#SaveLosin “เกาะโลซิน” เกาะมูลค่ามหาศาล ของน่านน้ำไทย

ปฏิบัติการตัดอวนขนาดใหญ่ปกคลุมปะการังบริเวณเกาะโลซิน จว.ปัตตานี เกาะสำคัญยิ่งของไทย

วันแรกของภารกิจเก็บกู้ซากอวนที่ปกคลุมบนแนวปะการังเกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี 

ในวันที่ ๑๙  มิถุนายน ๒๕๖๔ จากภารกิจเก็บกู้ซากอวนที่ปกคลุมบนแนวปะการังเกาะโลซิน กองทัพเรือ โดย ทัพเรือภาคที่ ๒ พลเรือโท สำเริง จันทร์โส ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ ๒ ได้ส่งเรือหลวงราวี และเรือ ต.๙๙๑ ออกเดินทางจากท่าเทียบเรือฐานทัพเรือสงขลา ทัพเรือภาคที่ ๒ พร้อมกับชุดปฏิบัติการเก็บกู้ซากอวนฯ ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๘๐๐ ระยะทางถึง เกาะโลซิน ๘๓ ไมล์ทะเล

โดยภารกิจของวันนี้ (๑๙ มิ.ย.๖๔) เข้าร่วมสนับสนุนกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจแก้ปัญหาอวนขนาดใหญ่ปกคลุมปะการังบริเวณเกาะโลซิน จว.ปัตตานี โดยมีกำลังจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ เรือหลวงราวี เรือ ต.๙๙๑ ชุดปฏิบัติการพิเศษ ทัพเรือภาคที่ ๒  และ เจ้าหน้าที่ นักประดาน้ำกองทัพเรือ จำนวน ๑๖ นาย เรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)และนักดำน้ำ ทช. นักดำน้ำอาสาสมัคร จำนวน ๒๖ นาย และช่างถ่ายภาพใต้น้ำ จำนวน ๖ นาย

 ซึ่งภายหลังการสำรวจและประชุมวางแผน ทีมกู้อวนได้จัดชุดดำน้ำลงตัดอวนออกเป็นผืนย่อยขนาด 3 x 3 เมตร ให้ลอยขึ้นโดยใช้บอลลูนขนาดเล็ก ทำให้อวนที่ตัดแล้วลอยขึ้นและจะทำให้เกิดความเสียหายต่อปะการังน้อยที่สุด โดยทำการดำในช่วงเช้า ๑ ครั้ง แล้วในช่วงบ่ายอีก ๑ ครั้ง โดยสภาพอากาศในวันนี้ท้องฟ้าค่อนข้างแจ่มใส ทำให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถปฏิบัติได้ตามแผนที่วางไว้ โดยในวันนี้สามารถตัดอวนขึ้นมาได้ประมาณ ๕๐%

สำหรับแผนการในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ จะทำการดำอีก ๒ เที่ยวเพื่อทำการตัดอวนที่เหลือ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จสิ้นในช่วงเย็น ทั้งนี้ ได้เก็บตัวอย่างซากอวน เพื่อเตรียมการขยายผลหาเรือที่ทำการตัดอวนจนเกิดปัญหาดังกล่าวต่อไป


#SaveLosin #ทัพเรือภาคที่ ๒ #ศรชล.ภาค ๒ #กองทัพเรือ

ขอบคุณที่มา : ทัพเรือภาค 2 http://www.nac2.navy.mi.th/index.php/main/detail/content_id/1235

ความสำคัญของเกาะโลซินตาอประเทศไทย

“เกาะโลซิน (Kho losin)เกาะที่เล็กสุดในประเทศ
กองหินโสโครกกลางอ่าวไทย แต่มีมูลค่ายิ่งกว่าโคตรเพชร..”

ขอบคุณที่มา ข่อมูลเกาะโลซิน @สงคราม ประวัติศตร์

เพจ สงคราม ประวัติศาสตร์

เกาะโลซิน (Kho losin)เกาะที่เล็กสุดในประเทศ
กองหินโสโครกกลางอ่าวไทย มูลค่ายิ่งกว่าโคตรเพชร..

เกาะโลซิน เป็นเกาะหินปูน อยู่ในทะเลอ่าวไทย ห่างจากหาดวาสุกรีในเขตอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ประมาณ 72 กิโลเมตร เป็นแหล่งปะการังที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชใต้น้ำและฝูงปลานานาชนิด เป็นที่นิยมของนักดำน้ำ และ นักตกปลา และเป็นที่ตั้งของประภาคาร ที่มีไฟสัญญาณเตือน อยู่บนยอดประภาคาร และตัวประภาคารตั้งอยู่บนหินโผล่น้ำที่มีขนาดประมาณ 10 เมตร

กองหินกลางทะเลเวิ้งว้างในอ่าวไทย โผล่พ้นน้ำขึ้นมาไม่เกิน 100 ตารางเมตร สภาพส่วนใหญ่เป็นหินล้วน ๆ ไม่มีต้นไม้ใบหญ้า ห่างจาก ชายฝั่งอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทาง 106 กิโลเมตร นี้แหละคือเกาะที่สร้างมูลค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ให้แก่ประเทศไทย ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครรู้จักนอกจากชาวประมงและนักดำน้ำเพราะปะการังที่นี่สวยมาก

ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังของเกาะนี้กลับเป็นตำนานของโครงการมูลค่ามหาศาลหลายแสนล้าน หรืออาจเรียกได้ว่า เกาะโลซินเป็นเกาะที่มีมูลค่าเท่ากับโคตรเพชรเลยก็ได้

เพราะหากไม่มีเกาะโลซิน วันนี้เราก็คงไม่มีสิทธิ์บนพื้นที่สัมปทานก๊าซกลางอ่าวไทย พื้นที่ครอบคลุมมากกว่า 7,000 ตารางกิโลเมตร และมีแหล่งสำรองก๊าซให้ประเทศถึง 5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือเท่ากับ 50% ของแหล่งก๊าซที่มีอยู่ของไทยทั้งหมด

ใช่แล้ว..เกาะโลซินมีความเกี่ยวพัน กับโครงการขุดเจาะก๊าซกลางอ่าวไทยที่เรียกว่า พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียอย่างแนบแน่น
แสดงที่ตั้งของเกาะโลซิน ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งมากเลยทีเดียว …..

ไทยและมาเลเซียได้เจรจาเรื่องเส้นเขตแดนในทะเลอาณาเขต ในปี 2515 สามารถทำความตกลงกันได้ ตั้งแต่กึ่งกลาง ปากแม่น้ำโกลกออกไปในทะเล 36 ไมล์ทะเลเท่านั้น เพราะเพราะหากยึดตามข้อตกลงสากลแบ่งพื้นที่กลางทะเล ด้วยวิธีลากเส้นตั้งฉากจากแนวโค้งของแผ่นดินแต่ละฝ่ายขึ้นไป โดยลักษณะแผ่นดินของมาเลเซียที่งุ้มเข้ามาในอ่าวไทย ขณะที่แผ่นดินของไทยกลับเทลาดออกไป หากลากเส้นตามหลักดังกล่าว เส้นนั้นจะทำมุมออกไปในอ่าวไทยแนวตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจาอย่างมาก การเจรจาจึงหยุดไปหลายปี

มีการเจรจากันต่ออีกครั้งเมื่อปี 2521 เพื่อจะต่อเส้นเขตแดนในเขตไหล่ทวีปออกไปให้บรรจบกับเส้น claim ของเวียดนามที่กลางอ่าวไทยตอนล่าง การเจรจาครั้งนี้บรรยากาศไม่ราบรื่นเหมือนการเจรจาครั้งแรก เพราะประเทศไทยได้นึกถึง โลซิน หินโสโครกร้างกลางทะเล กระโจมไฟกลายเป็นหลักฐานที่สำคัญ ในการอ้างสิทธิ์ของไทย ต่อกองหินร้างนี้ แต่กองหินนั้นไม่ใช่ เกาะ ประเทศไทยจึงไม่อาจอ้างสิทธิ์พื้นที่ทางทะเลได้

แต่โชคเป็นของฝ่ายไทยอีกครั้ง ที่เรายังคงใช้กฎหมายทะเลดั้งเดิม 4 ฉบับ ตามอนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ.1958 ซึ่งประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ซึ่งกำหนดไว้เพียงว่า แม้เป็นหินกองหินที่โผล่พ้นน้ำ ก็สามารถนิยามว่าเป็นเกาะได้ เมื่อได้ชื่อว่าเป็นเกาะ ก็ย่อมมีไหล่ทวีปเป็นของตัวเอง มีผลไปถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะ การกำหนดอาณาเขต ผลประโยชน์และอำนาจอธิปไตยทางทะเล

มาเลเซียไม่ต้องการเจรจาโดยใช้เส้นเขตแนวนี้ ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะการอ้างอธิปไตยเหนือเกาะโลซิน ทำให้เส้นเขตแนวเกิดเป็นสองแนว แนวที่ลากเป็นเส้นตั้งฉากจากฝั่งออกไปในทะเล ประเทศไทยเสียเปรียบ ส่วนแนวที่ลากโดยยึดถือ เส้นแนวเกาะโลซิน ประเทศมาเลเซีย เสียเปรียบ ทำให้เกิดเป็นพื้นทีทับซ้อนทางทะเล เป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีอาณาเขตถึง 7250 ตารางกิโลเมตร

การเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ดูเหมือนจะมาถึงทางตัน บรรยากาศทางการเมืองก็ตึงเครียดขึ้น จากปัญหาเรือประมงไทยเข้าไปจับปลาในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนนี้แล้ว ถูกเจ้าหน้าที่มาเลเซียจับไปดำเนินคดี ขณะนั้นนายกรัฐมนตรีของไทยคือ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย คือ ดาโต๊ะ ฮูสเซน ออน ทั้งสองท่านมีความสนิทสนมกันเป็นส่วนตัว จึงได้ตกลงใจที่จะคลี่คลายปัญหานี้ โดยกำหนดให้มีการ เจรจา ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2522

ผลของการเจรจา คือ ความตกลงจัดตั้งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว ความตกลงนี้เรียกกัน ว่า MOU เชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันเราเรียกว่า JDA ซึ่งต้องแบ่งปันผลประโยชน์คนละครึ่งหนึ่งกับมาเลเซีย นั่นเอง

ภายหลังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงมีการสำรวจ พบว่ามีแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลในพื้นที่ ถึง 5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือเท่ากับ 50% ของแหล่งก๊าซที่มีอยู่ของไทยทั้งหมดโดย 75 เปอร์เซ็นต์อยู่ในพื้นที่ด้านล่างสามเหลี่ยม ในซีกพื้นที่ของมาเลเซีย

หากไม่มี “โลซิน” ไทยย่อมไม่อาจอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อน ขนาด 7250 ตารางกิโลเมตร

หากไม่มี “โลซิน” ไทยก็จะไม่มีสิทธิ์ในแหล่งก๊าซมูลค่ามหาศาลกลางอ่าวไทย

หากไม่มี “โลซิน” เราก็คงไม่มีเส้นเขตแดนที่มีอธิปไตยทางทะเลด้านใต้อ่าวไทยลงไปถึงตรงจุดนี้

และหากไม่มี “โลซิน” เราก็คงไม่มีแหล่งดำน้ำที่สวยงามกลางอ่าวไทย เช่นวันนี้..

สุดท้ายขอขอบคุณข้อมูลจาก www.t-pageant.com ,วิกิพีเดีย : สารานุกรมเสรี และภาพจากอินเตอร์เน็ตครับ ………
แอดมินรถไฟ…