ไทยคู่ฟ้า17 กันยายน เวลา 19:00 น. ·
#ไทยคู่ฟ้า เปิดหลักเกณฑ์ ช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม
#ลำดับเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่จากอิทธิพลของพายุโพดุลและคาจิกิ
รัฐบาลโดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนภัยผ่านสื่อทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง
ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 62 ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 32 จังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนักที่สุดคือ จ.อุบลราชธานี
รัฐบาลสั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยแบบเฉพาะหน้าอย่างทั่วถึง และพยายามระบายน้ำออกจากพื้นที่วิกฤตให้ได้มากที่สุด
เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร จิตอาสา บูรณาการอพยพผู้ประสบภัย ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จัดส่งอาหาร น้ำ ยารักษาโรค ระดมเครื่องมืออุปกรณ์ เรือ เข้าช่วยเหลือประชาชนและขนย้ายทรัพย์สิน พร้อมทั้งผลักดันน้ำที่ท่วมขังในทุกรูปแบบ โดยมีอาสาสมัครกู้ภัยเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่
นายกฯ ลงพื้นที่ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ จ.พิษณุโลก สุโขทัย ยโสธร อุบลราชธานี และตรวจความพร้อมการบริหารจัดการน้ำภาคใต้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช
นายกฯ สั่งการให้เร่งสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด และฟื้นฟูให้กลับสู่ภาวะปกติ พร้อมทั้งจ่ายเงินชดเชยเยียวยากรณีเสียชีวิต บ้านพักอาศัยเสียหาย พื้นที่เกษตรและเครื่องมือประกอบอาชีพเสียหาย ฯลฯ อย่างเต็มที่
#หากใครที่ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจะพบว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแก้ไขปัญหาและดูแลประชาชน ที่ผ่านมามีทั้งรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่าย ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องและทำงานกันอย่างหนัก
หลายคนอาจจะรู้สึกว่าหน่วยงานราชการทำงานล่าช้าและไม่ทั่วถึง แต่ท่ามกลางสภาพพื้นที่ประสบภัยที่กว้างขวางและมีข้อจำกัด จำนวนผู้เดือดร้อนที่มีมากมาย เจ้าหน้าที่และจิตอาสาต่างทุ่มเท เสียสละ เพื่อประชาชนแบบปิดทองหลังพระ
นอกจากนี้ การใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยนั้นมีในแผนอยู่แล้วเช่นเดียวกับทุกครั้ง แต่การเบิกจ่ายเงินซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดิน จำเป็นต้องมีความถูกต้องชัดเจน เพื่อไม่ให้ถูกครหาว่าไม่โปร่งใส และจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ ต้องสำรวจและให้ความช่วยเหลือในทุกมิติ เช่น การครองชีพพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร เครื่องมือทำมาหากิน ฯลฯ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง
.
ส่วนขณะที่น้ำยังท่วมอยู่จะเน้นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ผู้ประสบภัยมีความปลอดภัยและดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสม
ตาม ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 กำหนดให้ส่วนราชการมีวงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 50 ล้านบาท สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด แห่งละ 20 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เกษตร มหาดไทย หน่วยงานละ 50 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และสาธารณสุข หน่วยงานละ 10 ล้านบาท เป็นต้น
แต่การเบิกจ่ายต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ และใช้อย่างคุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน ไม่สูญเปล่า โดยยกตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่
– ค่าจัดหาสิ่งของในการดำรงชีพเบื้องต้น กรณีที่อยู่อาศัยเสียหาย ครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาท /ค่าวัสดุซ่อมแซมหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยประจำหลังละไม่เกิน 33,000 บาท /ค่าวัสดุซ่อมแซมหรือสร้างยุ้งข้าว โรงเรือนเก็บพืชผลและคอกสัตว์ที่เสียหาย ครอบครัวละไม่เกิน 5,000 บาท /ค่าเช่าบ้านกรณีบ้านเช่าเสียหายจนอยู่ไม่ได้ ครอบครัวละไม่เกิน 1,700 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน
– ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ หรือเงินทุนเลี้ยงครอบครัว ครอบครัวละไม่เกิน 11,000 บาท /ค่าช่วยเหลือเบื้องต้นผู้บาดเจ็บสาหัสและต้องรักษาในสถานพยาบาล 3 วันขึ้นไป 3,000 บาท /ค่าช่วยเหลือเบื้องต้นผู้บาดเจ็บจนถึงขั้นพิการ 10,000 บาท /ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 25,000 บาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัว ให้เพิ่มอีกได้ไม่เกิน 25,000 บาท
– เงินช่วยเหลือกรณีพื้นที่เพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายสิ้นเชิง ไม่เกินรายละ 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่น ๆ ไร่ละ 1,690 บาท /ค่าจ้างขุดลอก ขนย้ายหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน หรือซากที่ทับถมพื้นที่แปลงเกษตร ไม่เกิน 5 ไร่ ไร่ละไม่เกิน 7,000 บาท
– เงินช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล ปูทะเล หอยทะเล ไม่เกินรายละ 5 ไร่ ไร่ละ 10,920 บาท /ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือร่องสวน ไม่เกินรายละ 5 ไร่ ไร่ละ 4,225 บาท /สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ ไม่เกินรายละ 80 ตร.ม.ๆ ละ 315 บาท
.
– เงินช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย เช่น โค ไม่เกินรายละ 2 ตัว ตัวละไม่เกิน 6,000 – 20,000 บาท /สุกร ไม่เกินรายละ 10 ตัว ตัวละไม่เกิน 1,300 – 3,000 บาท /แพะ ไม่เกินรายละ 10 ตัว ตัวละไม่เกิน 1,000 – 2,000 บาท /ไก่ไข่ ไม่เกินรายตัว 1,000 ตัว ตัวละไม่เกิน 20 – 80 บาท /ไก่เนื้อ ไม่เกินรายตัว 1,000 ตัว ตัวละไม่เกิน 20 – 50 บาท เป็นต้น
.
นอกจากนี้ ยังมีเงินช่วยเหลือจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับบริจาคจากประชาชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2542 เพิ่มเติมอีก เช่น
.
– ค่าจัดการศพ กรณีเสียชีวิต รายละ 50,000 บาท /ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายทั้งหลัง รายละไม่เกิน 230,000 บาท /ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายบางส่วน รายละไม่เกิน 15,000 – 70,000 บาท เป็นต้น
.
ขณะที่สถาบันเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ธอส. ธ.ออมสิน ธ.กรุงไทย ธนาคาร SME สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ยังได้ออกมาตรการให้สินเชื่ออัตราพิเศษ ขยายเวลาชำระหนี้ พักชำระหนี้ ฯลฯ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภัยอีกด้วย
.
ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันดูแลประชาชนผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย โดยไม่ทอดทิ้งใครแน่นอน โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่าแม้บางคนจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็จะต้องดูด้วย รวมทั้งขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกพื้นที่ตามกำลังของตนเอง เพื่อให้เราก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
………………….
อ้างอิงจาก
1) ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562
2) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2542
3) หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556
4) หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556
“วิษณุ”แจงเงินบริจาคช่วยน้ำท่วมแจกแบบเอกชนไม่ได้ – 19 กันยายน 2562
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการจัดสรรเงินบริจาคน้ำท่วมในโครงการ ร่วมใจพี่น้องไทยช่วยภัยน้ำท่วม จำนวน กว่า 263 ล้านบาท ว่า การจัดสรรงบประมาณต้องจัดสรรผ่านกองทุนบรรเทาสาธารณภัยของรัฐที่มีระเบียบปฎิบัติตายตัวอยู่แล้วจะเอาไปแจกแบบเอกชนไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบความเสียหาย และต้องรายงานผ่านกรมบรรเทาสาธารณภัย หรือทางจังหวัด จะให้เอาเงินไปเดินแจกแบบที่นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เปิดรับบริจาคก็ทำไม่ได้ เพราะเงินส่วนนี้อยู่ภายใต้การตรวจสอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เพราะถ้าทำเช่นนั้นจะเกิดปัญหาความไม่โปร่งใส เลือกที่รักมักที่ชัง ซึ่งเคยมีคดีความมาแล้วใน ป.ป.ช. ยืนยันว่า การจัดสรรเงินส่วนนี้จะไม่ซ้ำกับเงินบริจาคของนายบิณฑ์ ที่มุ่งเน้นการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคในการช่วยเหลือ แต่เงินกองทุนของรัฐบาลจะเอาไปช่วยในลักษณะการฟื้นฟู เยียวยา เช่น ซ่อมบ้าน แต่ไม่รวมการซ่อมถนนเพราะต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน
โดยนายกรัฐนตรี ได้วางแนวทางการช่วยเหลือไว้แล้ว 3 ระยะ คือ การป้องกันก่อนเกิดเหตุ ระหว่างกำลังเกิดเหตุ และฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ ส่วนกระแสวิพากวิจารณ์เข้าไปช่วยเหลือช้ากว่าภาคเอกชนนั้น นายวิษณุ ยอมรับเพราะกลไกของภาครัฐทำให้ต้องเป็นเช่นนั้น ส่วนการที่หน่วยงานราชการและกระทรวงต่างๆ นำงบประมาณมาบริจาค ยืนยันว่า สามารถทำได้ เพราะแต่ละหน่วยงานมีงบฯในกรณีจำเป็นฉุกเฉินอยู่แล้ว แม้แต่ตัวเองลงพื้นที่ต่างจังหวัด ยังสามารถอนุมัติงบฯ เชตละ 50 ล้านบาท