บ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่าน หลังจากทำธุระในกรุงเทพเสร็จ ก็ขับรถมุ่งตรงสู่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อจะไปเดินชมโบราณสถานครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ณ วัดพระศรีสรรเพชญและวัดไชยวัฒนาราม
แต่ระหว่างทางขอแวะชมเพนียดช้างกรุงศรีอยุธยากันก่อน แต่ไม่ได้ขึ้นขี้ช้าง เว้นให้น้องนักท่องเที่ยวชาวจีน เค้านั่งช้างชมกรุงเก่าอยุธยากัยตามสบาย
สำหรับราคานั่งช้างชมเมืองคิดเป็นระยะเวลา บริการขี่ช้าง ราคา200 บาทต่อ 10 นาที, 400 บาทต่อ 20 นาที, 500 บาทต่อ 30 นาที นอกจากนี้ยังมี การแสดงช้าง ให้อาหารช้าง ทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น.
วิหารพระมงคลบพิตรและวัดชีเชียง
เสร็จจากแวะเก็บบรรยากาศเพนียดช้างอยุธยาอย่องอร่อย เราไปต่อ ไปไหว้พระมงคลบพิตรในวิหารพระมงคลบพิตร ซึ่งอยู่ไม่ไกล
สันนิษฐานกันว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นราวแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยตามพงศาวดารวิหารพระมงคลบพิตรนั้น เดิมประดิษฐานอยู่ด้านทิศตะวันออกของ พระราชวังหลวง บางคนสันนิษฐานว่า เคยประดิษฐานอยู่กลางแจ้งที่วัดชีเชียงมาก่อน ในปี พ.ศ. ๒๑๔๖ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯ ให้ชลอมาไว้ทางด้านทิศตะวันตก แล้วให้สร้างมณฑปขึ้นครอบไว้ โดยมีหลักฐานจากภาพวาดของชาวตะวันตกที่เข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่าเป็นรูปร่างคล้ายๆมณฑป
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๔๖ แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ ยอดมณฑปต้องอสนีบาต (ฟ้าผ่า) ไฟไหม้เครื่องบนมณฑปหักพังลงมาต้องพระเศียรหัก สมเด็จพระเจ้าเสือ จึงโปรดฯให้แปลงมณฑปเป็นวิหารแต่ยังคงส่วนยอดของมณฑปไว้ แล้วซ่อมพระเศียรพระพุทธรูปใหม่ กระทั่งในรัชกาล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่หมด เปลี่ยนหลังคาคล้ายในปัจจุบัน เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายวิหารและพระพุทธรูปถูกไฟไหม้ ชำรุดทรุดโทรม เครื่องบนวิหารหักลงมาต้องพระเมาฬี และพระกรข้างขวาหัก
ภาพเศียรพระพุทธรูปในวัดต่าง ๆที่นำมาให้ชมในพระวิหารมงคลบพิตร
ระหว่างการเดินไปยังกราบพระมงคลบพิตรทั้งไปและกลับมายังลานจอดรถ จะมีร้านค้าสินค้าชุมชน อาหาร และของที่ระลึก ให้เลือกซื้อหาอุดหนุนมากมาย ซึ่งจัดแบ่งโซนแยกออกมาจาก อุทยานประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา เพราะพื้นที่อุทยานถือว่าเป็นเขต “มรดกโลก” หากไม่จัดสรรพื้นที่แยกกัน อาจเกิดปัญหากับพื้นที่มรดกโลกได้
หากใครได้เข้าไปในเขต “มรดกโลก” จะทำให้คนสมัยรัตนโกสินทร์แบบเราๆ หวนรำลึกถึงพระคุณของบรรพกษัตริย์ที่พัฒนาบ้านเมือง ถิ่นฐานในสมัยนั้น คิดถึงบรรพบุรุษคนสมัยพระนครศรีอยุธยาที่สูญเสียเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อพยายามรักษาผืนแผ่นดินสยาม ตลอดจนเวียงวัง เจดีย์ พระที่นั่งต่าง ๆ ให้ตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง แม้จะเป็นซากปรักหักพัก ก็สามารถทำให้ชนรุ่นหลัง เข้าใจความเป็นอยู่ในสมัยอยุธยาว่าเป็นอย่างไรกัน
หากใครไปอยุธยาพระที่นั่ง เจดีย์ วัด โบราณสถานมากมาย กระจายไปทั่วกรุงศรีอยุธยา ทำให้เราคนไทยควรตระหนักถึงความรักสามัคคีในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และคิดตอบแทนบุญคุณแผ่นดินไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
วัดพระศรีสรรเพชญ์
โบราณสถานในเขตวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นเขตที่ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็น “มรดกโลก” โดย Unesco มีค่าเข้าชมคนไทย 10 บาท (ภาษาไทย “สิบบาท” คงเพื่อไม่ให้เกิดคำถาม) ชาวต่างประเทศ 50 บาท
วัดพระศรีสรรเพชญ์ตั้งอยู่ในเขตตำบลประตูชัย สร้างขึ้นในบริเวณที่เป็นพระราชวังหลวงในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพ.ศ. ๑๙๙๑ ทรงย้ายพระราชวังไปสร้างใหม่ทางด้านเหนือริมแม่น้ำลพบุรี และยกบริเวณพระราชวังเดิมให้เป็นพุทธาวาสของวัดพระศรีสรรเพชญ์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงประกอบพระราชพิธีทางศาสนาทั้งส่วนพระองค์และพระบรมราชวงศ์รวมทั้งพระราชพิธีอื่นๆของรัฐ เช่น พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ และเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์และพระอัฐิของพระบรมวงศานุวงศ์ภายในวัดประกอบด้วยโบราณสถานที่สำคัญ
ได้แก่ เจดีย์ทรงระฆังกลมขนาดใหญ่ ๓ องค์ เป็นประธานของวัด เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (องค์ที่ ๑ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก) และพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (องค์ที่ ๒ ตรงกลาง) ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๕ ส่วนเจดีย์อีกองค์หนึ่งนั้น (องค์ที่ ๓ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก) เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ โปรดให้สร้างขึ้นภายหลัง
ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธานแต่ละองค์มีมณฑป ซึ่งอาจจะประดิษฐานพระพุทธรูปทุกองค์ แต่ภายในมณฑปประจำเจดีย์องค์แรกเคยพบรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ด้วย
พระวิหารหลวง เป็นที่สำหรับประกอบพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ ภายในประดิษฐาน พระศรีสรรเพชญ์ เท่าที่ทราบ คือ องค์พระศรีสรรเพชญดาญาณ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งปฐมราชวงศ์จักรี ทรงคิดที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ แต่เนื่องด้วยองค์พระมีความชำรุดทรุดโทรมยากเกินกว่าจะบูรณะให้คืนสภาพดังเดิมทั้งหมด และด้วยความคิดเห็นจากสมเด็จพระสังฆราชที่ทรงเห็นสมควรเช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้ทรงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระเชตุพนวิมลมคลาราม หรือวัดโพธิ์ โดยมีการสร้างเจดีย์ครอบไว้ และพระราชทานนามว่า “พระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
สำหรับพระศรีสรรเพชญดาญาณ นั้นเป็นพระพุทธรูปที่สร้างในปี พ.ศ. ๒๐๔๓ โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โปรดให้สร้างขึ้นหลังจากการสร้างพระวิหารหลวงในปี พ.ศ. ๒๐๔๒ ครั้นถึงปีต่อมาก็ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง ๘ วา (๑๖ เมตร) พระพักตร์ยาว ๔ ศอก (๒ เมตร) กว้าง ๓ ศอก (๑.๕ เมตร) พระอุระกว้าง ๑๑ ศอก (๕.๕ เมตร) ใช้ทองสำริด หล่อเป็นแกนในน้ำหนัก ๕,๘๐๐ ชั่ง (๓,๔๘๐ กิโลกรัม) หุ้มทองคำน้ำหนัก ๒๘๖ ชั่ง (๓๔๗.๗๗๖ กิโลกรัม) แล้วถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ โดยทองคำ ที่ใช้หุ้มองค์พระนั้น ด้านหน้าเป็นทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา ด้านหลังองค์พระเป็นทองเนื้อหกน้ำสองขา (สมัยนั้นถือว่าทองนพคุณเก้าน้ำหรือทองเนื้อเก้าเป็นทองคำบริสุทธิ์กว่าทองเนื้ออื่นน้ำอื่น)
ทางด้านหลังของเจดีย์ประธานมีมณฑปจัตุรมุข สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายราวรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถ คือ นั่ง นอน ยืน และเดิน ปัจจุบันเหลือเฉพาะพระพุทธรูปนั่งอยู่ในมุขตะวันออก กลางมณฑปนั้นเป็นที่ตั้งของสถูปข้างๆ สถูปทั้ง ๔ ด้านเจาะช่องไว้หลายช่อง สันนิษฐานว่าเป็นช่องบรรจุอัฐิ
พระเจดีย์ภายในวัดทั้งหมดล้วนแต่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระอัฐิพระบรมวงศานุวงศ์ พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้เคยขุดพบพระโกศอัฐิในเจดีย์รายหลายองค์ และที่มีวิหารคั่นอยู่ด้วยหลังหนึ่งนั้นสำหรับเป็นที่บำเพ็ญพระราชกุศลทักษณานุประทาน
ซึ่งระหว่างเดินชมบรรยากาศเมืองเก่ากรุงศรีอยุธยา จะมีเพลงประกอบละครอาทิ สายโลหิต ฯลฯ ต่าง ๆ ดังมาไกล
ข้าคือชายชาญ ชาติทหาร , วิญญาณ แห่งนักรบไทย, ศึกนี้ หรือศึกไหน, หัวใจไม่เคยหวั่นเกรง
และความรักข้า ก็คือ, ดวงใจ เจ้าดวงนี้เอง, ใครหาญ มาข่มเหง, ข้าเอง จะหยุดมัน
*ออกศึกข้านึกแต่รบ และรบ, จบศึกข้านึกแต่รักเจ้าเท่านั้น, หากรอดชีวิตกลับมาหากัน, หวังให้เจ้านั้นดูแลหัวใจ
** ชีพพลีนี้เพื่อ แผ่นดิน, ชีวา ต้องมามลาย, ยังขอ ปกป้องไว้, ด้วยสาย โลหิตของเรา
ระหว่างเดินชมโบราณสถานจะเห็นน้องๆนักศึกษา ยืนฟังอาจารย์บรรยาถึงโบราณสถานอ้างอิงยุคสมัย สร้างเมืองใด ในช่วงอยุธยาตนต้น หรือ ต้นปลาย โบราณสถานนั้นๆ ประกอบด้วยอะไรบ้างใช้เพื่อทำอะไร ซึ่งก็พยายามยืนฟังพร้อมเก็บบรรยากาศในยุคสมัยนั้นไปพร้อมกัน ซึ่งโชคดีเจออาจารย์ท่านนี้ทั้งที่วัดพระศรีสรรเพชญ์และวัดไชยวัฒนาราม
และหากพูดถึงแม่การะเกดนั้น ก็ต้องบอกว่า มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีน ชอบสวมชุดไทยของเรามาก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งชุดหากใครไม่ได้เตรียมมาก็หาเช่าได้จากหน้าวัด สนุนราคาเบื้องต้น 200 บาทต่อ
จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ เริ่มจะเย็น ออกมาก็ขับรถลัดผ่านทางเข้าตลาดกรุงศรีด้านหลัง เลี้ยวขวาวิ่งไปทางริมแม่น้ำผ่านพระตำหนักและเลี้ยวซ้ายออกจากเกาะเมืองอยุธยา และเลี้ยวซ้ายแรกหลังข้ามสะพาน วิ่งตรงไปซักระยะไม่เกิน 2 กม. วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ด้านซ้ายริมแม่น้ำตรงข้ามพระตำหนัก / ลานจอดรถจะอยู่ข้างวัด ซึ่งวัดเสาร์-อาทิตย์ ลานจอดรถจะเต็ม ต้องไปจอดในที่เอกชน คันละ 30 บาท
วัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนาราม ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2173 โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนที่ที่เป็นบ้านเดิมของพระองค์เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระราชมารดา แต่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือนครละแวกโดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด
วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์สืบต่อมาหลังจากนั้นทุกพระองค์ จึงได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชสมัย เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงศพพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสิ้นพระชนม์ก็ได้ถวายพระเพลิงที่วัดนี้
ก่อนกรุงแตก พ.ศ. 2310 วัดไชยวัฒนารามถูกแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง วัดไชยวัฒนารามได้ถูกปล่อยทิ้งให้ร้างเรื่อยมา บางครั้งมีผู้ร้ายเข้าไปลักลอบขุดหาสมบัติ เศียรพระพุทธรูปถูกตัดขโมย มีการรื้ออิฐที่พระอุโบสถ และกำแพงวัดไปขาย แต่ในปี พ.ศ. 2530 กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาอนุรักษ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535
วัดไชยวัฒนาราม มีปรางค์ประธานและปรางค์มุมอยู่บนฐานเดียวกัน พระปรางค์ประธานนำรูปแบบของพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นมาก่อสร้าง แต่ปรางค์ประธานที่วัดไชยวัฒนารามทำมุขทิศยื่นออกมามากกว่า บนยอดองค์พระปรางค์ใหญ่อาจเคยประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็ก สื่อถึงพระเจดีย์จุฬามณีบนยอดเขาพระสุเมรุ รอบพระปรางค์ใหญ่ล้อมรอบไปด้วยระเบียงคตที่เดิมนั้นมีหลังคา ภายในระเบียงคตประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่เคยลงรักปิดทองจำนวน 120 องค์ เป็นเสมือนกำแพงเขตศักดิ์สิทธิ์ ตามแนวระเบียงคตตรงทิศทั้งแปดสร้างเมรุทิศ และ เมรุมุม (เจดีย์รอบ ๆ พระปรางค์ใหญ่) ภายในเมรุทุกองค์ประดิษฐานพระพุทธรูป ภายในซุ้มเรือนแก้วล้วนลงรักปิดทอง ฝาเพดานทำด้วยไม้ประดับลวดลายลงรักปิดทองเช่นกัน
ผู้ที่สนใจสามารุถเข้าชมได้ทุกวันเริ่มตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ค่าธรรมเนียมคนไทยสิบบาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท
**********************************************************************************
ประวัติการบูรณะ ขึ้นทะเบียน และการอนุรักษ์โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรบชนะพม่าและทรงประกาศอิสรภาพขับไล่พม่าออกแล้ว ทรงย้ายเมืองหลวงตั้งอยู่ที่กรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๒๕
ได้มีการรื้ออิฐจากกำแพงเมืองและอาคารศาสนสถานที่ถูกทำลายระหว่างสงครามในกรุงศรีอยุธยาเพื่อนำไปใช้ในการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้มั่นคง และอยุธยาถูกทิ้งร้างไปเพราะยากที่จะบูรณะให้ดีดังเดิม
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๓๙๗ – ๒๔๑๑) ทรงมีพระบรมราโชบายที่จะรื้อฟื้นเมืองอยุธยา จึงโปรดฯให้มีการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถานต่างๆ ในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ทรงสร้างพระราชวังจันทรเกษมไว้เป็นที่ประทับ และทรงให้ฟื้นฟูพระราชวังหลวงโปรดฯให้สร้างพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทขึ้นใหม่บนรากฐานเดิม เป็นต้น ถึงแม้การดำเนินงานดังกล่าวจะยังไม่แล้วเสร็จในรัชสมัยของพระองค์ ก็นับว่าเป็นการริเริ่มกลับมาให้ความสำคัญแก่กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓) ทรงประกาศให้สงวนที่ดินเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาไว้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินห้ามเอกชนถือครอง ทรงมอบให้พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าการมณฑลกรุงเก่าขณะนั้น ดำเนินการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานเมืองอยุธยา และปรับปรุงสภาพภายในพระราชวังโบราณ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะอนุรักษ์พระนครศรีอยุธยาไว้ในฐานะที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรก
พ.ศ.๒๔๗๕ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลภายใต้การนำของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้สนับสนุนให้มีการตราพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและที่ดินร้างภายในกำแพงเมืองให้กระทรวงการคลังถือครอง พ.ศ.๒๔๗๘ กรมศิลปากรในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานที่สำคัญใน เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นโบราณสถานของชาติ จำนวน ๖๙ แห่ง