วิธีการทดสอบประสิทธิภาพปอดและวัดระดับออกซิเจนในเลือด ด้วย เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
การระบาดของ โรคโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศไทย นับว่าเป็นอีกระลอกที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ซ้ำร้าย จากการสำรวจยังพบอีกว่า ผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนหลายคน ไม่พบอาการที่บ่งบอก หรือน่าสงสัยว่าตนกำลังติดเชื้อ กว่าจะแสดงอาการออกมา ก็มักจะรุนแรงจนเสี่ยงเสียชีวิตแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีข้อมูลที่แชร์กันในสื่อต่าง ๆ มากมายว่า มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เรียกกันว่า เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว หรือเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด สามารถช่วยให้เราเฝ้าระวังและติดตามอาการโควิด-19 ได้
สาเหตุอาการทรุดหนักและเสียชีวิต
นพ.วิทวัส ศิริประชัย ได้ออกมาให้ข้อมูลผ่านแฟนเพจ Drama-addict ว่า ในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดแรก ๆ ประเทศแถบยุโรป มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่กักตัว หรือต้องพักรักษาตัวที่บ้าน โดยพบว่าผู้เสียชีวิตเหล่านั้น อยู่ ๆ ก็มีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้นำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลไม่ทันเวลา
จากการสำรวจของนักวิจัยพบว่า มีผู้ป่วยหลายราย ไม่พบอาการผิดปกติใดเลย หากมีก็น้อยมาก โดยเมื่อวัดค่าออกซิเจนในเลือด กลับพบว่าต่ำผิดปกติมาก ขัดกับอาการของผู้ป่วยที่ปกติ เหมือนไม่ได้ป่วยอะไร แต่ผ่านไปไม่นาน อยู่ ๆ ผู้ป่วยกลับมีอาการเหนื่อยหอบอย่ารุนแรงขึ้นมา ระบบหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็ว แล้วเสียชีวิตหลังจากแสดงอาการไม่นาน โดยทางการแพทย์เรียกอาการเช่นนี้ว่า “happy hypoxemia” หรือ “silent hypoxemia”
จะเห็นได้ว่า แม้ภายนอกจะพบว่าผู้ป่วยมีอาการปกติ แต่ภายในนั้น กลับมีความผิดปกติแฝงอยู่ สังเกตได้จากค่าระดับออกซิเจนในเลือด ดังนั้น หากผู้ป่วยที่มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ แล้วได้รับการรักษาจากแพทย์ได้ทันท่วงที โอกาสที่จะเสียชีวิตก็จะน้อยลงมาก จึงทำให้ เครื่องวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว หรือเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 และเฝ้าระวังอาการโควิด-19 ในผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ เพื่อลดโอกาสที่โรคจะพัฒนาไปถึงขั้นที่รุนแรง รวมทั้งลดโอกาสการเสียชีวิตจากอาการ happy hypoxemia ได้นั่นเอง
จะรู้ได้อย่างไรว่าระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำ
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Fingertip Pulse Oximeter) คือ อุปกรณ์ที่ใช้วัดระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด (Oxygen Saturation) รวมทั้งยังสามารถใช้วัดอัตราการเต้นของหัวใจได้อีกด้วย ตัวเครื่องมีลักษณะคล้ายคลิปหรือเครื่องเย็บกระดาษ ใช้งานโดยการหนีบที่บริเวณปลายนิ้วของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดหนึ่ง ที่ใช้กันมากในโรงพยาบาล แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถซื้อมาใช้เองได้ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์นี้ใช้งานไม่ยาก โดยส่วนมากจะนำมาใช้ติดตามอาการของโรค เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจล้มเหลว เป็นต้น
ตรวจค่าออกซิเจนในเลือด โดยคลื่นแสง บนปลายนิ้ว
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วจะตรวจวัดระดับออกซิเจนได้ โดยการปล่อยคลื่นแสงจากด้านบนที่อยู่บริเวณเล็บ ผ่านนิ้วลงมาที่ตัวรับแสงที่อยู่อีกด้านบริเวณปลายนิ้วของผู้ใช้ เพื่อตรวจวัดฮีโมโกลบินที่จับตัวอยู่กับออกซิเจนในเลือด (Oxyhemoglobin) จากนั้น จึงนำมาคำนวณหาค่าความเข้มข้นของออกซิเจนภายในเลือด ออกเป็นเปอร์เซ็นต์ (ร้อยละ) แล้วแสดงผลผ่านหน้าจอของตัวเครื่อง โดยมีค่าการวัดผลดังนี้ (อ้างอิงข้อมูล โรงพยาบาลลานนา)
- 95% ขึ้นไป ออกซิเจนในเลือดปกติดี
- 90 – 94% ให้ระมัดระวังอาการผิดปกติ
- น้อยกว่า 90% มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีการวัดระดับออกซิเจนและทดสอบประสิทธิภาพปอดด้วยตนเอง
เรามาดูวิธีใช้งานเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วกัน โดย พญ.ร่มเย็น ศักดิ์ทองจีน ศูนย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ ได้แนะนำวิธีการวัดระดับออกซิเจนและทดสอบประสิทธิภาพปอดด้วยตนเอง ดังนี้ค่ะ
วิธีการใช้งานเครื่องวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว
- ใส่นิ้วเข้าไปในตัวเครื่องจนสุดและหนีบนิ้วให้สนิทกับตัวเครื่อง จากนั้นกดปุ่มเปิดเครื่อง
- หายใจเข้าลึก ๆ ผ่อนคลาย เครื่องจะทำการวัดค่า แล้วจะแสดงผลที่ได้บนหน้าจอเครื่อง โดยค่าตัวบนคือระดับออกซิเจนในเลือด มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวล่างคืออัตราการเต้นของหัวใจ/นาที
ขอบคุณภาพจาก โรงพยาบาลสินแพทย์
วิธีทดสอบประสิทธิภาพปอด
ทดสอบประสิทธิภาพปอด ด้วยการออกกำลังกายเป็นเวลา 3 นาที แนะนำเป็นการออกกำลังกายด้วย การปั่นจักรยานอากาศ เป็นเวลา 3 นาที เมื่อครบแล้ว ให้ทำการวัดระดับออกซิเจนในเลือด ด้วยเครื่องวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้วอีกครั้ง (เหมือนวิธีข้างต้น) ค่าที่วัดได้นั้นควรจะมีค่าเท่าเดิม หรือมากกว่าเดิม (ค่าออกซิเจนไม่ควรต่ำกว่า 96 – 100%) แต่หากวัดแล้วค่าที่ได้ลดลงมากกว่า 3% ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติ และแนวทางการรักษาต่อไป
ที่มา https://allwellhealthcare.com/fingertip-pulse-oximeter/?fbclid=IwAR3-hhcKRGMtVtOne4GQgI0fG-8MzHyiN2-Gb6KFul-i4hf1HTgHrCoNlgI