 14 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงิน 56 ล้านบาท โดยการยางแห่งประเทศไทย ขอจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามที่จ่ายจริง

                  3) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย จัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

                   5. ขออนุมัติขยายระยะเวลาและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ

                 1) เห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึง เดือนกันยายน 2565 และเห็นชอบปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ

                  2) เห็นชอบงบประมาณ ค่าบริหารจัดการโครงการ จำนวน 1,500,000 บาท จากงบประมาณรัฐบาลโดยการจัดสรรของสำนักงบประมาณ

                 3) ที่ประชุมมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย จัดทำรายละเอียดการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐของแต่ละหน่วยงาน และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย จัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

9. เรื่อง ขออนุมัติโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย  ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ในกรอบวงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาดำเนินการ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้

  1. ให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำรวจและตรวจสอบพื้นที่ดำเนินการให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ประสบภัยพิบัติที่ประกาศโดยกระทรวงมหาดไทย และให้พิจารณาดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานเป็นลำดับแรก  โดยใช้จ่ายจากงบกลาง  รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกาศใช้บังคับแล้วให้กรมทรัพยากรน้ำ  และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล หักงบประมาณที่ได้รับในโครงการที่มีวัตถุประสงค์ลักษณะเดียวกัน  ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน และหรือขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามขั้นตอนต่อไป
  2. สำหรับกรณีนอกเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติที่ประกาศโดยกระทรวงมหาดไทย นั้นกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล  สำรวจพื้นที่โดยคำนึงถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายการจัดตั้งหน่วยงาน รวมถึงบูรณาการเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดตัวชี้วัดที่เกษตรกรจะได้รับ และเสนอแผนงาน/โครงการต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  เพื่อนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาก่อนและนำเสนอคณะรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ  พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ หากกรมทรัพยากรน้ำ  และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล  ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดครบถ้วนและพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าวข้างต้นมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการ ก็ให้ใช้จ่ายจากงบกลาง  รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกาศใช้บังคับแล้ว ให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลหักงบประมาณที่ได้รับในโครงการหรือรายการที่มีวัตถุประสงค์ลักษณะเดียวกัน  ยกเว้นโครงการ/รายการที่สามารถเบิกจ่ายได้ทันก่อนที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกาศใช้บังคับ  ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562  ไปพลางก่อน  และหรือขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้  หากไม่เพียงพอและมีความจำเป็นก็ให้ใช้จ่ายจากการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกาศใช้บังคับแล้วแต่กรณี 

                   สาระสำคัญ

                   กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟู  เยียวยา  เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย  ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรอบวงเงิน 2,000.00 ล้านบาท โดยระบบเกษตรแปลงใหญ่ใช้เกณฑ์การยึดพื้นที่เป็นหลัก (area-based approach)  มีการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้จัดการแปลงเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ในทุกกิจกรรมตลอด  ห่วงโซ่อุปทาน  กลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกัน  และผลิตสินค้าเกษตรประเภทเดียวกัน  ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มกันเป็น 11 กลุ่มหลัก ได้แก่ ข้าว พืชไร่  ไม้ยืนต้น  ผัก/สมุนไพร  ไม้ผล หม่อนไหม ไม้ดอกไม้ประดับ  ปศุสัตว์  ประมง  แมลงเศรษฐกิจ  และอื่น ๆ  ซึ่งเป็นเกษตรหลักของประเทศทั้งสิ้น  ปัจจุบันทั้งประเทศมีกลุ่มเกษตรรวมกลุ่มเป็นเกษตรกรแปลงใหญ่แล้ว  จำนวน 5,578 แปลง เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 320,453 ราย คิดเป็นพื้นที่ 5,520,422 ไร่

  1. หลักการ
  2. กรมทรัพยากรน้ำเสนอโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผน

ปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย  ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการพัฒนาแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่  โดยการสูบน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วยเครื่องสูบน้ำ  ซึ่งมีระบบเชื่อมต่อกับแผงโซล่าเซลล์เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำ  เข้าไปสำรองเก็บในถังเก็บน้ำสำเร็จรูป  ขนาดความจุ  100,000 ลิตร  โดยพิจารณาเสนอให้มีการดำเนินการในพื้นที่นำร่องของพื้นที่เกษตรกรแปลงใหญ่  จำนวน 120 แปลง  ในพื้นที่ทั่วประเทศไทย  งบประมาณ 1,000.00 ล้านบาท  เพื่อพัฒนาระบบกระจายน้ำ  และปรับปรุงแหล่งน้ำ ให้กับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ให้เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  รวมพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ที่ต้องการได้รับผลประโยชน์ จำนวน 80,000 ไร่  ครอบคลุมทั่วประเทศ จำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์  4,000 ครัวเรือน

  1. กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเสนอโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำ เพื่อสนับสนุน

แผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการเจาะบ่อบาดาลพร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลด้วยการเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว (150 มม.) ที่ความลึกเฉลี่ย 100 เมตร  เจาะบ่อน้ำบาดาล  ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว (200 มม.) ที่ความลึกเฉลี่ย 60 เมตร กิจกรรมออกแบบและก่อสร้างระบบสูบน้ำบาดาลพร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้  ติดตามประเมินผลโครงการรวมถึงการส่งมอบโครงการ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ นำร่อง จำนวน 700 แห่ง  ครอบคลุมพื้นที่นาแปลงใหญ่และปศุสัตว์แปลงใหญ่ รวมพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ที่ต้องการได้รับผลประโยชน์จำนวนไม่น้อยกว่า 86,000 ไร่ จำนวนครัวเรือนของเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 7,000 ครัวเรือน ปริมาณน้ำต้นทุนที่เกษตรกรสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30.5 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี งบประมาณ 1,000.00 ล้านบาท เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ให้เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

                   2. วัตถุประสงค์

  1. เพื่อพัฒนาระบบส่งน้ำและปรับปรุงแหล่งน้ำให้กับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่/กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่นำร่องจำนวน 120 แปลงใหญ่
  2. เพื่อเจาะบ่อน้ำบาดาลพร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  ในพื้นที่นำร่องจำนวน 700 แห่ง
  3. เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของพืชแต่ละชนิดในพื้นที่กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ให้เพิ่มสูงขึ้น
  4. เป้าหมาย

ดำเนินการในพื้นที่กลุ่มเกษตรที่รวมกลุ่มเป็นเกษตรกรแปลงใหญ่ จำนวน 5,578 แปลง ที่มีศักยภาพน้ำต้นทุนและสามารถพัฒนาระบบส่งน้ำและระบบกระจายน้ำ

  1. พื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนน้ำต้นทุนเพื่อการผลิตจำนวน 120 แปลงใหญ่ รวมพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งสิ้น จำนวน  80,000 ไร่ ครอบคลุมทั่วประเทศ  โดยเป็นโครงการนำร่องในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
  2. อัตราการส่งน้ำ 3,000 ลบ.ม/วัน วงเงิน 28 ล้านบาท/แปลง (2,000 – 3,000 ไร่) จำนวน 1 แปลง
  3. อัตราการส่งน้ำ 1,500 ลบ.ม/วัน วงเงิน 15 ล้านบาท/แปลง (1,000 – 2,000 ไร่) จำนวน 1 แปลง
  4. อัตราการส่งน้ำ 1,000 ลบ.ม/วัน วงเงิน 9.9 ล้านบาท/แปลง (500-1,000 ไร่) จำนวน 74 แปลง
  5. อัตราการส่งน้ำ 500 ลบ.ม/วัน วงเงิน 4.95 ล้านบาท/แปลง (300-500 ไร่) จำนวน 44 แปลง

                             รวมค่าก่อสร้าง 993.40 ล้านบาท ค่าควบคุมงานและค่าบริหารโครงการ 6.60 ล้านบาท  รวมงบประมาณทั้งสิ้น 1,000.00 ล้านบาท  เพื่อพัฒนาระบบส่งน้ำและกระจายน้ำในไร่นา พร้อมระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และระบบท่อส่งน้ำและกระจายน้ำให้ถึงไร่นา  สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่/วิสาหกิจชุมชน

  1. เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนโดยการเจาะบ่อน้ำบาดาลพร้อมระบบกระจายน้ำพลังงาน

แสงอาทิตย์ให้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่  โดยเจาะบ่อน้ำบาดาลพร้อมระบบกระจายน้ำ 700 แห่ง  พื้นที่เป้าหมาย 86,000 ไร่  โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1.   พลังงาน

แสงอาทิตย์ อัตราสูบประมาณ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง  ครอบคลุมขนาดพื้นที่ประมาณ 100 ไร่  จำนวน 620 แห่ง  วงเงินงบประมาณ 892.80 ล้านบาท 

2.2) เพิ่มน้ำต้นทุนเกษตรแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่)ด้วยระบบกระจายน้ำพลังงาน

แสงอาทิตย์ อัตราสูบประมาณ 20-40 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง  ครอบคลุมขนาดพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ จำนวน 80 แห่ง  วงเงินงบประมาณ 107.20 ล้านบาท

  1. ระยะเวลาดำเนินโครงการ

ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563

10. เรื่อง ขออนุมัติการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562 จำนวน 5 โครงการ ภายในกรอบวงเงิน 3,120.8618 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,967.5000 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องที่ได้รับเงินจัดสรรไว้แล้ว จำนวน 152.3118 ล้านบาท และเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 1.050 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

                   สาระสำคัญ

                   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 จำนวน 5 โครงการ รวมกรอบวงเงิน จำนวน 3,120.8618 ล้านบาท

                   หลักการ

                   1. เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตามแผนปฏิบัติการฯ ต้องเป็นเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วง/ฝนแล้งหรืออุทกภัย ปี 2562 ที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิง และได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562

                   2. การช่วยเหลือตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา ฯ เป็นการเยียวยาเพิ่มเติมจากระเบียบกระทรวงการคลังฯ เนื่องจากเหตุที่มาของปัญหาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นพิเศษ เฉพาะห้วงเวลา คือ เกษตรกรประสบปัญหาทั้งภัยฝนทิ้งช่วงและปัญหาอุทกภัยติดต่อกัน ทำให้ขาดโอกาสในการสร้างรายได้ ดังนั้น การฟื้นฟู เยียวยา ผู้ประสบภัยต่อเนื่อง ให้ผ่านพ้นและสามารถฟื้นฟูอาชีพการเกษตรได้ตามปกติโดยเร็ว

                   3. แผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา ฯ ต้องมีการเชื่อมโยงตลาดระหว่างแหล่งผลิตกับแหล่งรับซื้อผลผลิตให้มีความชัดเจน โดยพิจารณาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการผลิตที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ รวมทั้ง ให้คำแนะนำทางวิชาการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีศักยภาพในการปรับตัว รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างใหม่ที่ดีกว่าเดิม

                   วัตถุประสงค์

                   เพื่อสร้างรายได้หรือลดรายจ่ายในครัวเรือนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562 ให้สามารถทำการผลิตได้ทันทีหลังน้ำลด เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย ให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้และผลผลิตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในระยะเวลาอันสั้น

                   เป้าหมาย

                   เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วง/ฝนแล้ง และอุทกภัยเนื่องจากพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” ที่เสียหายสิ้นเชิงและได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สามารถดำรงชีวิตผ่านพ้นสถานการณ์ภัยพิบัติและมีศักยภาพที่เพียงพอต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

                   แผนปฏิบัติการฟื้นฟู 3,120.8618 ล้านบาท ดังนี้

                   1) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ถั่วเขียว) หน่วยงานรับผิดชอบ กรมส่งเสริมการเกษตร มีเป้าหมาย เกษตรกร จำนวน 150,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1.4 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ดำเนินการต้องมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยสนับสนุนเป็นเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของเกษตรกร เพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ ซึ่งให้ความช่วยเหลือ ตามพื้นที่ปลูกจริง รายละไม่เกิน 20 ไร่ จำนวน 374.5248 ล้านบาท แบ่งเป็น

                             – ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกร 100,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1.0 ล้านไร่ อัตราไร่ละ 245 บาท

                             – ถั่วเขียว เกษตรกร 50,000 ครัวเรือน พื้นที่ 0.4 ล้านไร่ อัตราไร่ละ 200 บาท

                   2) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวปี 2563/64 หน่วยงานรับผิดชอบ กรมการข้าว  มีเป้าหมาย เกษตรกร จำนวน 827,000 ครัวเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าว 63,200 ตัน พื้นที่ 6.32 ล้านไร่ โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกร ไร่ละ 10 กิโลกรัม ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ จำนวน 1,739.4290 ล้านบาท ทั้งนี้ จะจัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวกลุ่มไม่ไวแสง ช่วงเดือนกลางเดือนพ.ย. – กลางเดือน ธ.ค. 2562 สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกลุ่มไวแสง จะจัดส่ง ช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. 2563

                   3) โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง : การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน หน่วยงานรับผิดชอบ กรมประมง มีเป้าหมาย เกษตรกร จำนวน 50,000 ราย พื้นที่ 50,000 ไร่ โดยสนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหารสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกร (เกษตรกรได้รับพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ รายละ 800 ตัว พร้อมอาหารสัตว์น้ำนำร่อง จำนวน 120 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า รายละ 5,000 บาท) จำนวน 260.000 ล้านบาท ซึ่งการเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยพันธุ์ปลานิลแปลงเพศที่สนับสนุนจะมีขนาดใหญ่ ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้น

                   4) โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน หน่วยงานรับผิดชอบ กรมประมง มีเป้าหมาย แหล่งน้ำในชุมชน จำนวน 1,436 แห่ง ในพื้นที่ 129 อำเภอ โดยปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ (กุ้งก้ามกราม) ในแหล่งน้ำชุมชนขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำแบบปิด โดยสนับสนุนลูกพันธุ์กุ้งก้ามกรามขนาดตั้งแต่ 5 – 7 เซนติเมตรขึ้นไป จำนวน 200,000 ตัวต่อแหล่งน้ำ จำนวน 506.9080 ล้านบาท ทั้งนี้ การเลี้ยงกุ้มก้ามกราม ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีศักยภาพในการให้ผลตอบแทนที่รวดเร็ว เป็นอาชีพเสริมที่ดีที่ให้ผลตอบแทนสูง

                   5) โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย หน่วยงานรับผิดชอบ กรมปศุสัตว์ มีเป้าหมาย เกษตร 48,000 ครัวเรือน โดยสนับสนุนเป็นเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของเกษตรกร เพื่อซื้อพันธุ์ไก่ไข่ เป็ดไข่ ครัวเรือนละ 10 ตัว ไก่พื้นเมืองคละเพศ ครัวเรือนละ 30 ตัว พร้อมค่าอาหารและค่าวัสดุในการเลี้ยง คิดเป็นมูลค่า รายละ 4,850 บาท จำนวน 240.000 ล้านบาท

                   ระยะเวลาดำเนินโครงการ

                   ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563

11. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 9/2562 เรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (สกพอ.) เสนอ ดังนี้

                   1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 เรื่อง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

                   2. รับทราบมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 เรื่อง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และให้หน่วยงานรับไปดำเนินการตามมติดังกล่าว

                   สาระสำคัญ

                   คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในคราวประชุม ครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 มีมติเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดังนี้

                   1. รับทราบผลการเจรจาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในเรื่องการส่งมอบพื้นที่โครงการฯ และเห็นชอบให้ดำเนินการตามแนวทางดังต่อไปนี้

                             1.1 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคจัดทำร่างแผนปฏิบัติการรื้อย้ายสาธารณูปโภคพร้อมค่าใช้จ่ายให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พิจารณาและให้ความเห็นชอบก่อนเสนอ กพอ. เพื่อทราบหรือพิจารณาแผนปฏิบัติการและกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายต่อไป

                             1.2 กำหนดให้ส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ให้เร็วที่สุด ด้วยความเห็นชอบทั้งสองฝ่ายก่อนนับเวลาการดำเนินโครงการฯ

                             1.3 กำหนดให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ไม่ให้เป็นปัญหาต่อระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่โครงการฯ

                             1.4 กำหนดให้ในกรณีที่ส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ล่าช้ากว่ากำหนด ให้มีการชดเชยเอกชนคู่สัญญาโดยการขยายระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง โดยไม่มีการชดเชยเงินค่าเสียหายให้แก่เอกชนคู่สัญญา

                   2. เห็นชอบมาตรการส่งมอบพื้นที่ โดยต้องดำเนินการดังนี้

                             2.1 ให้กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง เร่งตอบหนังสือยืนยันแนวเวนคืนโครงการฯ กลับไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เร่งรัดการออกร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี โดยเร็ว

                             2.2 ให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในฐานะกำกับหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตทางรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตามที่เสนอ ให้ดำเนินการรื้อย้าย ปรับปรุง และก่อสร้างใหม่ในสาธารณูปโภคที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการฯ ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทยร้องขอ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามแผนการก่อสร้างที่คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานไว้

                             2.3 เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กำกับการส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ให้เป็นไปตามแผนงานที่เสนอ โดยให้รายงานความก้าวหน้าและปัญหาให้คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกทราบเป็นระยะ

                   3. เห็นชอบให้ สกพอ. แจ้งมติและความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อปฏิบัติตามมาตรา 49 และ 51/6 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561

                   4. รับทราบมติคณะกรรมการคัดเลือกให้แก้ไขข้อ 39.7 เรื่อง การสละความคุ้มกันการฟ้องร้องและการบังคับคดี ของร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ ฉบับที่จะมีการลงนาม ให้เป็นไปตามข้อ 39.7 เดิมของร่างสัญญาร่วมลงทุน ฉบับที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว

                   รายงานการวิเคราะห์หรือศึกษาตามกฎหมาย

                   คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ได้ให้ความเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ ครั้งที่ 21/2562 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ต่อรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ ในการประชุมครั้งที่ 21/2562 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 และให้นำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณา ตามมาตรา 49 และ 51/6 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ต่อไป

12. เรื่อง การกำหนดวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในเขตกรุงเทพมหานครและนนทบุรี เนื่องในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้วันจันทร์ที่ 4 และวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2562 เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี เพื่อบรรเทาปัญหาด้านการจราจรและเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อให้การอารักขาและการรักษาความปลอดภัยผู้นำต่างประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงแรงงาน พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดเป็นวันหยุดให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในแต่ละกรณีไป นอกจากนี้ ในกรณีหน่วยงานใดที่มีภารกิจให้บริการประชาชนหรือมีความจำเป็นหรือราชการสำคัญในวันหยุดดังกล่าวโดยได้กำหนดหรือนัดหมายไว้ก่อนแล้ว ซึ่งหากยกเลิกหรือเลื่อนไปจะเกิดความเสียหาย หรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร โดยมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและการให้บริการประชาชน

                    สาระสำคัญ

                   1. ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ซึ่งจะมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้นำของประเทศคู่เจรจาของอาเซียนที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก รวม 17 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป. ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา รวมทั้ง เลขาธิการสหประชาชาติเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 นอกจากนี้ ยังมีองค์การระหว่างประเทศที่ได้รับเชิญในฐานะแขกของประธาน 1 องค์การ คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศที่ตอบรับเข้าร่วมการประชุมด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีคณะผู้แทนจากประเทศที่เข้าร่วมและผู้สื่อข่าวจากทั่วโลกเดินทางมาเข้าร่วมกว่า 3,000 คน

                   2. ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมระหว่างประเทศที่ผ่านมา อาทิ การประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี เมื่อวันที่ 14 – 15 ตุลาคม 2534 การประชุมเอเชีย – ยุโรป เมื่อวันที่ 1 – 2 มีนาคม 2539 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 20 – 22 ตุลาคม 2546 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี เพื่อบรรเทาปัญหาด้านการจราจร และลดผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชน

13. การใช้เงินของกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อการเพิ่มทุนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

                   1. กำหนดให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น แต่มิได้เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจตาม พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. 2558 สามารถใช้เงินจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อการเพิ่มทุนได้

                   2. อนุมัติกรอบวงเงินที่จะจัดสรรจากกองทุนฯ เพื่อการเพิ่มทุนเพื่อขยายการดำเนินงานให้แก่ ธพว. ไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว และหากในอนาคต ธพว. ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเพิ่มทุน สามารถนำเสนอกระทรวงการคลังและคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ กองทุนฯ เห็นควรให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการขยายการดำเนินงาน โดยวัดผลจากความสามารถในการขยายสินเชื่อและความสามารถในการบริหารจัดการสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามแผนงานของ ธพว. ด้วย

                   สาระสำคัญ

                   1. ธพว. ได้เสนอแผนในการขอรับเงินเพิ่มทุนเพื่อรองรับการขยายการดำเนินงานและขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

                             1.1 เหตุผลความจำเป็นและวัตถุประสงค์

                                  เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจอันเป็นการพัฒนา ส่งเสริม ช่วยเหลือ และสนับสนุนการจัดตั้ง การดำเนินงาน การขยาย หรือการปรับปรุง SMEs ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ ธพว. และตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และในด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม อีกทั้ง ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินเชิงพาณิชย์มีมากกว่า 2.7 ล้านราย จึงเป็นภารกิจหลักของ ธพว. ในการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เหล่านี้

                             1.2 แผนการดำเนินงาน

                                  ธพว. มีแผนงานจะปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่าปีละ 57,000 ล้านบาท โดยมีช่องทางการขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยทีม Mobile Unit ตามโครงการหน่วยรถม้าเติมทุน ดำเนินการผ่านเครือข่ายพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อให้เป็น Loan Agent รวมทั้งการพัฒนา SME D Bank Platform เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าถึงบริการของ ธพว. ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ธพว. ยังได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานด้านสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                             1.3 ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคมที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

                                  จากแนวทางการดำเนินการของ ธพว. ข้างต้น ในช่วงปี 2563 – 2566 จะทำให้มีสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่าปีละ 57,000 ล้านบาท สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่แหล่งทุนได้ไม่น้อยกว่า 142,000 ราย คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 462,000 คนต่อปี และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่าปีละ 213,000 ล้านบาท 

                             1.4 ผลกระทบต่อเงินกองทุนและความต้องการเงินเพิ่มทุน

                                  จากการดำเนินการตามแผนการขยายการดำเนินงาน ธพว. มีความจำเป็นต้องขอรับเงินเพิ่มทุนเพื่อรองรับการขยายการดำเนินงานจำนวน 6,000 ล้านบาท

                   2. คณะกรรมการกองทุนฯ ในคราวการประชุม ครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 เห็นชอบในหลักการของการใช้เงินกองทุนฯ เพื่อเพิ่มทุนให้แก่ ธพว.

ต่างประเทศ

14. เรื่อง การให้การรับรองบัญชีรายการสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA) ของอาเซียน ในระบบฮาไมไนซ์อาเซียน (AHTN) 2017 (ภาคผนวก 4 ของความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการให้การรับรองบัญชีรายการสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA) ของอาเซียน ในระบบฮาร์โมไนซ์อาเซียน (AHTN) 2017 (ภาคผนวก 4 ของความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน) และมอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ลงนามหนังสือแจ้งการให้การรับรองดังกล่าวของไทยไปยังเลขาธิการอาเซียนตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการปรับโอนพิกัดศุลกากรของบัญชีรายการสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA) ของอาเซียน ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้กรอบอาเซียนภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) จากระบบ AHTN 2012 เป็นระบบ AHTN 2017 เพื่อให้สอดคล้องกับการนำระบบฮาร์โมไนซ์ (HS) 2017 มาใช้แทนระบบ HS 2012 ขององค์การศุลกากรโลก ซึ่งเป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับการปรับโอนพิกัดศุลกากรของบัญชีรายการสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA) ของอาเซียน ภายใต้ความตกลงการสินค้าของอาเซียน (ATIGA) จากระบบ AHTN 2007 เป็นระบบ AHTN 2012 ที่กระทรวงพาณิชย์ได้เคยนำเสนอคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบไปแล้ว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559

                   การปรับโอนพิกัดศุลกากรของบัญชีรายการสินค้า ITA ของอาเซียนในระบบ AHTN 2012 เป็น AHTN 2017 ครอบคลุมรายการสินค้า ITA จำนวน 445 รายการ ดังนี้

                             1. รายการสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนพิกัดศุลกากร จำนวน 329 รายการ

                             2. รายการสินค้าที่มีการเปลี่ยนพิกัดฯ ศุลกากร ทั้งในรูปแบบหนึ่งพิกัดฯ สู่หนึ่งพิกัด หนึ่งพิกัดฯ สู่หลายพิกัดฯ และหลายพิกัดฯ สู่พิกัดฯ เดียว จำนวน 102 รายการ ซึ่งทุกพิกัดศุลกากรที่มีการเปลี่ยนแปลงยังคงเป็น ITA

                             3. รายการสินค้าที่มีการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรในรูปแบบหลายพิกัดฯ สู่พิกัด เดียว จำนวน 14 รายการ ซึ่งครอบคลุมทั้งสินค้า ITA และที่ไม่ใช่สินค้า ITA

15. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาโอกายามะของรัฐมนตรีสาธารณสุข G20

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาโอกายามะของรัฐมนตรีสาธารณสุข G20 และอนุมัติให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุข G20 หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างปฏิญญา

โอกายามะของรัฐมนตรีสาธารณสุข G20 ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำหรือประเด็นที่มิใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

                   สาระสำคัญของร่างปฏิญญาโอกายามะของรัฐมนตรีสาธารณสุข G20 เพื่อส่งเสริมให้แต่ละประเทศเพิ่มความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ เพื่อบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถของแต่ละประเทศในการวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับสังคมผู้สงอายุ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและตอบสนองต่อภัยคุกคามของโรคระบาดและภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพอื่น ๆ รวมทั้งแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค

                   ทั้งนี้  ที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุข G20 กำหนดจะรับรองร่างปฏิญญาโอกายามะของรัฐมนตรีสาธารณสุข G20 โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิก G20 และประเทศที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม รวมถึงประเทศไทย ในวันที่ 20 ตุลาคม 2562

16. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวที่มิใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สามารถดำเนินการภายใต้หลักการดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวของฝ่ายไทย ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ

                   ร่างบันทึกความเข้าในระหว่าง สกพอ. กับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง มีสาระสำคัญเพื่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกันประกอบด้วย การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับมณฑลกวางตุ้งและเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hongkong-Macao Greater Bay Area) ความร่วมมือในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านการวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม รวมทั้งด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

                   ทั้งนี้ รองนายรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) มีกำหนดเดินทางเยือนมณฑลกวางตุ้งและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 20 – 25 ตุลาคม 2562 และกำหนดให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง สกพอ. กับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งในระหว่างการเยือนดังกล่าว

17. เรื่อง เอกสารผลลัพธ์ของกระทรวงศึกษาธิการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้

                    1. เห็นชอบต่อถ้อยคำและสารัตถะในเอกสารผลลัพธ์ฯ ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Bangkok Declaration on Advancing Partnership in Education for 2030 Agenda for Sustainable Development in ASEAN) และแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น (Regional Action Plan for the Implementation of the ASEAN Declaration on Strengthening Education for Out-of-School Children and Youth)

                   2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้ความเห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ฯ ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Bangkok Declaration on Advancing Partnership in Education for 2030 Agenda for Sustainable Development in ASEAN) และรับรองเอกสารผลลัพธ์ฯ แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น (Regional Action Plan for the Implementation of the ASEAN Declaration on Strengthening Education for Out-of-School Children and Youth) ร่วมกับรัฐมนตรีศึกษาธิการอาเซียนหรือผู้แทน

                   3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะประธานคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ร่วมเห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ฯ ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Bangkok Declaration on Advancing Partnership in Education for 2030 Agenda for Sustainable Development in ASEAN) และแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น (Regional Action Plan for the Implementation of the ASEAN Declaration on Strengthening Education for Out-of-School Children and Youth) ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 22 ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562

                   4. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์ฯ ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Bangkok Declaration on Advancing Partnership in Education for 2030 Agenda for Sustainable Development in ASEAN) ร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 (ทั้งนี้ เอกสารผลลัพธ์ฯ แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น (Regional Action Plan for the Implementation of the ASEAN Declaration on Strengthening Education for Out-of-School Children and Youth)  เป็นเอกสารที่เสนอเพื่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 รับทราบ)

                   ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำในเอกสารผลลัพธ์ฯ ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Bangkok Declaration on Advancing Partnership in Education for 2030 Agenda for Sustainable Development in ASEAN) และแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น (Regional Action Plan for the Implementation of the ASEAN Declaration on Strengthening Education for Out-of-School Children and Youth)  ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยและหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

                   สาระสำคัญของเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 2 ฉบับ

                             1. ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Bangkok Declaration on Advancing Partnership in Education for 2030 Agenda for Sustainable Development in ASEAN) จัดทำขึ้นเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียนในการยกระดับความร่วมมือด้านการศึกษา และใช้โอกาสในการเป็นประธานอาเซียนของไทยในการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมให้บรรลุตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ให้สัมฤทธิ์ผลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสาระสำคัญของปฏิญญาฯ ฉบับดังกล่าวมุ่งเน้นการดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Awareness Raising on the 2030 Agenda for Sustainable Development) (2) การส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Promotion of Education for the 2030 Agenda for Sustainable Development) และ (3) การเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Advancing Partnership to Achieve the 2030 Agenda for Sustainable Development) ทั้งนี้ ปฏิญญาฉบับนี้ ได้ผ่านการให้ความเห็นชอบ (Ad-Referendum) จากเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน (ASEAN Senior Officials Meeting on Education) แล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562

                    2. แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น (Regional Action Plan for the Implementation of the ASEAN Declaration on Strengthening Education for Out-of-School Children and Youth) เป็นเอกสารระบุประเด็นสำคัญที่เห็นควรเร่งดำเนินการและแนวทางการจัดกิจกรรมตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น (ASEAN Action Plan for the Implementation of the ASEAN Declaration on Strengthening Education for Out-of-School Children and Youth) ที่มุ่งเน้นการขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนในภูมิภาคผ่านการจัดการศึกษาแบบยืดหยุ่น (Flexible Education) ตลอดจนเสริมสร้างโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามศักยภาพและความจำเป็นของแต่ละบุคคล โดยแผนปฏิบัติการได้กำหนดประเด็นสำคัญที่เห็นควรเร่งดำเนินการพร้อมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) การจัดการองค์ความรู้และนโยบาย (Knowledge Management and Policy) (2) การจัดกิจกรรมและโครงการเพื่อเสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม (Programme and Initiatives) และ (3) การประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ (Advocacy and Stakeholder Engagement) โดยแผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ได้ผ่านการให้ความเห็นชอบ (Ad-Referendum) จากเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน (ASEAN Senior Officials Meeting on Education) แล้วเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562

18. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15 เป็นกลไกให้รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียนได้หารือเพื่อร่วมกำหนดนโยบายและแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของภูมิภาค รวมถึงร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีกำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี

                   ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย (1) การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15 (15th ASEAN Ministerial Meeting on the Environment: 15th AMME) ในวันที่ 8 ตุลาคม 2562 (2) การประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียน เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 15 (15th Meeting of the Conference of the Parties to the ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution: COP – 15 AATHP) ในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 (3) การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน – ญี่ปุ่น (ASEAN – Japan Ministerial Dialogue on Environment: AJDE) ในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 และ (4) การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 16 (16th ASEAN Plus Three Environment Ministers Meeting: 16th EMM+3) ในวันที่ 9 ตุลาคม 2562

                   โดยการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15 ได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนสำหรับการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (UNFCCC COP 25) ซึ่งเป็นเอกสารที่จะเสนอต่อการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่35 ในระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาให้การรับรองก่อนที่ราชอาณาจักรไทยในฐานะประธานอาเซียนจะได้นำไปกล่าวต่อการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภาค สมัยที่ 25 ต่อไป

แต่งตั้ง

19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ กระทรวงมหาดไทย

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม รองอธิบดีกรมที่ดิน กรมที่ดิน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย ดังนี้ 

                   1. นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง  

                   2. พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง  

                   3. นายพยนต์ สินธุนาวา รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง  

                   4. นายมณฑล แก้วเก่า รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง  

                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

22. เรื่อง การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักนายกรัฐมนตรี)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอรับโอน นายสมเกียรติ ธงศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (นักบริหารระดับต้น) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมการโอนแล้ว

23. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จำนวน 20 คน แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี ดังนี้

                   1. ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง 

                             1.1 นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส  

                             1.2 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ 

                             1.3 นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล

                             1.4 นายประสงค์ พูนธเนศ 

                             1.5 นางบุษยา มาทแล็ง 

                             1.6 นายสุวิทย์ แซ่เตีย 

                             1.7 นายปิยะมิตร ศรีธรา 

                             1.8 นายประเสริฐ เอื้อวรากุล 

                             1.9 นายศุภชัย ปทุมนากุล  

                             1.10 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ 

                   2. ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการ   

                             2.1 นายเข็มชัย ชุติวงศ์  

                             2.2 นายสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ 

                             2.3 นายชาติศิริ โสภณพนิช  

                             2.4 นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์  

                             2.5 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร 

                             2.6 นายวีระชัย เชาว์ชาญกิจ   

                             2.7 นายกลินท์ สารสิน  

                             2.8 นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

                             2.9 นายประวิทย์ ประกฤตศรี 

                             2.10 นายประพันธ์ เจริญประวัติ 

                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

24. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย แทนตำแหน่งที่ว่างลง ดังนี้ 

                   1. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร                      เป็นประธานกรรมการ 

                   2. นายชยธรรม์ พรหมศร                     เป็นกรรมการ 

                   3. นายอำนวย ปรีมนวงศ์                               เป็นกรรมการ

                   4. นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล           เป็นกรรมการ

                   5. นายธันวา เลาหศิริวงศ์                    เป็นกรรมการ

                   6. นายพินิจ พัวพันธ์                          เป็นกรรมการ

                   7. นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์                   เป็นกรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)

                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

25. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นายกุลิศ สมบัติศิริ เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

26. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ด้านรัฐศาสตร์)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแต่งตั้ง นายไมตรี อินทุสุต เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ด้านรัฐศาสตร์) แทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพลังงาน)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการและสับเปลี่ยนหมุนเวียน จำนวน 2 ตำแหน่ง ดังนี้

                   1. นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน  

                   2. นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน 

                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

28. เรื่อง การแต่งตั้งโฆษกและรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการแต่งตั้งนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เป็นโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม และแต่งตั้ง นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา เป็นรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง