ควรทำอย่างไร เมื่อรถถูกน้ำท่วมเสียหาย #2

ขออนุญาตนำบทความของ “แอกซ่า” มานำเสนอข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์หากรถท่านประสบภัยโดนน้ำท่วมเสียหายในเรื่องอุปกรณ์รถยนต์ที่ควรตรวจเช็กเบื้องต้นหลังจากถูกน้ำท่วมครับ

ระดับน้ำท่วมสูงถึงพื้นรถยนต์ แต่ไม่ถึงระดับของเบาะนั่งนั้นมีโอกาสสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์และชิ้นส่วนของรถยนต์ ดังนี้

  • ระบบเบรกทั้ง 4 ล้อ และผ้าเบรก
  • ห้องเครื่องยนต์ คลัทช์คอมแอร์ สายพานแอร์ และไดสตาร์ท
  • พรมภายในห้องโดยสาร

อุปกรณ์หลักที่ควรเช็ก และข้อควรปฏิบัติเบื้องต้น

การที่ล้อและอุปกรณ์ช่วงล่างต่างๆ ถูกแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดสนิมใต้ท้องรถได้ รวมถึงระบบเบรกของทั้ง 4 ล้อ และผ้าเบรกก็ควรตรวจเช็กให้เรียบร้อยครับ ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบไดสตาร์ทว่าได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหนนะครับ ถึงแม้ว่าไดสตาร์ทถูกออกแบบมาให้มีความทนทาน แต่ไดสตาร์ทที่ได้รับความเสียหายจากน้ำเข้าสามารถก่อปัญหาแก่รถในระยะยาวได้ครับ

หากพื้นพรมรถเปียกชื้นแสดงว่าน้ำมีการซึมเข้ามาภายในรถ ให้ถอดนำพรมไปซักและตากแดดให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันกลิ่นอับชื้นครับ และอย่าลืมล้างภายนอกรถให้สะอาดโดยเฉพาะใต้ท้องรถ และซุ้มล้อต่างๆ เพื่อล้างคราบโคลนสิ่งสกปรกต่างๆ ที่อาจติดอยู่ภายในครับ

ระดับน้ำท่วมสูงถึงเบาะที่นั่งนั้นมีโอกาสสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์และชิ้นส่วนของรถยนต์ ดังนี้

  • ห้องเครื่องยนต์ กล่อง ECU, แบตเตอร์รี่, พัดลมระบายความร้อน, เครื่องยนต์, น้ำมันเครื่อง, ระบบเกียร์, น้ำมันเกียร์, ขั้วสายไฟต่างๆ, พวงมาลัยไฟฟ้า EPS
  • ไฟหน้า และไฟท้าย
  • เบาะนั่ง
  • แผงนวมประตู สวิตช์แผงประตู และระบบเซ็นทรัลล็อก
  • ชุดตู้แอร์
  • ห้องสัมภาระท้าย

ข้อควรปฏิบัติเบื้องต้น เมื่อรถโดนน้ำท่วม

ในกรณีที่น้ำท่วมสูงถึงเบาะนั่งนั้น เมื่อนำรถขึ้นจากน้ำแล้ว ห้ามสตาร์ทรถหรือบิดกุญแจไปที่ ON โดยเด็ดขาด เพราะระดับความสูงของน้ำจะสร้างความเสียหายภายในห้องเครื่องยนต์ จึงควรถอดแบตเตอร์รี่ออกในทันที และตรวจสอบอุปกรณ์อื่นๆ เช่นพัดลมระบายความร้อน ซึ่งสำคัญมากสำหรับการถ่ายเทความร้อนของห้องเครื่อง หรือกล่อง ECU ที่เป็นสมองกลไฟฟ้าควบคุมเครื่องยนต์  ที่สำคัญไม่แพ้กันคือระบบเกียร์ ระบบของเหลว ระบบหล่อลื่นต่างๆของรถ และควรทำการไล่ความชื้นออกจากตัวรถ

ระดับน้ำท่วมสูงถึงคอนโซลหน้า หรือมิดหลังคา คือระดับที่สร้างความเสียหายสูงที่สุด ซึ่งมีโอกาสสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์และชิ้นส่วนของรถยนต์ ดังนี้

  • ตัวถังสีภายนอก
  • ไฟหน้า และไฟท้าย
  • ห้องเครื่องยนต์ ที่กรองอากาศ, ไดชาร์จ, ชุดหัวเทียน, มอเตอร์ปัดน้ำฝน, แผงคอนเดนเซอร์แอร์, หม้อน้ำ
  • ของเหลวต่างๆ ที่สำคัญในอุปกรณ์ที่น้ำท่วมถึงเช่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรก น้ำมันพวงมาลัย และน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง
  • อุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องโดยสาร เช่น ชุดควบคุมอุณหภูมิแบบดิจิตอล, วิทยุ, คอนโซลหน้า, ระบบถุงลม, ระบบไฟส่องสว่างต่างๆ, ผ้าหลังคา, ม่านถุงลม, ซันรูฟ, ช่องแอร์
  • มอเตอร์พัดลมแอร์
  • หน้าปัทม์เรือนไมล์
  • ขอบยางประตู

ข้อควรปฏิบัติเบื้องต้น

ระดับที่ 3 เป็นระดับที่สร้างความเสียหายอย่างมาก เมื่อนำรถขึ้นจากน้ำแล้วห้ามสตาร์ทรถ หรือบิดกุญแจไปที่ ON โดยเด็ดขาดเช่นเดียวกับระดับที่ 2 ครับ เพราะอาจทำให้เครื่องยนต์ได้รับความเสียหายอย่างมากและระบบไฟฟ้าลัดวงจรได้ ควรรีบถอดแบตเตอร์รี่ออกในทันที หากพบว่ามีน้ำเข้าควรเปลี่ยนแบตเตอร์รี่

จากนั้นรีบนำรถส่งช่างผู้เชี่ยวชาญให้ตรวจเช็กของเหลวทุกอย่างภายในรถ เช่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรก น้ำหล่อเย็น หรือสารหล่อลื่นอย่างจาระบีเช่นกัน อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่แผงหน้าปัทม์และคอนโซลต้องถอดออกมาทำความสะอาดและเป่าให้แห้งทั้งหมด ทั้งนี้ช่างผู้เชี่ยวชาญสามารถดำเนินการให้ได้ครับ

รถจมน้ำส่วนใหญ่ หลังจากแก้ไขปัญหาจากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด อาจไม่สามารถกลับมาทำงานปกติเหมือนเดิมได้

เมื่อทำการตรวจดูรถเบื้องต้นแล้ว ควรรีบแจ้งประกันให้มีการนำส่งรถเข้าสู่การดูแลของช่างผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว เพื่อลดโอกาสการเกิดความเสียหายต่างๆ เพิ่มเติมนะครับ

เพื่อแบ่งเบาปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายแอกซ่าขอแนะนำให้เรื่องแผนประกันที่ครอบคลุมเรื่องภัยธรรมชาติ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต หากมีประกันภัยรถยนต์คุ้มครองรถที่มีความเสียหายบางส่วนก็จะได้รับความช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายจากการซ่อมแซม

ในกรณีน้ำท่วมมิดคัน หรือท่วมเกินคอนโซลหน้า ซึ่งมีความเสียหายอย่างมากและไม่สามารถที่จะซ่อมให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม บริษัทประกันยินดีที่จะจ่ายเงิน 70-80% ของทุนประกันเพื่อเป็นการขอซื้อซากรถครับ

ทั้งนี้ความคุ้มครองขึ้นอยู่กับความคุ้มครอง ดูรายละเอียดเพิ่มเติม และความคุ้มครองได้ที่ https://www.axa.co.th/private-car-insurance

เรื่องที่เกี่ยวข้อง