เที่ยวเชียงใหม่ 3 วัน 2 คืน#3

เที่ยวเชียงใหม่ 3 วัน 2 คืน # ตอนที่ 3 วัดบ้านเด่นสะหรี ศรีเมืองแกน วัดปง สำนักสงฆ์อรัญญวิเวก อุทยานแห่งชาติศรีลานนา

เที่ยวเชียงใหม่ 3 วัน 2 คืน # ตอนที่ 3 สถานที่เที่ยวเชียงใหม่ที่เราจะไปกันวันนี้ คือ วัดบ้านเด่นสะหรี ศรีเมืองแกน วัดปง สำนักสงฆ์อรัญญวิเวก อุทยานแห่งชาติศรีลานนา  ขณะที่เรามีความสุข เวลาจะหมุ่นไปเร็วมาก ครบ 3 วัน 2 คืนละ แต่หากมองโลกในแง่นี้ วันนี้ยังคงมีเวลาจนถึงเครื่องเรียกครั้งสุดท้าย 4 ทุ่ม เรา Check in ล่วงหน้าไว้ก่อน ไม่ต้อง Load กระเป๋า ส่งรถเสร็จ สแกนผ่านวิ่งขึ้นเครื่องกันเลย สถานที่เที่ยวเชียงใหม่ ที่เราจะไปกันวันนี้ เริ่มต้นออกเดินทางจากโรงแรม ไปทางอ.แม่แตง ซึ่งขณะนั้นคิดไว้ว่าจะแวะเยี่ยมชม  3 สถานที่คือ วัดอรัญญวิเวก, วัดบ้านเด่นสะหรีศรีเมืองแกน และเขื่อนแม่งัด แต่ด้วยความเข้าผิดว่าวัดวัดอรัญญวิเวก คือวัดปง ซึ่งไม่ผิดหวังที่แวะผิดเข้าไป โบสถ์สวยงามมาก วัดบ้านปง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นี้เป็นวัดเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวแม่แตง เมื่อก่อนครูบาน้อยตอนที่ท่านยังไม่ละสังขาร ท่านได้ทำการพัฒนาหมู่บ้านให้มีความสุขความเจริญ หลวงปู่ครูบาน้อย วัดบ้านปง อำเภอแม่แตงขณะยังไม่ละสังขาร ท่านเปี่ยมไปด้วยเมตตาสูง เป็นพระใจดี มีปฏิปทาที่สมบูรณ์พร้อม มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก ภายหลังท่านละสังขารไป ร่างของท่านได้ถูกจัดเก็บไว้ในโลงแก้ว ในสภาพไม่เน่าเปื่อย จนถึงปัจจุบันนี้  สร้างความน่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก ผู้ศรัทธาสามารถขึ้นไปกราบไหว้ที่วัดกันได้ครับ เพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิต

วัดปง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

หลวงปู่ครูบาน้อย ชยวังโส วัดบ้านปง เชียงใหม่ หลวงปู่ครูบาน้อย ชยวังโส วัดบ้านปง ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ท่านเกิดวันอังคาร ที่ 3 เมษายน 2440 ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 7 เหนือ ปีจอ ท่านเป็นคนบ้านปง ต.อินทขิล อ.แม่แตง โดยกำเนิด โยมบิดาท่านชื่อ พ่อวงศ์ โยมมารดาชื่อ แม่ออน นามสกุล พงษ์คำ ท่านอายุได้ 13 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านปง โดยมีครูบามโนชัย วัดศรีภูมินทร์ ต. ช่อแล เป็นพระอุปัชฌายา และท่านได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ กับท่านครูบามโนชัย ซึ่งสมัยนั้นได้เรียนการปฏิบัติธรรมนั่งกรรมฐานเป็นส่วนมาก แล้วมักจะได้เรียน วิชาคาถาอาคมควบคู่กันไปด้วย ท่านเล่าเรียน จนท่านสามารถเข้าถึง และปฏิบัติได้ดี
จนท่านอายุ 23 ปี ท่านได้อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดบ้านปง โดยมีท่าน ครูบามโนชัย เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศรีวิชัย วัดป่าบง อินทขิล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสิทธิ วัดม่วงคำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ท่านได้เรียนนักธรรมชั้นต่างๆ จนสอบนักธรรมตรีได้ ในพ.ศ .2484 และนักธรรมโทได้ในปี 2486 และ นักธรรมชั้นเอก ในปี พ.ศ. 2497 ในสมัยที่ท่านเป็นหนุ่มท่านได้เดินธุดงค์จาก อ. แม่แตง ไปสู่ อ.ฝาง ไปตามป่าช้าต่างๆ ถึงสี่เดือน ท่านจึงกลับมาจำพรรษา ที่วัดอีกครั้งหนึ่ง
ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปง เมื่อ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2478 และได้รับการแต่งตั้ง เป็นเจ้าคณะตำบลอินทขิล ในวันที่ 1 กันยายน 2489 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูชั้นตรี ที่ “พระครู ชัยวงศ์ วิวัฒน์” ในวันที่ 5 ธันวาคม 2507 และ ชั้นโท วันที่ 5 ธันวาคม 2534 ชันเอกวันที่ 5 ธันวาคม 2536 และ หลวงปู่ท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้มีโอกาสได้ร่วมเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ ล้านนา ซึ่งก็คือในตอนที่ท่าน ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เป็น ประธานการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ในปี พ.ศ.2477 ท่านได้ร่วมกับโยมพ่อ วงษ์ และคณะศรัทธาญาติโยมวัดบ้านปง มาร่วมสร้างทางกับท่านครูบาเจ้าและท่านได้ฝากตัว และอุปัฏฐาก ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยและร่วมงานในการบูรณะวัดสวนดอก วัดพระสิงห์ และที่อื่นๆอีกมากมาย ครูบาน้อยท่านเป็นพระที่ใจดี มีเมตตาสูง ใครที่เคยไปกราบท่านมักจะประทับใจในรอยยิ้มของท่านอยู่เสมอครับ อีกทั้งท่านยังเป็นที่เคารพรักในบรรดา ลูกศิษย์ลูกหา และพระสงฆ์อีกจำนวนมากมายครับ หลวงปู่ครูบาน้อย
ท่านได้มรณะภาพ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2541 เวลา 08 . 30 น ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุของท่านได้ 101 ปี ปัจจุบันทางวัดได้เก็บรักษา สรีระร่างกายของท่านไว้ ในโลงแก้วที่วัดบ้านปง โดยสรีระของท่านยังคงเป็นปกติไม่เน่าไม่เปื่อยแต่อย่างใด

วัดอรัญญวิเวก Wat Aranyawiwake แม่แตง เชียงใหม่

สำนักสงฆ์อรัญญวิเวก จ.เชียงใหม่

ออกจากวัดปง เรามุ่งสู่วัดอรัญญวิเวก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดบ้านเด่นสะหรีศรีเมืองแกน แต่แต่ด้วยต้องอาหารกินก่อนจึงขับรถเข้าไปเขื่อนแม่งัด แวะร้านค้าข้างทาง สั่งอาหารมากินอร่อยมาก
วัดอรัญญวิเวก เดิมเป็นสำนักสงฆ์เก่าแก่มาแต่อดีตกาล ได้มีการจัดตั้งขึ้นจากบุคคลผู้ใฝ่ในทางพระพุทธศาสนาหลายตระกูลในหมู่บ้านปง ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความเชื่อ ความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา ได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่าพวกเราควรที่จะหานิมนต์พระ ครูบาอาจารย์กัมมัฏฐาน ผู้มีคุณธรรม ให้มาอยู่ในที่ใดที่หนึ่งในหมู่บ้าน เพื่อฟังธรรมในคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาได้ยินข่าวคราวว่ามีพระกัมมัฏฐานมาพักอยู่ที่วัดเงี้ยว อ.แม่แตง จึงขออาราธนานิมนต์พระคุณท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านหลวงปู่มั่นไม่ขัดข้องประการใด หลวงปู่มั่นก็ชวนคณะศรัทธาและศิษย์ของท่านเที่ยวหา สถานที่อื่นเพื่อพักเจริญภาวนา เที่ยวสำรวจอยู่ 4 วัน
ท่านหลวงปู่มั่นก็มาพบสถานที่แห่งนี้ ที่พวกคณะศรัทธาทุกคนอยู่เดี๋ยวนี้เอง เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่มั่นจึงได้ชักชวนศิษยานุศิษย์ ปรารภจะออกจากที่นี่ไปเที่ยวธุดงค์ต่อไป จึงได้สั่งคณะศรัทธาบ้านปงที่มาอุปัฏฐากไว้ว่า สถานที่แห่งนี้ เราได้ตั้งชื่อว่า สำนักสงฆ์อรัญญวิเวก ณ สำนักสงฆ์แห่งนี้ก็ได้ชื่อว่า สำนักสงฆ์อรัญญวิเวก เป็นชื่อซึ่งหลวงปู่มั่นตั้งให้ ในสำนักนี้ได้มีพระอาจารย์กัมมฏฐานหลายท่านหลายองค์มาจำพรรษา อาทิเช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อุดรธานี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง หนองคาย หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ เลย หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ อุดรธานี หลวงปู่คำแสน เชียงใหม่ หลวงปู่โค่ง เชียงใหม่ หลวงปู่คำอ้าย เชียงใหม่

แวะกินข้าวเสร็จเราก็ไปมุ่งเขื่อนแม่งัด ไปหาวิวถ่ายรูปกับดูน้ำที่ไกลสุดลูกหูลูกตา

เขื่อนแม่งัด 

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล

 เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เดิมชื่อว่า เขื่อนแม่งัด ตั้งอยู่บนลำน้ำแม่งัด สาขาแม่น้ำปิง ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และยังตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา

  • ประเภทเขื่อน: เขื่อนดิน
  • ตัวเขื่อน: สร้างปิดกั้นลำน้ำแม่งัด ที่บ้านใหม่ ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
  • ลักษณะเขื่อน: เขื่อนแม่งัดเป็นเขื่อนดินถม สูง 59 เมตร ยาว 1,950 เมตร อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 265 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าตัวเขื่อนเฉลี่ยปีละ 332 ล้านลูกบาศก์เมตร
  • ด้านการชลประทาน – สามารถส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการได้ประมาณ 30,000 ไร่ และช่วยส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่ เพาะปลูกของฝายสินธุกิจปรีชา (ฝายแฝก) จังหวัดเชียงใหม่ โครงการแม่ปิงเก่า จังหวัดลำพูน และพื้นที่เพาะปลูกโดยฝายของราษฎรอีกด้วย รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 188,000 ไร่
  • ด้านพลังงานไฟฟ้า – เขื่อนสามารถผลิตกระไฟฟ้าได้ประมาณ 24.50 ล้านกิโลวัตต์
  • ด้านการประมง – เป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ เป็นแหล่งผลิตอาหาร สร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น
  • การท่องเที่ยว – เขื่อนแม่งัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อน อ่างน้ำเหนือเขื่อนมีทัศนียภาพที่งดงาม มีบริการนั่งแพ ร้านอาหาร

กลับจากเขื่อนแม่งัด ขับรถกลับทางเดิม เพื่อไปยัง วัดบ้านเด่นสะหรีศรีเมืองแกน

วัดบ้านเด่นสะหรีศรีเมืองแกน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดบ้านเด่น ตั้งอยู่ที่ ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นวัดที่ขึ้นชื่อมากในย่านอำเภอแม่แตง และขึ้นชื่อในหมู่ศรัทธาชาวพุทธ ที่ใครๆ ก็ต่างต้องแวะมาเยื่อน ด้วยแรงศรัทธที่มีมากมาย จึงทำให้วัดแห่งนี้ มีสิ่งปลูกสร้างใหญ่โตสวยงามมาก และนอกจากนั้นยังมีสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งคือวัดแห่งนี้มีพื้อนที่ใหญ่โตมโหฬาร มีสิ่งปลูกสร้างมากมาย แต่กลับมองไปไม่เห็นพระภิกษุสงฆ์ และสามเณรเลย มีเพียงท่านครูบาเจ้าเทือง ที่จำพรรษาอยู่ เพียงรูปเดียวเท่านั้น (แต่ปัจจุบันท่านได้มรณภาพแล้ว)

ต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นเพียงวัดเล็กๆ แต่เนื่องด้วยบุญบารมีของ ท่านครูบาเจ้าเทือง ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาที่ให้ความเคารพนับถือมากมาย ทั้งชาวไทย จีน ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง และชาวเขาหลายเผ่า  จนเป็นที่เรียกขานว่า เป็นเกจิสหายหรือครูบาสองพี่น้อง คู่กับกับครูบาบุญชุ่ม เกจิดังแห่งสามเหลี่ยมทองคำ หากรูปใดรูปหนึ่งมีงานบุญสำคัญก็จะไปร่วมงานกัน และมีประชาชนที่ทราบข่าวแห่กันไปร่วมกราบไหว้ขอพรอย่างเนืองแน่น จึงมีชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธานำเงินมาถวายเป็นปัจจัยในการทำบุญเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งตัวท่านครูบาเจ้าเทืองเอง ก็ไม่ต้องการจะเก็บเงินส่วนนี้ไว้  ประกอบกับคิดอยากจะสร้างอนุสรณ์แห่งบุญที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา จึงได้มีการปรับปรุง ก่อสร้างวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกนใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2534 บนพื้นที่กว่า 80ไร่ ของวัด ที่มีทำเลที่ตั้งอยู่บนเนินสูง สามารถมองเห็นวิวทุ่งนา และบ้านเรือนละแวกใกล้เคียงอย่างชัดเจน
การก่อสร้างวัดบ้านเด่น เป็นแบบล้านนาประยุกต์ ที่ผสมผสานแนวคิดของท่านครูบาเทืองเอง ที่เรียกว่า แนวสถาปนึกคือคิดจะใส่อะไร ก็ใส่ จะทำไร ก็ทำ แต่ต้องมีความมั่นคง เป็นการผสมผสานวัดบ้าน กับวัดป่า ความเชื่อที่ว่าศาสนาอยู่ได้เพราะปฏิบัติ การแบ่งแยกไม่ใช่เรื่องสำคัญ โดยยึดหลักการสร้างตามบุญ คงเพราะการสร้างตามบุญนี่เอง ที่ทำให้จนกระทั่งทุกวันนี้ วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน จึงมีขนาดสิ่งปลูกสร้างใหญ่และยังคงสร้างไม่แล้วเสร็จในหลาย ๆ ส่วน รวมถึงปัจจุบันก็ยังปิดปรับปรุงบางส่วน และสร้างขึ้นใหม่เรื่อยๆ


เสร็จจากทำบุญ ประมาณ 15.00 น. ก็เดินทางกลับเชียงใหม่ หาอะไรอร่อยกินแล้ว มุ่งสู่สนามบินเชียงใหม่ เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพ ฯ จบทริป 3 วัน 2 คืน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง