ข่าวดี… จุฬาฯ เปิดรับอาสาสมัคร ทดสอบวัคซีน ChulaCOV19 แล้ว

จุฬาฯ เปิดรับอาสาสมัคร! ทดสอบวัคซีน ChulaCOV19

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดรับสมัคร! อาสาสมัครทดสอบวัคซีน ChulaCOV19 แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 สำหรับอาสาสมัครอายุ 65-75 ปี (24 คน)
ระยะที่ 2 สำหรับอาสาสมัครอายุ 18-55 ปี (150 คน)

โดยผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติ คือ

  • อายุ 18-55 ปี หรือ 65-75 ปี
  • ไม่มีโรคประจำตัว
  • ไม่เคยติดเชื้อโควิด19
  • ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด19

วันรับสมัคร

  • เปิดรับลงทะเบียน วันที่ 25 มิถุนายน 2564
  • ปิดรับลงทะเบียน วันที่ 2 กรกฎาคม 2564
  • ประกาศผลภายใน วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 
  • ช่วงที่จะได้รับวัคซีน ปลาย สิงหาคม 2564 

โดยกรอกข้อมูลสมัครที่ http://crc.md.chula.ac.th/redcap/surveys/?s=NTRAMCH97E หรือแสกน QR-Code ตามภาพ
ผู้ที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นจะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่โครงการเพื่อคัดกรองข้อมูล ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์จะได้รับแจ้งทาง sms ภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 และเริ่มฉีดวัคซีนในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2564

วัคซีนโควิด ChulaCov19

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ที่พัฒนาวัคซีน ChulaCov19 และได้รับการยกย่องจาก www.nature.com เว็บไซต์วารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังของโลก โดยวัคซีนดังกล่าวได้ใช้เทคโนโลยี mRNA ทำให้คุณภาพ ChulaCov19 เทียบเท่าวัคซีน “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” สามารถรับมือกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกา) และ สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) รวมถึงยังอาจพัฒนาให้รับมือกับสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ได้อีกด้วย

การทดสอบความสามารถของวัคซีน ChulaCov19 นี้จะใช้ผลการทดสอบเทียบกับตัวอย่างเลือดจากผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer ในต่างประเทศ และ AstraZeneca จากประเทศไทย หากผลการทดสอบพบว่าภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีน ChulaCov19 เทียบเท่าหรือดีกว่าภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer และ AstraZeneca ก็น่าที่จะขออนุมัติเป็นการพิเศษเพื่อให้วัคซีนถูกนำมาใช้ในประเทศโดยเร่งด่วนได้

ทั้งนี้ หากผลการทดสอบเป็นไปได้ด้วยดี ประเทศไทยก็จะสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นแหล่งผลิตวัคซีนชนิด mRNA ที่สำคัญประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย และเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่สามารถพัฒนาวัคซีนชนิดนี้ขึ้นมาเองได้

สำหรับจุดเด่นของวัคซีน ChulaCov19

  1. จากการทดสอบความทนต่ออุณหภูมิของวัคซีน พบว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่นเป็นอย่างมาก
  2. ผลการทดสอบในสัตว์ผ่านเกณฑ์ดีมาก จากการทดลองในหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ พบว่า เมื่อหนูได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ แล้วให้หนูทดลองได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า เมื่อทดสอบความเป็นพิษก็พบว่าปลอดภัยดี ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเกิดอาการป่วยโควิด-19 ภายใน  3-5 วัน และทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือด ในจมูก และปอด เป็นจำนวนมาก
  3. วัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็วไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้ออย่างวัคซีนบางชนิด แต่วัคซีนชนิด mRNA เพียงรู้สายพันธุ์ของเชื้อก็ไปออกแบบวัคซีนได้ สังเคราะห์ในหลอดทดลองไม่เกิน 4 สัปดาห์มีวัคซีนมาทดสอบในหนูได้ การที่ผลิตได้รวดเร็วนี้ทำให้ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ นอกจากนี้เมื่อเกิดเชื้อกลายพันธุ์ก็สามารถสังเคราะห์วัคซีนได้เร็วเช่นกัน

ที่มาข้อมูล :

https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/thailand-vaccine-chulacov19/ จุฬาฯ เริ่มฉีดทดลองในมนุษย์ครั้งแรกแล้ววันนี้!
https://www.chula.ac.th/clipping/47417/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง