ยอดติดเชื้อ 22 มี.ค. ต่างจังหวัด , กทม.สั่งปิดห้าง & เปิดแผนที่ข่าว COVID-19

11:15 สธ.พบไทยติด #COVID19 เพิ่ม 188 ราย กลับบ้าน 1 ป่วยสะสม 599 ขอตระหนักไม่ออกสังคม-ไม่เดินทาง

สธ.แถลงไทยพบผู้ป่วยเพิ่มอีก 188 ราย รวมสะสม 599 ราย ยังเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อ/เกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 65 ราย ได้แก่
สนามมวย 21 ราย
สถานบันเทิง 5 ราย
ผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 37 ราย
เข้าร่วมพิธีทางศาสนามาเลเซีย 2 ราย
และกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 15 ราย ได้แก่
ผู้เดินทางจากต่างประเทศ/ชาวต่างชาติ 8 ราย (ในจำนวนนี้มีหลายรายที่มีประวัติเดินทางกลับจากเที่ยวผับปอยเปต ประเทศกัมพูชา) ,
ผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 7ราย

รอยืนยันอีก 108 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 599 ราย อาการหนักมี 7 ราย /รักษาตัว รพ.553 ราย กลับบ้านแล้ว 45 ราย เสียชีวิต 1 ราย …


11.16 น. วันที่ 21 มี.ค. 2563 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 ในฐานะโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 โดยสถานการณ์ในประเทศไทยวันนี้มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้น 89 ราย กลับบ้านแล้ว 44 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 366 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 411 ราย ถือเป็นรายที่ 323-411 ส่วนใหญ่ผู้ป่วยรายใหม่เป็นวัยหนุ่มสาว คนทำงาน ไม่ลดกิจกรรมทางสังคม ไม่เว้นระยะห่าง โดยแบ่งผู้ติดเชื้อออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้จำนวน 51 ราย แบ่งเป็น 1. จากสนามมวย 32 ราย กระจายอยู่ในพื้นที่ กทม. อุบลราชธานี สมุทรปราการ นนทบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี ปทุมธานี สุราษฎร์ธานี และสุรินทร์ 2. จากสถานบันเทิง 2 ราย ย่านเอกมัยและสุขุมวิท และมีการเดินทางไปเชียงราย 3. จากการร่วมประกอบพิธีศาสนาที่มาเลเซีย 6 ราย อยู่ที่ปัตตานี นราธิวาส และยะลา 4. กลุ่มที่มีประวัติสัมผัสรายเก่าก่อนหน้า 11 ราย

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มรายใหม่ 38 ราย 1. เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 12 ราย เป็นชาวไทย 6 ราย ชาวต่างชาติ 6 ราย หลายรายมีประวัติเดินทางกลับจากการท่องเที่ยวที่ผับในปอยเปต 2. จากทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ จำนวน 6 ราย แบ่งเป็น ค้าขาย พนักงานเสิร์ฟ พนักงานขาย พนักงานสถานบันเทิง และพนักงานขับรถ 3. รอผลการสอบสวนโรคและประวัติเสี่ยงเพิ่มเติมอีก 20 ราย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มอีก 4 ราย รวมเป็น 7 ราย ซึ่งเราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง.

ขอบคุณไทยรัฐออนไลน์

สำหรับข้อมูลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แยกรายจังหวัด พบว่ายอดผู้ติดเชื้อได้เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่สัมผัสผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับสนามมวย และกลุ่มที่กลับจากร่วมกิจกรรมศาสนาในประเทศมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพิ่มขึ้น 2 ราย รวมเป็น 3 ราย, บุรีรัมย์ ติดเชื้อรายแรกของจังหวัด เป็นชาวต่างชาติเดินทางมาหาภรรยาคนไทย ส่วน จ.สงขลา ติดเชื้อรวม 4 ราย จากการสัมผัสผู้ป่วยที่กลับจากร่วมกิจกรรมศาสนา

รวมถึง จ.นครสวรรค์, จ.นครนายก และจ.ปราจีนบุรี มีผู้ติดเชื้อจังหวัดละ 1 ราย ขณะที่ จ.อุบลราชธานี และจ.ขอนแก่น ติดเชื้อจังหวัดละ 2 ราย ส่วน จ.สุรินทร์ มีผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 3 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับสนามมวยทั้งสิ้น.

ภาคกลาง-ตะวันออก

  • จังหวัดนนทบุรี พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 9 ราย โดย 7 รายอยู่ในความดูแลของแพทย์ และอีก 2 รายหายดีแล้ว พร้อมติดตามเฝ้าระวังผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ

  • จังหวัดฉะเชิงเทรา พบกลุ่มเสี่ยง 24 ราย เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้รับเชื้อมาจากสนามมวยราชดำเนิน ลุมพินี และภรรยานายก อบจ.ฉะเชิงเทรา รวมผู้ติดเชื้อ 2 ราย อยู่ระหว่างรอการยืนยันผลเพิ่มอีก 2 ราย 

  • จังหวัดชลบุรี พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 6 ราย รอผลการตรวจพิสูจน์ 40 ราย ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิด 288 ราย ไม่พบเชื้อ 191 ราย และรอผลการตรวจ 97 ราย อยู่ในการเฝ้าระวังดูแลอย่างเข้มข้นของแพทย์

  • จังหวัดสุพรรณบุรี พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 1 คน รายแรกของจังหวัด ภายหลังสัมผัสโรคจากผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ พร้อมให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 3 ราย กักตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน

  • จังหวัดระยอง ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว 2 ราย โดยมีประวัติเดินทางไปต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เฝ้าระวังผู้สัมผัสและใกล้ชิดผู้ติดเชื้อทุกคน

  • จังหวัดนครปฐม มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวม 3 ราย กลับบ้านได้แล้ว 1 ราย ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. ส่วนอีก 2 ราย กำลังรับการรักษาและมีอาการดีขึ้น พร้อมเฝ้าระวังอีก 34 ราย 
  • จังหวัดกาญจนบุรี พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย และเข้าข่าย 2 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน ส่วนผู้ใกล้ชิดเฝ้าระวัง จำนวน 23 ราย ยังไม่พบอาการแต่อย่างใด.

ภาคอีสาน

  • จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 1 ราย เป็นนักการเมืองท้องถิ่น จากกลุ่มสนามมวยราชดำเนิน ลุมพินี รวมยอดผู้ป่วยล่าสุดเป็น 3 ราย 

  • จังหวัดร้อยเอ็ด พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายแรก เป็นชาย ชาว อ.เชียงขวัญ ติดเชื้อมาจากสนามมวยราชดำเนิน ลุมพินี พร้อมกับกักตัวคนอื่นๆ ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง จำนวน 37 ราย

  • จังหวัดกาฬสินธุ์ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของจังหวัด เป็นชาย ชาว อ.ยางตลาด ภายหลังจากเดินทางกลับจากสนามมวยราชดำเนิน ลุมพินี

  • จังหวัดขอนแก่น พบติดเชื้อโควิด-19 รายแรก เป็นชาย ร่วมกิจกรรมสนามมวยราชดำเนิน ลุมพินี ทำให้ทางจังหวัดออกประกาศปิดสถานบริการ งดและเลื่อนกิจกรรมเสี่ยง

ภาคเหนือ

  • จังหวัดเชียงใหม่ สั่งปิดสถานบริการ สปา ฟิตเนส โรงหนัง ถนนคนเดิน จนถึงวันที่ 1 เม.ย. หลังพบผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในโรงพยาบาล 1 ราย และโดยมี 5 ราย มีแนวโน้มอาจติดเชื้อ โดยก่อนหน้านั้นในพื้นที่มีผู้ติดเชื้อ 1 ราย เป็นชายชาวจีน อายุ 28 ปี

  • จังหวัดสุโขทัย พบมีผู้สัมผัสและมีความเสี่ยงประมาณ 100  คน ล่าสุดผลยืนยันการตรวจ พบภรรยาเซียนมวย ติดเชื้อโควิด-19 เป็นรายที่ 2 พร้อมเฝ้าระวัง 3 หมู่บ้าน ในพื้นที่ อ.กงไกรลาศ เป็นเวลา 14 วัน

  • จังหวัดเพชรบูรณ์ มีชายชาวเบลเยียม 67 ปี ติดเชื้อโควิด-19 รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล อาการยังอยู่ในขั้นวิกฤติ ภายหลังเดินทางเข้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 มี.ค. และไปท่องเที่ยวเมืองพัทยา 7 วัน

ภาคใต้

  • จังหวัดปัตตานี พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 7 คน จาก 7 หมู่บ้านใน อ.ยะรัง, อ.โคกโพธิ์ และอ.หนองจิก ภายหลังกลับจากงานชุมนุมศาสนาในประเทศมาเลเซีย และไปสัมผัสผู้ใกล้ชิด

  • จังหวัดพัทลุง พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายแรก เป็นชายผู้ดูแลนักมวย อายุ 56 ปี ติดเชื้อมาจากสนามราชดำเนิน ลุมพินี ก่อนกลับมาพัทลุง และมีผู้เข้าข่ายติดเชื้อ รอผลตรวจอีก 2 ราย

  • จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชายอาชีพรับเหมาก่อสร้าง วัย 49 ปี ติดเชื้อโควิด-19 รายแรก อาการอยู่ในขั้นวิกฤติ และพบผู้ติดเชื้อรายที่ 2 เป็นแอร์โฮสเตส อายุ 29 ปี ขณะมาท่องเที่ยวเกาะพะงัน คาดติดมาจากนอกพื้นที่

  • จังหวัดนครศรีธรรมราช พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายที่ 2 เป็นชายอายุ 33 ปี คลุกคลีกเกี่ยวข้องกับเวทีมวยเดียวกับกลุ่มผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ เมื่อก่อนหน้านี้ รวมผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 2 ราย

  • จังหวัดยะลา พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรก ส่วนอีก 3 ราย รอผลตรวจเชื้อรอบ 2 ภายหลังมีผู้เดินทางกลับจากร่วมกิจกรรมชุมนุมทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย และยังมีกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดอีก 14 ราย

แผนที่ข่าว COVID-19 ?

https://covidtracker.5lab.co/

คนกลับจากกทม.เดินทางออกต่างจังหวัด พักกักตัว 14 วัน

อธิบดีกรมควบคุมโรค ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เฝ้าระวัง คนกลับจาก กทม.-ปริมณฑล จัดทำฐานข้อมูล แนะให้สังเกตอาการ เลี่ยงอยู่รวมกลุ่ม 14 วัน สกัดโควิด-19

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ 0410.7/ว217 วันที่ 21 มีนาคม 2563 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง ขอความร่วมมือจัดทําแผนปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรค ระดับอําเภอและหมู่บ้าน กรณีผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเนื้อหาระบุว่า ด้วยพบผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ อย่างรวดเร็ว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงมีประกาศกรุงเทพมหานคร สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) ส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่ง เดินทางออกจากกรุงเทพ และปริมณฑล

กรมควบคุมโรค ในฐานะสํานักงานเลขานุการของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงขอความร่วมมือ จัดทําแผนปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรค ระดับอําเภอและหมู่บ้าน ดังนี้

1. จัดตั้งทีมอาสา COVID-19 ระดับอําเภอและหมู่บ้าน เพื่อดําเนินการค้นหาและเฝ้าระวัง
 
2. จัดทําฐานข้อมูลของผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มาถึงภูมิลําเนา ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป

3. ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อแยกตัวสังเกตอาการไข้และอาการทางเดินหายใจทุกวัน และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่นในที่พํานัก หรือที่พักอาศัยจนครบ 14 วัน นับจากวันที่เดินทางมาถึงภูมิลําเนา
 
4. แจ้งผู้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปฏิบัติตามคําแนะนํา อย่างเคร่งครัด ดังต่อไปนี้

4.1 ไม่รับประทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น
 
4.2 ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ํา ช้อนส้อม
 
4.3 ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ําและสบู่ นาน 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์ 70% ลูบมือจนแห้ง
 
4.4 หลีกเลี่ยงการพูดคุย ใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง

4.5 หากมีไข้และอาการทางเดินหายใจ ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยทันที

ผู้ว่าฯ อัศวิน ออกประกาศเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ย้ำสาระสำคัญ ระบุ ร้านอาหาร รวมถึงร้านอาหารในคูหา แผงลอย ต้องขายแบบกลับบ้านเท่านั้น ธนาคารในและนอกห้าง เปิดได้

เฟซบุ๊ก “ผู้ว่าฯ อัศวิน” ได้โพสต์ ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 3 เกี่ยวกับคำสั่งอธิบายเพิ่มเติม โดยสาระสำคัญ คือ

1. ห้างสรรพสินค้า รวมถึงห้างสรรพสินค้าทุกประเภท (ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า หรือ คอมมูนิตี้ มอลล์) ต้องดำเนินการตามคำสั่งที่ออกไป

2. ธนาคารในและนอกห้าง เปิดได้

3. ร้านอาหาร รวมถึงร้านอาหารในคูหา รถเข็น และแผงลอยจำหน่ายอาหาร ต้องจำหน่ายแบบซื้อกลับบ้านเท่านั้น

4. ร้านอาหารในสนามบินเปิดให้นั่งทานได้ (แต่ต้องมีมาตรการการเว้นระยะ)

อย่างไรก็ตาม การสื่อสารในช่วงเวลาวิกฤติเป็นสิ่งที่สำคัญ ขอให้ทุกท่านฟังข้อมูลข่าวสารจาก กทม. เท่านั้น

กทม. มีมติปิดห้างสรรพสินค้า และตลาดทั่วกทม. ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย.

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. ใช้อำนาจตามความมาตรา 35(1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. และกฎหมายประกอบอื่นๆ กรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กทม. มีมติปิดห้างสรรพสินค้า และตลาดทั่วกทม. ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย. ยกเว้นให้เปิดโซน super market ร้านยา ร้านอาหารที่ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น

เช็ครายชื่อสถานที่เสี่ยง ถูกสั่งปิดเพิ่ม 22 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย. 2563

เช็ครายชื่อสถานที่เสี่ยง ถูกสั่งปิดเพิ่ม 22 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย. 2563 เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” โดยสถานที่เสี่ยงปิดเพิ่มเติม มีดังนี้

1. ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจําหน่ายอาหารเพื่อนํากลับไปบริโภคที่อื่นและร้านอาหาร ในโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม)

2. ห้างสรรพสินค้า เว้นแต่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยาหรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จําเป็นต่อการ ดำรงชีวิต ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจําหน่ายอาหารเพื่อนํากลับไปบริโภคที่อื่น)

3. พื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ

4. ตลาดและตลาดนัด (เปิดเฉพาะการจําหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสําเร็จ เพื่อนํากลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต)

5. ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม

6. สถานที่บริการสักผิวหนัง หรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย

7. สถานที่เล่นสเกต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน

8. สวนสนุก สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง หรือตู้เกม

9. ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต

10. สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ

11. สระว่ายน้ํา หรือกิจการอื่นๆ ในทํานองเดียวกัน

12. สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่

13. ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา

14. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรรศการ

15. สถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา

16. สถานที่ให้บริการควบคุมน้ําหนัก คลินิกความงาม และสถานเสริมความงาม

17. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม)

18. สถานที่ให้บริการสปา อาบน้ํา ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์

19. สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด

20. สถานประกอบกิจการอาบน้ํา อบไอน้ํา อบสมุนไพร

21. โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ)

22. สถานที่ออกกําลังกาย

23. สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ

24. สนามมวย และโรงเรียนสอนมวย

25. สนามกีฬา

26. สนามม้า

หลังประกาศฉบับนี้ ในซุปเปอร์มาร์เก็ต ในห้างสรรพสินค้า เต็มไปด้วยประชาชนต่างสวมหน้ากากอนามัย ออกมาซื้อของใช้ อุปโภคบริโภค เตรียมไว้ที่บ้าน หลังจาก กทม.มีประกาศปิดห้างสรรพสินค้า 22 วัน ป้องกันการระบาดโควิด-19

หลังคำสั่งนี้แถลงออกมา “คนที่ไปห้าง แจ้งว่าตอนนี้ห้างแทบแตก เพราะคนแห่ไปกักตุนของกัน พ่อแม่พี่น้อง อย่าไปเสี่ยง ยิ่งคนเยอะยิ่งเสี่ยงระบาด และร้านอาหารสด ซุปเปอร์ไม่ปิด ซื้อได้เรื่อยๆ อย่าแห่กันไปซุปเปอร์”.