สิทธิประโยชน์ประกันสังคมของผู้ประกันตนตามมาตรา 40

หลังจากที่สำนักงานประกันสังคมดำเนินการให้แรงงานนอกระบบทุกสาขาอาชีพ อาทิ เกษตรกร ผู้ขับขี่รถยนต์หรือจักรยานยนต์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ แผงลอย หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งหากสมัครเข้ามาตรา 40 ก็จะได้รับความคุ้มครองประกันสังคมและสิทธิประโยชน์ในหลายกรณี และพิเศษสุดกับการมี “เงินออมผู้สูงอายุ”

มาดูกันว่า การเข้าประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม มีสิทธิประโยชน์อย่างไรบ้าง

ผู้สมัครประกันสังคมตามมาตรา 40 จะได้รับสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ดังนี้

1.ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง ทั้งหมด 5 กรณีดังนี้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยรับค่าทดแทนขาดรายได้ (ซึ่งต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 เดือน ใน 4 เดือน ก่อนเดือนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ดังนี้

  • ในฐานะผู้ป่วยใน นอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไป รับค่าชดเชยรายได้ 300 บาท/วัน
  • ไม่นอนโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว ตั้งแต่วันขึ้นไป
  • ภายใน 1 ปี สามารถนอนและไม่นอนโรงพยาลได้
    • ไม่เกิน 30 วัน/ปี (กรณีจ่ายเงินสมทบ 70 และ 100 บาท/เดือน)
    • ไม่เกิน 90 วัน/ปี (กรณีจ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน)
  • ไปพบแพทย์ ฐานะผู้ป่วยนอก และแพทย์มีความเห็นให้หยุดพักรักษาตัว
    • ไม่เกิน 2 วัน (ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง และมีใบรับรองแพทย์) รับเงินชดเชย ครั้งละ 50 บาท (กรณีจ่ายเงินสมทบ 70 และ 100 บาท/เดือน)
    • ไม่คุ้มครอง (กรณีจ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน)

2. กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ดังนี้

  • ได้รับเงินทดแทนรายได้รายเดือน 500-1,000 บาท (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ)
  • ได้รับเงินทดแทนเป็นระยะเวลา
    • 15 ปี (กรณีจ่ายเงินสมทบ 70 และ 100 บาท/เดือน)
    • ตลอดชีพ (กรณีจ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน)
  • เสียชีวิตระหว่างรับเงินทดแทน ได้รับเงินค่าทำศพ
    • จำนวนเงิน 20,000 บาท (กรณีจ่ายเงินสมทบ 70 และ 100 บาท/เดือน)
    • จำนวนเงิน 40,000 บาท (กรณีจ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน)

3. กรณีเสียชีวิตได้รับเงินค่าทำศพ

  • ผู้จัดการศพได้รับเงินค่าทำศพ กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 ใน 12 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต
    • จำนวนเงิน 20,000 บาท (กรณีจ่ายเงินสมทบ 70 และ 100 บาท/เดือน)
    • จำนวนเงิน 40,000 บาท (กรณีจ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน)
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต ได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต
    • รับเพิ่ม 3,000 บาท (กรณีจ่ายเงินสมทบ 70 และ 100 บาท/เดือน)
    • ไม่คุ้มครอง (กรณีจ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน)

4. กรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล

  • ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ จากเงินสมทบ/เดือน (ตามระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนคืนทั้งหมด) เมื่ออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
  • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป ได้รับเพิ่มอีก
    • ไม่คุ้มครอง (กรณีจ่ายเงินสมทบ 70 และ 100 บาท/เดือน)
    • รับเพิ่ม 10,000 บาท (กรณีจ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน)
  • สามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติม (เงินออม) ได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท
    • ไม่คุ้มครอง (กรณีจ่ายเงินสมทบ 70)
    • ออมเพิ่มได้ 1,000 บาท (กรณีจ่ายเงินสมทบ 100 บาท และ 300 บาท/เดือน)

5. กรณีสงเคราะห์บุตรได้รับเงินรายเดือน

  • ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรรายเดือน บัตรอายุแรกเกิด จนถึง 6 ปี บริบูรณ์ คราวละไม่เกิน 2 คน (จ่ายเงินสมทบแล้ว 24 ใน 36 เดือน และ ขณะรับเงินสงเคราะห์บุตรต้องส่งเงินสมทบทุกเดือน)
    • ไม่คุ้มครอง (กรณีจ่ายเงินสมทบ 70 และ 100 บาท/เดือน)
    • คนละ 200 บาท (กรณีจ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน)

ตารางเปรียบเทียบการผลประโยชน์และการจ่ายเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 40

สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนมาตร 40

การสมัครและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40

ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2561 และพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2561 นั้น

1. คุณสมบัติของผู้สมัคร

1.1 มีสัญชาติไทย

1.2 เป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทย โดยมีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยเลขประจำตัวหลักแรกเป็นเลข 6 หรือ เลข 7

1.3 เป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว   เพื่อรอการส่งกลับ ที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยเลขประจำตัวหลักแรกเป็นเลข 0 ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีเลขประจำตัวหลักแรกและหลักที่สองเป็นเลข 0 (00)

1.4 ผู้สมัครต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบุูรณ์

1.5 ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39

1.6 ไม่เป็นสมาชิกของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการท้องถิ่น หรือไม่เป็นสมาชิกกองทุนของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีลักษณะอย่างเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญของส่วนราชการ รวมทั้งไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร หรือกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการท้องถิ่น

1.7 หากเป็นบุคคลซึ่งเป็นผู้พิการ ให้ระบุลักษณะหรืออาการของผู้พิการโดยละเอียด (ยกเว้น  ผู้พิการทางสติปัญญาและผู้พิการที่ไม่อาจรับรู้สิทธิที่พึงจะได้รับจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่สามารถสมัครและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้)

2. หลักฐานการสมัคร

2.1 บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้แทนบัตรประจำตัวประชาชน

2.2 แบบคำขอสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (สปส.1-40) กรณีไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้ใช้การประทับลายนิ้วมือแทนการลงชื่อและให้มีผู้รับรองลายมือชื่อจำนวน 2 คน

3. สถานที่ในการสมัคร

3.1 สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา  ทุกแห่งทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

3.2 อินเตอร์เน็ต WWW.sso.go.th/section40_regist

3.3 บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส เซเว่น อีเลฟเว่น (7-11)

4ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40 มี 3 ทางเลือก ดังนี้

  • ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน
    • สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง  3  กรณี  คือ  กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย  กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย
  • ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน
    • สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง  4  กรณี  คือ  กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ
  • ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน
    • สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง  5  กรณี  คือ  กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย  กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร

หมายเหตุ :

1)  ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 สามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติม (ออมเพิ่ม) ได้ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อเดือน

2)  กำหนดให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน

5. ช่องทางการชำระเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40

5.1 เคาน์เตอร์บริการ 

5.2 หักผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร

  • ชำระงวดปัจจุบัน  ได้ที่
    • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
    • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (มหาชน)
    • ธนาคารออมสิน
    • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
  • 5.3 ช่องทางอื่น
    • ชำระงวดปัจจุบัน งวดล่วงหน้า 12 เดือน และออมเพิ่มไม่เกิน 1,000 บาท/เดือน ได้ที่ ไปรษณีย์ (ธนาณัติ) เสียค่าธรรมเนียมตามที่ไปรษณีย์กำหนด

หมายเหตุ

1. การจ่ายเงินสมทบผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส โปรดแจ้งพนักงานให้ชัดเจนว่าจะจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าหรือจ่ายเงินออมเพิ่ม เพื่อไม่ให้จ่ายเงินผิดพลาด

2. จ่ายเงินสมทบผ่านการหักบัญชีธนาคาร ธนาคารจะหักเงินในบัญชีของผู้ประกันตน ทุกวันที่ 20 ของเดือน

3. ลืมหรือขาดส่งเงินสมทบ ไม่สามารถส่งเงินสมทบย้อนหลังได้ แต่ไม่ถือเป็นการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน สามารถส่งเงินสมทบงวดปัจจุบันและส่งเงินล่วงหน้าได้ไม่เกิน 12 เดือน

4. เงินสมทบที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จ่าย สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

5. ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่ถูกตัดสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

6. การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูล

6.1 เมื่อเป็นผู้ประกันตนแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น เปลี่ยนคำนำหน้านามชื่อ – สกุล ที่อยู่ที่ติดต่อ เปลี่ยนแปลงสำนักงานประกันสังคมรับผิดชอบ หรือเปลี่ยนทางเลือกจ่ายเงินสมทบ เป็นต้น ให้ยื่นแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงหรือทางเลือกการจ่ายเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (สปส.1-40/1) พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง

6.2 กรณีขอเปลี่ยนทางเลือกการจ่ายเงินสมทบจะทำได้ปีละ 1 ครั้ง โดยเมื่อยื่นขอเปลี่ยนแปลงทางเลือกแล้ว  จะมีผลในเดือนถัดไป

6.3 หากไม่ประสงค์เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ต่อไป (ลาออก) ให้ยื่นแบบแจ้งความจำนงไม่ประสงค์เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (สปส.1-40/2)

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง