วิจารณ์ยับ”ผู้ประกันตน” ได้ใช้เงินตอนตาย เพิ่มค่าทำศพ 50,000 บาท จากเดิม 40,000 บาท
หลังมีกระแส สำนักงานประกันสังคม ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ล่าช้า และไม่อำนวยความสะดวกด้านการบริการในช่วง Covid-19
2 ก.ค. 2563 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง กำหนดอัตราเงินค่าทำศพ ในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน พ.ศ. 2563
ข้อ 2 เงินค่าทำศพที่จ่ายให้แก่บุคคลตามมาตรา 73 (1) ในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ให้กำหนดเป็นจำนวน 50,000 บาท
เงื่อนไขและหลักเกณฑ์รับสิทธิประโยชน์
สำหรับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตนั้น ผู้ประกันตนจะต้อง ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย
โดยสำนักงานประกันสังคม จะจ่ายให้กับผู้จัดการศพ สำหรับเงินสงเคราะห์กรณีตาย จะจ่ายให้กับบุคคลที่ผู้ประกันตนระบุให้เป็นผู้รับ สิทธิประโยชน์ทดแทน โดยการทำหนังสือระบุไว้ ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย คือ บิดา มารดา สามีหรือภริยา และบุตร โดยจ่ายเฉลี่ยในอัตราคนละเท่าๆ กัน ดังนี้
– ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน
– ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน ให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิสามารถขอรับประโยชน์ทดแทน ได้ภายใน 2 ปี