22 ตุลาคม 2562 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
มีมติครม. มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” (มาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ)
9. เรื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ
1. มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” (มาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ)
1.1 เรื่องเดิม :
(1) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 และ 10 กันยายน 2562 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” (มาตรการฯ) เพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 10 ล้านคน เพื่อใช้จ่ายในจังหวัดที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่เลือกที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน ผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ (g-Wallet) ดังนี้
(1.1) รัฐบาลสนับสนุนวงเงินเพื่อเป็นสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 1,000 บาท ต่อคน
(1.2) กรณีที่ผู้ลงทะเบียนเติมเงินเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พักรวมถึงบริการต่าง ๆ ตามปกติของที่พักนั้น ค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น ค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้น เช่น สปา การเช่าพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยวในพื้นที่ เป็นต้น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ รัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน)
การซื้อสินค้าและบริการตามข้อ (1.1) และ (1.2) ต้องเป็นการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวจากบัญชี g-Wallet ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่รับชำระเงินด้วยแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบวงเงิน 19,093.50 ล้านบาท สำหรับดำเนินมาตรการฯ โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 10,043.50 ล้านบาท สำหรับวงเงินส่วนที่เหลือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายชดเชยจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดเงินที่จ่ายจริง จำนวน 9,050 ล้านบาท ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามขั้นตอนต่อไป
(2) กระทรวงการคลังได้กำหนดเงื่อนไขให้การใช้จ่ายตามข้อ (1.1) เป็นการใช้จ่ายในจังหวัดที่เลือกตอนลงทะเบียน 1 จังหวัดที่มิใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน และการใช้จ่ายตามข้อ (1.2) สามารถเลือกใช้จ่ายในจังหวัดใดก็ได้ที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน เพื่อให้เกิดการกระจายการใช้จ่ายไปสู่เศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ที่ต้องใช้ภายใน 14 วันนับจากวันถัดจากวันที่ได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์ ข้อยกเว้นการใช้สิทธิ์ g-Wallet ช่อง 2 โดยการใช้จ่ายค่าโดยสารเครื่องบิน ค่ารถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ค่าบริการนำเที่ยวที่ไม่ใช่บริการนำเที่ยวในท้องถิ่นนั้นจะไม่ได้รับเงินชดเชย เป็นต้น
(3) การดำเนินมาตรการฯ ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยขณะนี้มีผู้ได้รับสิทธิ์ทั่วประเทศครบ 10 ล้านคนแล้ว จากที่กำหนดให้ลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2562 มีผู้มาใช้สิทธิ์แล้ว 8,665,849 ราย มีการใช้จ่ายรวม 8,443 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายตามข้อ (1.1) ผ่าน g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 8,321 ล้านบาท สำหรับการใช้จ่ายตามข้อ (1.2) ผ่าน g-Wallet ช่อง 2 มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 38,545 ราย มียอดใช้จ่ายประมาณ 122 ล้านบาท โดยการใช้จ่ายกระจายสู่ทุกภูมิภาคครบ 77 จังหวัด ซึ่งการใช้จ่ายที่กรุงเทพฯ คิดเป็นเพียงร้อยละ 13 ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด และการใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กตามวัตถุประสงค์ของมาตรการฯ โดยคิดเป็นร้อยละ 82 ส่วนการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขามีสัดส่วนเพียง ร้อยละ 18 ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวมีความคุ้มค่า เนื่องการก่อให้เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiple Effects) อันจะทำผลกระทบรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่าภายใต้เงื่อนไขประชาชนบริโภคเพิ่มขึ้น ร้อยละ 60 ของวงเงินที่ได้รับ
1.2 วัตถุประสงค์ : เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเดินทางไปท่องเที่ยวและใช้จ่ายซึ่งจะทำให้มีการกระจายการใช้จ่ายไปยังเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนได้รับประโยชน์มากขึ้น
1.3 กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 3 ล้านคน
1.4 ระยะเวลาโครงการ : ขยายระยะเวลามาตรการฯ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
1.5 วิธีดำเนินโครงการ :
(1) ขยายการเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ สำหรับประชาชน จำนวน 1 ล้านคน และเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ จำนวน 2 ล้านคน โดยผู้ลงทะเบียนใหม่ทั้ง 3 ล้านคน จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อ 1.1 (1) (1.1) เช่นเดียวกับผู้ได้รับสิทธิ์ 10 ล้านคนแรก
(2) ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ตามข้อ 1.1 (1) (1.2) โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 20 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน สำหรับวงเงินใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน) ซึ่งรวมถึงผู้ที่ได้รับสิทธิ์ 10 ล้านคนแรก ที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ์
(3) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุน และเงินชดเชยที่ได้รับให้ครอบคลุมมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ โดยให้กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
(4) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ให้ความอนุเคราะห์การตรวจสอบข้อมูลบุคคลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์สำหรับการดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ