การจัดพื้นที่ “หาบเร่แผงลอย” ในกทม.

สรุปมติครม. มีมติเห็นชอบ 3 มาตรการ

เพื่อบริหารจัดการกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยใน กทม. แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
1.ระยะเร่งด่วน (1 – 6 เดือน) จะจัดหาสถานที่ขายทั้งที่เป็นส่วนของราชการ และเอกชน พร้อมยกเว้นค่าเช่าในช่วงแรก คิดค่าน้ำค่าไฟในอัตราที่ต่ำสุด
2. ระยะกลาง (6 – 12 เดือน) จะพิจารณาจุดผ่อนผันในพื้นที่ว่างของหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ
3.ระยะยาว (1 – 3 ปี) จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปรับภูมิทัศน์ให้มีเอกลักษณ์เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว และจัดทำประชาพิจารณ์ สำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการค้าหาบเร่แผงลอย

มติครม. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างเสริมเศรษฐกิจฐานราก ชีวิต และชุมชน
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างเสริมเศรษฐกิจฐานราก ชีวิต และชุมชนของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
                   เรื่องเดิม
                   1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างเสริมเศรษฐกิจฐานราก ชีวิต และชุมชน มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะเชิงบริหารจัดการโดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ข้อเสนอระยะเร่งด่วน (1 – 6 เดือน) ข้อเสนอระยะกลาง (6 – 12 เดือน) และข้อเสนอระยะยาว (1 – 3 ปี) เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา การให้ความสำคัญต่อบริบทของปัญหา การให้ความสำคัญต่อการจัดหาพื้นที่ขายนอกเหนือจากการจัดทำการค้าในจุดผ่อนผันเท่านั้น ผู้ค้าที่มีรายได้น้อยควรได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากภาครัฐ การคำนึงถึงความปลอดภัยและลดผลกระทบต่อชุมชนที่มีการทำการค้าบนทางเท้า มีการจัดระเบียบในพื้นที่และการจัดระเบียบการทำการค้าบนทางเท้านั้น ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของผู้ค้า ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการรองรับทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ผู้ค้ามีอาชีพ ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งสินค้า ประชาชนสามารถใช้พื้นที่สาธารณะได้อย่างสะดวกปลอดภัย และที่สำคัญสามารถรักษา “เสน่ห์” ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เป็นอย่างดี
                   2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ มท. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงคมนาคม (คค.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                   ข้อเท็จจริง
                   มท. โดย กทม. รายงานว่า ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยพิจารณาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะเชิงบริหารจัดการของคณะกรรมาธิการฯ แล้วสรุปผล ดังนี้
                   1. มาตรการระยะเร่งด่วน (1 – 6 เดือน)
                       1.1 กทม. ให้ทุกสำนักงานเขตที่จะยกเลิกจุดผ่อนผันนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณายกเลิกของคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขต โดยได้จัดหาสถานที่รองรับผู้ค้า เพื่อให้สามารถประกอบการค้าได้ต่อไปในพื้นที่หรือตลาดของราชการและเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ขายเดิม และได้ช่วยเจรจากับเจ้าของตลาดให้ยกเว้นเงินกินเปล่า และยกเว้นค่าเช่าใน 3 – 6 เดือนแรก โดยให้คิดค่าเช่าและค่าสาธารณูปโภคในอัตราต่ำสุด รวมทั้งให้มีระยะเวลาการเช่ายาวพอควรสามารถรองรับผู้ค้าได้ถึง 12,809 ราย ซึ่งการจัดระเบียบผู้ค่าในทางเท้า ประชาชนผู้ใช้ทางเท้า สังคมส่วนใหญ่และสื่อมวลชนเห็นด้วยกับการจัดระเบียบผู้ค้าที่เข้าไปทำการค้าในสถานที่ที่ กทม. จัดให้ สามารถทำการค้าได้ทุกวันตลอดเวลาไม่เสียค่าคุ้มครองและได้รับสิทธิพิเศษ รวมทั้งทำให้ผู้ประกอบการตลาดเอกชนประสบความสำเร็จ
                       1.2 กทม. โดยสำนักพัฒนาชุมชนได้จัดทำโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand สู่ Online โดยประสานความร่วมมือเว็บไซต์ liwshop.com และ shopee.co.th เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าแก่ผู้ค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และจัดให้มีคณะกรรมการที่มีโครงสร้างแบบประชารัฐ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
1. คณะกรรมการระดับนโยบาย
2. คณะกรรมการระดับพื้นที่มีหน้าที่พิจารณากำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า กทม. ได้ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนจัดโครงการถนนคนเดิน (Walking Street) ขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปรากฏว่ามีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จึงได้เลื่อนการจัดงานถนนคนเดินออกไป ทั้งนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) กลับเข้าสู่สภาวะปกติจะพิจารณาดำเนินการจัดให้มีกิจกรรมดังกล่าวต่อไป
                       1.3 ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ผ่อนผันจะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตทำการค้าตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ค่าธรรมเนียมปีละ 500 บาท กรณีข้อเสนอแนะให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยจ่ายค่าตอบแทนการใช้พื้นที่สาธารณะให้แก่รัฐ กทม. จะได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป และ กทม. ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับสิทธิเข้าทำการค้าโดยคำนึงถึงผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุนโดยกระทรวงการคลังประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือ อาทิ ธนาคารออมสิน รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์การค้า ทั้งนี้ กทม. ให้ความสำคัญในการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขอย่างเคร่งครัด และกำหนดมาตรการให้ผู้ค้ามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ที่ตนค้าขายอยู่ โดยผู้ค้าจะต้องควบคุมและรับผิดชอบร่วมกัน เช่น หากผู้ค้ารายใดรายหนึ่งทำผิดเงื่อนไข กทม. จะสั่งให้ระงับการทำการค้าผู้ค้ารายนั้นอย่างน้อย 1 เดือน หากพบว่า ยังมีผู้ค้าฝ่าฝืนอีก จะระงับการเข้าทำการค้าทั้งหมดอย่างน้อย 1 เดือน และหากพบว่ายังมีการฝ่าฝืนอีก จะยกเลิกพื้นที่ทำการค้าเป็นการถาวร
                   2. มาตรการระยะกลาง (6 – 12 เดือน)
                       2.1 กทม. จะพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย กทม. มท. คค. กค. กก. ตช. สศช. กองบัญชาการตำรวจนครบาล และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินการตามที่คณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา เสนอแนะต่อไป พิจารณาศึกษาปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาจัดให้มีกลไกเพื่อปรับสมดุลระหว่างผู้ใช้รถกับผู้สัญจรบนทางเท้าเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในมิติต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน
                       2.2 คณะกรรมการระดับนโยบายและคณะกรรมการระดับพื้นที่พิจารณาจุดผ่อนผัน และ กทม. จะแสวงหาพื้นที่ว่างของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่รองรับความต้องการของผู้ค้า ประชาชน และชุมชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาขอใช้พื้นที่ว่างของการพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์ ฯลฯ หากหน่วยงานดังกล่าวอนุญาตจะเร่งรัดดำเนินการพัฒนาพื้นที่เป็นจุดทำการค้าให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบได้เข้าทำการค้า
                   3. มาตรการระยะยาว (1 – 3 ปี)
                       3.1 กทม. ร่วมกับ มท. คค. กค. กก. ตช. สศช. กองบัญชาการตำรวจนครบาลและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ ลงวันที่ 28 มกราคม 2563 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการหาบเร่แผงลอย เพื่อกำกับดูแลให้ผู้ค้าทำตามกฎหมาย และเพื่อสร้างขีดความสามารถและศักยภาพในการประกอบอาชีพ
                       3.2 ประกาศกรุงเทพมหานครดังกล่าวได้กำหนดแนวทางและวิธีการจัดทำประชาพิจารณ์ หรือสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อการค้าขายของหาบเร่แผงลอย 4 กลุ่ม ที่อยู่ในรัศมี 500 เมตร คือ ผู้ใช้ทางเท้าในการสัญจร ผู้มีสถานที่พักอาศัยในบริเวณนั้น ผู้มีสถานที่ทำงานในบริเวณนั้น และเจ้าของอาคารสถานประกอบการในบริเวณนั้น โดยให้สถาบันการศึกษาหรือสำนักงานเขตพื้นที่ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น
                       3.3 กทม. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ในหลายมิติ อาทิ การปรับภูมิทัศน์จุดส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ เช่น ถนนข้าวสาร ซึ่งได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว และจะขยายการปรับภูมิทัศน์พื้นที่อื่น เช่น ถนนไกรสีห์ ถนนตานี ถนนรามบุตรี บริเวณท่าน้ำวังหลัง และพื้นที่อื่นที่มีเอกลักษณ์ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยประสานความร่วมมือกับสถาบันศึกษา ตลอดจนนักวิชาการและกลุ่มจิตอาสาอื่น ๆ ร่วมกันคิดสร้างสรรค์ออกแบบแผงค้า หรืออุปกรณ์การค้าให้มีอัตลักษณ์โดดเด่นของแต่ละพื้นที่
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง