เตรียมจัดงานไกล่เกลี่ย ช่วยเหลือลูกหนี้ค้างชำระ กยศ.

เตรียมจัดงานไกล่เกลี่ย ช่วยเหลือลูกหนี้ค้างชำระ กยศ.

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้ความช่วยเหลือ ผู้กู้ยืมเงิน กยศ.ที่มีหนี้ค้างชำระติดต่อกันหลายงวด ซึ่งอาจถูกบอกเลิกสัญญาและถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เตรียมจัดงานไกล่เกลี่ย ช่วยเหลือลูกหนี้ค้างชำระ กยศ.

“คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่  5 ตุลาคม 2564 รับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย รัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเสนอนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง เพื่อการแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชนภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยกระทรวงมีนโยบายด้านการอำนวยความเป็นธรรม  ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนดำเนินการการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนที่เป็นหนี้รายย่อย หนี้ครัวเรือน หนี้เกษตรกร และหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ด้วยการนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งก่อนฟ้องคดีและหลังฟ้องคดีมาใช้ยุติหรือระงับข้อพิพาท”

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

“กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกองทุนเงินให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ได้บูรณาการความร่วมมือเพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่กรณีเป็นสำคัญ ทำให้ข้อพิพาทยุติได้ก่อนขึ้นสู่ศาล ลดปัญหาความขัดแย้ง ลดค่าใช้จ่าย ในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างคู่กรณีและความสมานฉันท์ในสังคม ภายหลังจากลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ทั้งสองหน่วยงานจะได้ร่วมกันจัดมหกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้แก่ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่มีจำนวนกว่าหนึ่งล้านรายทั่วประเทศ”

นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

“กองทุนได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในการให้ความช่วยเหลือ ผู้กู้ยืมที่มีหนี้ค้างชำระติดต่อกันหลายงวด ซึ่งอาจถูกบอกเลิกสัญญาและถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการชำระหนี้ของผู้กู้ยืม ลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม ลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาล รวมถึงเป็นการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง โดยสามารถติดตามรายละเอียดการจัดงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ทาง www.studentloan.or.th

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ การปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ และปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน

คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้และเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระสำหรับผู้กู้ยืมกลุ่มก่อนฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระ และลดปัญหาหนี้ค้างชำระของกองทุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้

1. การปรับโครงสร้างหนี้

กลุ่มเป้าหมาย

สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี กรณีไม่สามารถผ่อนชำระเงินคืนตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้ยืมเดิมได้

เงื่อนไข

  • สามารถผ่อนได้สูงสุด 30 ปี แต่ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
  • กองทุนจะให้ผู้กู้ยืมมาตกลงขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน โดยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เงื่อนไขการผ่อนชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน
  • กองทุนจะคำนวณยอดหนี้คงเหลือใหม่ โดยนำเงินที่ผู้กู้ยืมชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนมาแล้วทั้งหมดมาปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระใหม่ โดยตัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นตามงวดครบกำหนดชำระหนี้ จนครบจำนวนเงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระมาเท่านั้น สำหรับเบี้ยปรับในอดีตที่ตัดชำระไปแล้ว ถือว่าผู้กู้ยืมได้ชำระครบถ้วนแล้ว
  • จากนั้นกองทุนจะนำเงินต้นคงเหลือและดอกเบี้ยคงเหลือใช้เป็นยอดหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนเบี้ยปรับคงค้างที่สะสมอยู่ในระบบจนถึงปัจจุบัน กองทุนจะให้ส่วนลดเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 80 และให้ชำระเบี้ยปรับคงเหลือร้อยละ 20 ในงวดสุดท้าย

วิธีการ

  • ผู้กู้ยืมสามารถแจ้งความประสงค์ขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่แอปพลิเคชัน กยศ.Connect  หรือทางเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป โดยผู้กู้ยืมต้องตรวจสอบข้อมูลของตนเองและผู้ค้ำประกัน และ Update ข้อมูลต่างๆให้เป็นปัจจุบัน เช่น เบอร์โทรศัพท์ e-mail ที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ สถานที่ทำงาน โดยมีขั้นตอนการแจ้งความประสงค์เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ดังนี้ 

       – ลงชื่อเข้าใช้งาน กรอกเลขประจำตัวประชาชน และรหัสผ่าน

       – เลือกเมนูขอปรับโครงสร้างหนี้ “ยื่นคำขอปรับโครงสร้างหนี้”

       – เข้าสู่หน้ายืนยันข้อมูล ระบบจะให้ตรวจสอบข้อมูลที่ปรากฏ พร้อมให้ระบุ “เบอร์โทรศัพท์มือถือ

         (เบอร์ปัจจุบันที่ติดต่อได้)” ทำเครื่องหมายถูกหน้าช่อง “ข้าพเจ้ายืนยันข้อมูลฯ” จากนั้นกดปุ่ม “ยืนยัน”

       – หากสำเร็จระบบจะแสดงข้อความว่า “ระบบได้ส่งคำขอปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ท่านมีหน้าที่ตรวจสอบและบันทึกข้อมูล

         เพิ่มเติมเมื่อได้รับแจ้งจากกองทุน”

  • ขั้นตอนการตรวจสอบคำขอปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.

       ​- กลับมาที่หน้าหลัก กดเลือก “ตรวจสอบรายละเอียดคำขอ”

       – ระบบจะแสดงหน้ารายละเอียดข้อมูลคำขอ จากนั้นให้ตรวจสอบตรงช่องสถานะ ระบบจะขึ้นข้อความว่า

        “ลงทะเบียน/รอตรวจสอบและบันทึกข้อมูล”

2. การปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่

กลุ่มเป้าหมาย

สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินคืนกองทุนที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี

เงื่อนไข

จากเดิมกองทุนมีวิธีการตัดลำดับการชำระหนี้ โดยตัดชำระเบี้ยปรับค้างชำระสะสม ดอกเบี้ยค้างชำระสะสม แล้วจึงตัดเงินต้นค้างชำระของงวดที่ค้างนานที่สุดก่อนตามลำดับ กองทุนจะปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระใหม่ โดยจะนำเงินที่ได้รับชำระหนี้ไปตัดชำระเงินต้น และดอกเบี้ยของแต่ละงวด เริ่มจากงวดที่นานสุดก่อนแล้วจึงค่อยตัดชำระยอดหนี้ที่ค้างชำระนานรองลงมาตามลำดับ จนถึงงวดปัจจุบัน หากมีเบี้ยปรับให้นำมาชำระในงวดสุดท้าย

3. การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน

กลุ่มเป้าหมาย

สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ และผู้กู้ยืมที่ยังไม่ครบกำหนดชำระเงินคืน ลักษณะที่ 1 ลักษณะที่ 2 และลักษณะที่ 3

เงื่อนไข

  • จากเดิมต้องผ่อนงวดชำระเป็นรายปี กองทุนจะปรับให้ผู้กู้ยืมผ่อนงวดชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน โดยกำหนดชำระทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน
  • เพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนจากเดิมไม่เกิน  15 ปี ปรับเป็นไม่เกิน 30 ปี ขึ้นอยู่กับยอดหนี้เงินกู้ยืมของผู้กู้ยืมแต่ละราย
  • ชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ 

แนวทางในการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมที่ถูกหักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง

  • ผู้กู้ยืมสามารถขอปรับลดจำนวนเงินที่นายจ้างหักและนำส่งกองทุนเพื่อชำระเงินงวดที่จะครบกำหนด วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และ/หรือผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระเป็นรายเดือน จากเดิมต้องไม่น้อยกว่า 100 บาทต่อเดือน เป็นคงเหลือต้องไม่น้อยกว่า 10 บาทต่อเดือน เป็นการชั่วคราว
  • มีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 – มิถุนายน 2565
  • ผู้กู้ยืมจะต้องแจ้งความประสงค์ขอปรับจำนวนเงินดังกล่าวต่อกองทุนผ่านแอปพลิเคชัน กยศ.Connect
  • ผู้กู้ยืมยังคงมีหน้าที่ไปชำระส่วนต่างตามช่องทางที่กองทุนกำหนดให้ครบตามจำนวนเงินงวดที่ต้องชำระตามเงื่อนไขของสัญญารายเดือน (ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน) และเงื่อนไขการชำระหนี้ของสัญญารายปี (ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2565) แล้วแต่กรณี มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดนัดชำระหนี้และต้องชำระเงินเพิ่มอันได้แก่ เบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระเงินคืนตามอัตราที่กองทุนฯ กำหนดของเงินต้นงวดที่ค้างชำระ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการหักเงินได้พึงประเมินด้วยระบบรับชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาผ่านกรมสรรพากร (e-PaySLF)
  • หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ไลน์บัญชีทางการ กยศ.หักเงินเดือน

ติดต่อสอบถาม สแกน QR Code

Line บัญชีทางการ กยศปรับโครงสร้างหนี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง