ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เตรียมรับมือ กรมชลปล่อยน้ำเพิ่มมากขึ้น

ล่าสุด กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำ

กรมชลประทาน แจ้งปรับลดการระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในวันนี้ (28 ก.ค. 2565) ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป หลังสถานการณ์น้ำทางตอนบนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

เขื่อนเจ้าพระยา #น้ำเหนือ #สถานการณ์น้ำ

กรมชลฯ ประกาศแจ้งเตือน! พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา

(26ก.ค.65) กรมชลประทาน ประกาศแจ้งเตือนพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยารับมือน้ำเพิ่มสูงขึ้น เหตุจากฝนตกชุกทางตอนบน ส่งผลให้น้ำเหนือยังคงเพิ่มสูงขึ้น พร้อมควบคุมน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ระหว่าง 1,000 – 1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที)  

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณลุ่มน้ำน่านและลำน้ำสาขา รวมถึงแม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำป่าสัก

กรมชลประทาน คาดการณ์ว่า ใน 1 – 3 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2565 แม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,200 – 1,300 ลบ.ม./วินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะเเกกรัง ที่สถานี Ct.19 จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 100 ลบ.ม./วินาที  รวมกับปริมาณน้ำท่าจากลำน้ำสาขาอื่นๆ อีกประมาณ 150 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1,450 – 1,550 ลบ.ม./วินาที 

กรมชลประทาน มีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ในอัตราระหว่าง 1,000 – 1,250 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.50 เมตร ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีแนวโน้มว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ล่าสุด 26 ก.ค. พื้นที่ลุ่มต่ำ 3 อำเภอ ยังมีปริมาณน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1 เมตร ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำ 850 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจากปริมาณน้ำดังกล่าวจะใช้เวลา 35 ชั่วโมง มวลน้ำจะไหลมาถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้แจ้งเตือนไปยังอำเภอในพื้นที่ลุ่มต่ำ 3 อำเภอ ได้แก่ ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และอำเภอบางบาล ซึ่งบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำให้ยกของขึ้นที่สูงแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือมวลน้ำที่จะมาถึง ซึ่งมวลน้ำทุก 100 ลบ.ม. จะส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้น 25 เซนติเมตร ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมใต้ถุนบ้านในพื้นที่ลุ่มต่ำ

กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมแจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนบริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายธนากร ตันติกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากกรณีฝนตกหนักทางตอนบนและภาคกลาง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น จึงคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ประมาณ คือ 850-1,000 ลบ.ม./วินาที ภายในไม่เกินสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ เบื้องต้น ระบายน้ำเข้าพื้นที่รับน้ำ ฝั่งตะวันตก-ตะวันออก เหนือเขื่อนเจ้าพระยา

การระบายน้ำเพิ่มเติม ที่ 998 ลบ.ม./วินาที ขึ้นไป จะทำให้พื้นที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง / ต.สีกุก อ.บางบาล – ต.หัวเวียง อ.เสนา – ต.กุฎี ต.ลาดชิด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและถูกน้ำท่วมก่อนพื้นที่อื่น จะมีน้ำท่วมประมาณ 60-80 ซม. ซึ่งจะพยายามระบายน้ำท้ายเขื่อนไม่ให้เกิน 1,000 ลบ.ม./วินาที ในระยะนี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง