การกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)ต้องทำอย่างไร
การระบาดของโรคโควิด-19 ขยายวงกว้าง การปรับรูปแบบการรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์จึงจำเป็น
.
รัฐบาลจึงมีแนวคิด #การกักตัวได้ที่บ้าน Home Isolation ในกลุ่มผู้ที่ไม่มีอาการ (สีเขียว) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการเตียงใน รพ.สนาม ทำให้มีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยอาการหนัก
.
เบื้องต้นผู้ป่วยที่เข้าข่ายสามารถกักตัวที่บ้าน ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ พยาบาลนั้น มีลักษณะดังนี้

มีอายุน้อยกว่า 60 ปี และไม่มีอาการ (asymptomatic cases)
มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อยู่คนเดียว/ มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย > 30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว > 90 กก.)
ไม่ป่วยเป็น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
สำหรับผู้ป่วยที่สามารถกักตัวที่บ้านได้นั้น มีข้อปฏิบัติตัวดังนี้
- ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้านระหว่างแยกกักตัว
- ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
- แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน
- สวมหน้ากากอนามัย / หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องที่พักอาศัย
- ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น
- แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ พร้อมทำความสะอาดอยู่เสมอ
สิ่งสำคัญ คือ ให้สังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากมีอาการแย่ลง เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูงลอย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่รักษาอยู่
ทั้งนี้ สปสช. ได้ตรียมพร้อมดำเนินการด้านต่าง ๆ เช่น จัดซื้ออุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยแยกกักตัว เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด ที่วัดอุณหภูมิร่างกาย ยาดูแลรักษา เป็นต้น พร้อมสนับสนุนโรงพยาบาลวันละ 1,000 บาท/ราย เป็นค่าติดตาม/ค่าอาหาร 3 มื้อของผู้ป่วย
.
โดยแนวคิดดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบต่าง ๆ ไว้แล้ว และอยู่ในกระบวนการพิจารณาของ ศบค. กทม. ระยะต่อไป