ถึงยะลา .. ไหว้ศาลหลักเมืองยะลา
ประมาณ 17.30 น. เดินทางเข้ายะลา ข้ามสะพานแม่น้ำปัตตานี ซึ่งไหลมาจากเขื่อนบางลาง (บันนังสตา Post ต่อไป) เข้ายะลาผ่านด่านความมั่นคงก่อนเข้าเมือง ด่านนี้ตรวจ 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด เพราะเป็นด่านสุดท้ายก่อนเข้าเมืองยะลา
วิ่งตรงมา อ้าว วงเวียนโรงพยาบาลยะลาหายไป มีไฟแดงเข้ามาแทน รถติดนิดหน่อย หากเป็นวงเวียนคงไม่ติดแบบนี้หรือติด คงเพราะไม่ได้มายะลาเป็นเวลานานมาก อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปเล็กน้อย
แต่สถานที่หนึ่งไม่เคยเปลี่ยน เป็นศูนย์กลางทางใจของชาวยะลา คือ ศาลหลักเมืองยะลา ซึ่งตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของถนนหลักที่มาบรรจบกัน ณ วงเวียนหลักเมืองยะลาแห่งนี้
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองยะลานั่นเอง โดยศาลหลักเมืองของยะลามีลักษณะเสาเป็นแท่งกลม วัดโดยรอบได้ 105 เซนติเมตร ตัวเสาวางอยู่บนฐานที่มีลักษณะกลมเช่นกัน โดยแกะสลักลวดลายแบบไทยแล้วลงรักปิดทองรอบฐานชั้นบน พื้นที่ตรงกลางแกะสลักเป็นรูปนักรบโบราณถือโล่และดาบ ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิญญาณของแม่ทัพคนหนึ่งของพระเจ้าตากสินมหาราช สำหรับยอดเสาหลักเมืองนั้น แกะเป็นรูปพระพรหม 4 หน้า
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ยอดเสาหลักเมืองให้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 และนับแต่นั้นมาที่แห่งนี้ก็กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจ ชาวยะลาไปในที่สุด และหลังจากสักการะหลักเมืองกันแล้ว อย่าลืมเดินเล่นรอบ ๆ ตัวอาคารจัตรมุข ที่สร้างเป็นสวนสาธารณะที่มีความร่มรื่น สวยงาม
ด้านหนึ่งเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ มีปลาชุกชุม และนักท่องเที่ยว สามารถให้อาหารปลาได้ นอกจากนี้ทางจังหวัดยะลาจะจัดงานฉลองสมโภชศาลเจ้าพ่อหลักเมือง มีการออกร้าน ของหน่วยราชการต่าง ๆ การแสดงสินค้าและงานอาชีพมากมายตลอดแนววงเวียนของศาลหลักเมือง และยังมีมหรสพที่น่าสนใจให้ชมกันตลอดทั้ง 7 วัน 7 คืน ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม ถึงวันที่ 4 มิถุนายนของทุกปี
ผังเมืองยะลา ถูกได้รับว่าเป็นผังเมืองดีระดับโลก ด้วยการจัดสรรแบ่งโซนของพื้นที่ที่เป็นระเบียบ ถนนทุกสายไปรวมศูนย์กันในวงเวียน ผังเมืองที่ดีนี้หากย้อนไปใครเป็นผู้คิดและได้แรงบันดาลใจมาได้อย่างไร ข้อมูลได้ถูกบันทึกไว้ดังนี้
พระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) อดีตนายกเทศมนตรีเมืองยะลา และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นผู้วางรากฐานผังเมืองยะลาจนได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีผังเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามที่สุด พระรัฐกิจวิจารณ์ไม่เพียงแต่วางผังเมืองให้จังหวัดยะลาเท่านั้น แต่ยังได้สร้างความเจริญให้แก่ตัวเมืองยะลาในหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงและเป็นที่ประจักษ์ในฐานะ “คนดีศรียะลา” อยู่จนถึงปัจจุบัน คุณความดีของท่าน จึงเป็นแบบอย่างที่ดีและยิ่งใหญ่ให้แก่ลูกหลานชาวยะลาได้เรียนรู้และสืบสานแนวทางที่ดีนี้สืบต่อไป
พระรัฐกิจวิจารณ์เคยรับราชการ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดยะลาคนที่ 10 ระหว่าง พ.ศ.2456-2458 เมื่อออกจากราชการแล้วได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นเป็นสมาชิกสภาเทศบาล และได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีติดต่อกันถึง 2 สมัย ตั้งแต่ พ.ศ.2480-2488 ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองยะลา ท่านได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจเพื่อสร้างเมืองยะลาอย่างจริงจัง
โดยเริ่มตั้งเมืองยะลาที่ตำบลนิบง ตั้งแต่การวางผังเมืองเป็นวงเวียน 1-2 และ 3 เตรียมจัดผังสำหรับก่อสร้างสถานที่สำคัญของราชการ และให้การสนับสนุนจังหวัดในการย้ายศูนย์ราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา ศาลจังหวัดยะลา และสถานีตำรวจภูธรจังหวัดยะลา จากตำบลสะเตงมาตั้งอยู่ในเขตเทศบาล จัดหาศูนย์กลางของตัวเมืองร่วมกับบิดาของนายอดุลย์ ภูมิณรงค์ซึ่งต่อมาเป็นที่สร้างศาลหลักเมืองยะลา และยังได้ความร่วมมือช่วยเหลือสร้างสำนักสงฆ์วัดพุทธภูมิ โรงเรียนประชาบาลตำตำบลสะเตง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนเทศบาล 1) และสถานีตำรวจบ้านนิบง
พระรัฐกิจวิจารณ์ ได้ตัดถนนสายสำคัญๆ คือ จากสถานีรถไฟยะลา ไปยังกิโลศูนย์ (มลายูบางกอก) ช่วงที่ 1 คือ ถนนพิพิธภักดี เป็นถนนคู่มีต้นประดู่ขึ้นเรียงรายตลอดสายดูร่มรื่นสวยงาม และช่วงที่ 2 จาก หอนาฬิกาถึงกิโลศูนย์ คือ ถนนสุขยางค์ รวมถึงได้ตัดถนนสิโรรสที่เป็นถนนสายเอกของเทศบาลเมืองยะลา มีเกาะกลางถนนมีทางเท้าขนาดใหญ่ มีต้นเฟื่องฟ้าสวยงาม เป็นที่เชิดหน้าชูตาของเทศบาลเมืองยะลาและได้ตัดถนนสายย่อยอีกหลายสาย ได้แก่ ถนนยะลา ถนนไชยจรัส ถนนรัฐกิจ ถนนปราจิณ ถนนพังงา ถนนรวมมิตร และได้สร้างสนามเด็กเล่น และสนามฟุตบอลครั้งแรก ซึ่งตั้งอยู่หน้าสำนักงานเทศบาลเก่า ปัจจุบันเป็นศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา นอกจากนี้พระยารัฐกิจวิจารณ์ยังเอาใจใส่พัฒนากิจการด้านโรงแรม ตลาดสด และโรงภาพยนต์ให้มีขึ้นในเขตเทศบาลอีกด้วย
พระรัฐกิจวิจารณ์เป็นผู้มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เห็นได้จากการดำเนินกิจการของเทศบาล หากจะทำอะไรจะต้องขอความเห็นจากที่ประชุมของสมาชิกเทศบาลก่อนเสมอ ท่านเป็นผู้มีความเสียสละทั้งเวลาและทรัพย์สินส่วนตัวให้กับราชการเป็นอย่างมาก ท่านเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์อันดีกับบรรดาข้าราชการและประชาชน จากที่กล่าวมาข้างต้น นับได้ว่า พระรัฐกิจวิจารณ์เป็นบุคคลที่เสียสละ มีความคิดริเริ่ม มีความมุ่งมั่นศรัทธา ที่จะทำให้จังหวัดยะลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเทศบาลมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก จวบจนทุกวันนี้ สิ่งที่ท่านได้วางรากฐานไว้ให้ ได้รับการสานต่อให้เทศบาลนครยะลาเป็นเมืองที่มีผังเมืองที่ดี มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยที่สุดเมืองหนึ่งของประเทศไทย
ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยเป็นอย่างมาก
กราบศาลหลักเมืองยะลาเสร็จ วิ่งเข้าผังเมือง 4 เพื่อนอนบ้านพี่ชายพี่สาวสุดที่รัก พี่ชายบอกว่าไม่ต้องแวะที่ไหนมากินข้าวที่บ้านยะลาเลยนะ ไม่แวะๆแวะ 555 ถึงยะลากราบรูปพ่อแม่ละ Post ไปเขื่อนบางลาง หรือไปกินข้าวก่อนดีนะ เขียนมั่วๆ ดิบๆ ไปบ้างขออภัยนะ แต่อย่าลืมติดตาม Post ต่อไป