เที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน ภูเก็ต เกาะปันหยี พังงา

เขื่อนรัชชประภา

ทริปเที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน ภูเก็ต เกาะปันหยี พังงา ทริบนี้ขับรถไปเรื่อยๆ จาก กทม สำหรับทริปนี้นานมากละ เที่ยวทะเลกระบี่ต้นหน้าฝน หรือ low season ขับรถมุ่งหน้าเขาสก ระยะทาง 747 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 คืนเต็ม

2018-06-02_113346
ระยะทางกรุงเทพ – เขื่อนเชี่ยวหลาน 747 กม.


โดยแวะนอนพักที่แยก The O Valley Boutique Hotel ก่อนถึงแยกทางเลี้ยวขวาเข้าเขาสก บ้านตาขุนตื่นเช้าอาบน้ำ หาอะไรกิน จัดกระเป๋าเดินทางขึ้นรถไปต่อ

เขื่อนรัชชประภา มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของภาคใต้ อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อก่อนสร้างแล้วเสร็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “เขื่อนรัชชประภา” มีความหมายว่า “แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร”
เขื่อนรัชชประภา สร้างปิดกั้นลำน้ำคลองแสง ที่บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยพื้นที่ส่วนใหญ่ติดอุทยานแห่งชาติเขาสกเกือบทั้งหมด เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว

อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน
อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน


ทัศนียภาพโดยรอบบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สวยสดงดงาม และสงบร่มรื่น เหมาะแก่การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมเขื่อนรัชชประภาหลายหมื่นคนต่อปี พื้นที่อ่างเก็บน้ำมีทัศนียภาพอันงดงาม ประกอบด้วยยอดเขาหินปูนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมามากมาย จนได้รับฉายาว่า “กุ้ยหลินเมืองไทย”

เขื่อนเชี่ยวหลาน
รูปนี้จาก wikipedia.org


10.00 น. มาชมความสวยงามของเขื่อนเชี่ยวหลานในตำนาน ก็เดินทางต่อเข้าสู่เมืองภูเก็ต ตั้งใจวิ่งถนนเส้นริมทะเล เขาหลัก ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า โคกกลอย

แต่ระหว่างทางก่อนข้ามไปภูเก็ต จะมีร้านกาแฟร้านหนึ่งอยู่บนเนินเขา ก็แวะหาอะไรเย็นๆ และขนมลองท้องกันนิดหน่อย ถ่ายรูปกันนิดหน่อย

จากนั้นข้ามไปยังจังหวัดภูเก็ตไปดูพระอาทิตย์ตกทะเลที่แหลมพรหมเทพตามรายงานข่าวพยากรณ์อากาศทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยทุกเช้า

แหลมพรหมเทพ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่ห่างจากหาดราไวย์ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นแหลมที่อยู่ตอนใต้สุดของจังหวัดภูเก็ต มีทัศนียภาพที่สวยงาม และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่ได้รับความนิยม เป็นที่ตั้งของประภาคารกาญจนาภิเษก สุดปลายของแหลมพรหมเทพ มีชื่อว่าแหลมเจ้า บริเวณตัวแหลมซึ่งยื่นออกไปในทะเล มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยต้นตาลที่ขึ้นอยู่กลุ่มใหญ่

เขื่อนรัชประภา

แหลมพรหมเทพ ถูกจัดเป็นหนึ่งในโครงการมหัศจรรย์เมืองไทย 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จุดเด่นคือ “ชมพระอาทิตย์ตกทะเล สวยที่สุดในประเทศไทย”

เสร็จจากชมพระอาทิตย์ตกดินที่แหลมพรหมเทพ ก็ขับรถมุ่งหน้าไปที่พักอยู่ทางขึ้นม.ราชภัฏภูเก็ต โทรจองไว้เรียบร้อย ราคาไม่แพง

เช้าวันรุ่งขึ้นมุ่งหน้าเข้าจังหวัดกระบี่ ระหว่างทางแวะสะพานรักสารสิน ซึ่งเป็นสะพานแห่งแห่งแรกที่เชื่อมระหว่างเกาะภูเก็ตกับแผ่นดินใหญ่ ก่อนจะมีการสร้างสะพานใหม่ชื่อสะพานท้าวเทพกระษัตรี

2018-06-02_175714.jpg
รูปนี้จาก wikipedia.org

สะพานสารสิน เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดภูเก็ต เป็นสะพานแรกที่มีการสร้างเพื่อข้ามจากจังหวัดพังงาไปภูเก็ต เชื่อมต่อระหว่างบ้านท่าฉัตรไชยและบ้านท่านุ่นของจังหวัดพังงา เปิดใช้เมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 สะพานแห่งนี้ตั้งชื่อตามนามสกุลของ นายพจน์ สารสิน ใช้งบประมาณทั้งหมด 28,770,000 บาท

ตำนาน สะพานสารสิน เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นสถานที่ที่เป็นตำนานความรักของหนุ่มสาวสองคนที่ไม่สมหวัง คือ โกดำ (ดำ แซ่ตัน) กับ กิ๊ว (กาญจนา แซ่หงอ) ที่มีความแตกต่างกันทางฐานะ ด้วยโกดำเป็นเพียงคนขับรถสองแถวรับจ้างและรับจ้างกรีดยาง ขณะที่กิ๊วมีฐานะที่ดีกว่า และเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครู โดยที่ผู้ใหญ่ทางบ้านของกิ๊วได้กีดกั้นทั้งสองคบหากัน ในที่สุดทั้งคู่จึงตัดสินใจกระโดดน้ำตายที่กลางสะพานสารสิน ด้วยการใช้ผ้าขาวม้ามัดตัวทั้งสองไว้ด้วยกัน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ซึ่งเรื่องราวของทั้งคู่โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่ว

ต่อมา มีการสร้าง “สะพานท้าวเทพกระษัตรี” ซึ่งเป็นสะพานคู่ขนานสะพานสารสินเดิมที่มีขนาด 2 ช่องจราจร และความยาว 650 เมตร เพื่อระบายการจราจรที่คับคั่งตามความเจริญของจังหวัดภูเก็ต เริ่มเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2535


แวะถ่ายรูปที่สะพานรักสารสินเสร็จ เรามุ่งหน้าสู่อ่าวพังงากันเลย ไปดูเกาะตะปู หรือ ตาปู และเที่ยวชุมชนบนเกาะปันหยีกันไปดูสนามฟุตบอลลอยน้ำของเด็กๆชาวเกาะปันหยี ซึ่งท่าเรือไปเกาะปันหยีมีหลายท่า ในรูปเหมาเรือแบบราคาถูก ให้น้องที่ร้านอาหาร อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา โทรติดต่อให้บอกมีแค่ 2 คน และเริ่มบ่ายจัดๆแล้ว คงไม่มีนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆมาช่วยหารค่าเรือ 1,200 บาท
การเช่าเรือล่องอ่าวพังงา
1. ท่าเรือท่าด่านศุลกากร ตั้งอยู่ในอำเภอตะกั่วทุ่ง เลยจากที่ทำการอุทยานไปเล็กน้อย เป็นท่าเรือที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยสามารถติดต่อขึ้นเรือได้ที่ท่าเรือโดยตรง มีเรือจอดอยู่หลายลำ
– เรือสำหรับ 1-8 คน ราคา 1,200 บาท
– เรือสำหรับ 8-20 คน ราคา 2,000 บาท
– เรือสำหรับ 20-40 คน ราคา 4,500 บาท
2. ท่าเรือสุระกุล หรือ ท่าเรือกะโสม ในอำเภอตะกั่วทุ่ง เป็น เรือหางยาวจุประมาณ ลำละ 6 คน
– เรือสำหรับ 1-10 คน ราคา 1,200 บาท
– เรือสำหรับ 1-20 คน ราคา 1,500 บาท
– เรือสำหรับ 1-30 คน ราคา 1,600 บาท
3. ท่าเรือในบริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นเรือหางยาวจุลำละประมาณ 8 คน
– เรือสำหรับ 2-6 คน ราคา 1,000 บาท
– เรือสำหรับ 7-12 คน ราคา 1,500 บาท
– เรือสำหรับ 35-45 คน ราคา 4,500 บาท

สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานอ่าวพังงา ได้แก่

เกาะปันหยี เป็นเกาะเล็ก ๆ มีที่ราบประมาณ 1ไร่ มีบ้านเรือน 200 หลังคาเรือน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพประมง ขายของที่ระลึก และขายอาหารให้แก่นักท่องเที่ยว มีโรงเรียน และสถานีอนามัยอยู่บนเกาะ
เกาะพนัก เป็นเกาะที่สวยงาม มีถ้ำหินงอก หินย้อย และมีแอ่งน้ำตกขนาดเล็กเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นกันอยู่ในถ้ำด้วย
เขาพิงกัน เหตุที่ชื่อนี้เพราะภูเขาหินแตกออกจากกัน หินที่เล็กกว่าเลื่อนลงมา ฐานจมลงไปในดินแยกห่างจากกัน ส่วนด้านบนยังคงพิงกันอยู่ ด้านหลังของเขาพิงกันมีทิวทัศน์ที่สวยงาม มองออกไปในทะเลจะเห็น “เขาตะปู” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เกาะเจมส์บอนด์” มีลักษณะเหมือนตะปู อยู่กลางน้ำ อุทยานฯ เก็บค่าขึ้นเขาพิงกัน ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท เพราะเป็นเกาะที่อยู่บนหาด
เขาหมาจู เป็นภูเขาหินเล็กๆ มองไกลๆ มีลักษณะเหมือนสุนัขแบ่งเป็นมีหัว ลำตัวและหางเป็นพู่ แลดูน่ารักดี ที่เที่ยวต่างๆ จะอยู่ด้านขวาเป็นส่วนมาก ด้านซ้ายของลำน้ำเป็นป่าชายเลนที่หากินของชาวบ้านที่จะมาหาปลาไม่ว่าจะทอดแหหรือเครื่องมืออื่นๆ เรียกว่าไม่ใช่วิวสวยอย่างเดียวแต่ยังเป็นประโยชน์เลี้ยงชีพผู้คนจำนวนมากได้ด้วย
 
เขาเขียนหรือ ภาพเขียนสี เป็นทางผ่านที่จะไปยังเกาะปันหยี บริเวณหน้าผาจะมีรูปเขียนเป็นภาพสัตว์ชนิดต่าง ๆ สันนิษฐานว่าเป็นภาพวาดโดยนักเดินเรือสมัยโบราณที่แวะมาจอดพักหลบมรสุม ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการศึกษาว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี
ถ้ำลอด เป็นภูเขาลักษณะเกาะทะลุ ปากถ้ำกว้างประมาณ 50 เมตร สูง 40 เมตร เรือขนาดเล็กสามารถแล่นผ่านทะลุไปอีกด้านของถ้ำได้ บนเพดานถ้ำมีหินย้อยดูแปลกตา
เกาะห้อง เป็นภูเขาเล็กใหญ่สลับซับซ้อน เมื่อแล่นเรือเข้าไประหว่างเกาะ มองโดยรอบเหมือนอยู่ในห้องโถงใหญ่ที่มีประตู 2 บาน และเป็นแหล่งปะการังที่สวยงาม 


 
เกาะตาปูเป็นเขาหินปูน มีอายุยุคเพอร์เมียนหรือประมาณ 295–250 ล้านปีมาแล้ว เนื่องจากหินปูนมีคุณสมบัติสึกกร่อนจากการละลายน้ำได้ง่าย ดังนั้นเกาะต่าง ๆ ในบริเวณอ่าวพังงาจึงมีรูปร่างแปลก ๆ และมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการผุพังทำลายของเนื้อหิน
กำเนิดของเกาะตาปูมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสมัยโบราณ เดิมเกาะตาปูและเกาะเขาพิงกันด้านตะวันออกมีสภาพเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกันและอยู่บนผืนแผ่นดิน การเคลื่อนไหวของเปลือกโลกในเวลาต่อมาทำให้เกิดรอยเลื่อนใหญ่เป็นแนวยาวพาดผ่านพื้นที่อ่าวพังงาด้านตะวันตก เรียกว่ารอยเลื่อนคลองมะรุ่ย รอยเลื่อนนี้ทำให้เกิดรอยเลื่อนย่อย ๆ ติดตามมา ดังจะเห็นได้จากรอยเลื่อนที่เขาพิงกัน รอยเลื่อน รอยแตก และรอยแยกที่พบในหินปูนเกาะตาปู นอกจากนั้น รอยเลื่อนยังทำให้เกิดการหักพังของหินขึ้นในบริเวณรอยต่อระหว่างเขาตาปูกับเขาพิงกันทางด้านตะวันออก ทำให้เขาตาปูแยกออกมาเป็นเขาลูกโดด

รูปนี้จาก wikipedia.org


เกาะตาปู หรือ เกาะตะปู เป็นเกาะโขดหินขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางด้านเหนือในเวิ้งอ่าวของเกาะเขาพิงกัน ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาในท้องที่ ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปตามลำคลองเกาะปันหยีเป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร เกาะตาปูมีลักษณะเป็นเกาะเดี่ยว ส่วนบนโปนออกและคอดกิ่วลงที่บริเวณฐานเหมือนกับตาของปู

สนามฟุตบอลลอยน้ำเกาะปันหยี
สนามฟุตบอลลอยน้ำเกาะปันหยี
เกาะปันหยี
ที่มาภาพนี้ wikipedia.org/wiki/เกาะปันหยี


เกาะปันหยี เป็นเกาะหมู่บ้านชาวประมงในจังหวัดพังงา เกาะแห่งนี้เป็นเกาะที่เริ่มก่อสร้างโดยชาวประมงของอินโดนีเซียที่อพยพเข้ามา บนเกาะมี 360 ครอบครัวประชากรประมาณ 1,685 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่นี้มีสนามฟุตบอลลอยน้ำซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากฟุตบอลโลก 1986 รวมถึงมีทีมฟุตบอลปันหยีซึ่งเป็นสโมสรเยาวชนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทยใน พ.ศ. 2554
ที่พัก อุทยานฯ มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยว จำนวน 5 หลัง พักได้ 4 คน ราคา 500 บาท พักได้ 15 คน ราคา 900 บาท มีบริการเต็นท์ให้เช่า พักได้ 1-2 คน ราคา 200 บาท พักได้ 5 คน ราคา 250 บาท ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเองเสียค่าอาบน้ำคนละ 20 บาท
สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 80 หมู่ 1 ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมือง จังหวัดพังงา 82000 โทร. 0 7641 1136, 0 7641 2188 หรือ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช โทร. 0 2562 0760


กลับเข้าฝั่งพังงามุ่งหน้าเข้า อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ เป็นอันจบทริปภูเก็ต – อ่าวพังงา ซึ่งอ่าวพังมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ตั้งใจว่าโอกาสหน้าต้องกลับมาใหม่
 
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง