“ห้วยขาแข้ง” จัดรำลึก 29 ปี “สืบ นาคะเสถียร” 30 ส.ค. – 1 ก.ย.นี้

ใครที่ชอบท่องเที่ยวชมธรรมชาติป่าเขา ตามอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็คงรู้กันดีว่า วันที่ 1 กันยายนของทุกปี เป็นวันประวัติศาสตร์ของไทยที่สูญเสียบุคลากรคนสำคัญ สืบ นาคะเสถียร ผู้พิทักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างไม่มีวันกลับ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เตรียมจัดงาน “รำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร” ระลึกถึงคุณงามความดีและความเสียสละของ สืบ นาคะเสถียร และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า

สืบทอดเจตนา (สืบ นาคะเสถียร) คาราบาว
( GREEN MANเผยแพร่เมื่อ 29 ส.ค. 2012 )

ที่มาและความสำคัญ : สืบ นาคะเสถียร

       คุณสืบ นาคะเสถียร เปรียบเสมือนผู้นำทางจิตวิญญาณของคนในวงการอนุรักษ์ แม้แต่ตัวข้าพเจ้าเองก็ได้รับรู้เรื่องราวของคุณสืบจากการเข้าค่ายสมัยเป็นเยาวชน ตำนานผู้ที่จบชีวิตตัวเองด้วยกระสุนปืน เพื่อเรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจการอนุรักษ์ป่า หลังจากความพยายามในการจัดประชุมความร่วมมือเพื่อบูรณาการการทำงาน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่มนับสิบครั้ง เนื่องจากไม่มีใครสนใจคำเชิญของเขา การเข้าพบนักการเมือง ผู้ใหญ่ไม่ให้ความสนใจ การสละชีวิตเพื่อเรียกร้องจึงเป็นทางเลือกสุดท้าย

       หากแต่เขาเองไม่มีโอกาสได้อยู่ดูว่าสิ่งที่เขาทำนั้น ทำให้ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก มีวงการอนุรักษ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยการแตกหน่อจากคุณสืบ ผู้เปรียบประดุจเทียมเล่มแรก ที่จุดให้เล่มอื่นสว่างไสว เล่มเก่ามอดดับไป เล่มใหม่รับช่วงต่อ ส่งกันไป ไม่รู้จบ

       ด้วยความรักและศรัทธาที่มีต่อคุณสืบ ข้าพเจ้าจึงกลายมาเป็นนักจัดกิจกรรม เนื่องในโอกาสนี้ จึงอยากจะเชิญชวนเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ไปช่วยเหลืองานที่จัดเพื่อรำลึกถึงคุณสืบ เพราะอยากจะให้คนรู้จักคุณสืบมากขึ้น จะได้หันมารักษ์ป่ากันมากขึ้น อีกทั้ง กิจกรรมที่จัดขึ้นที่ห้วยขาแข้ง ยังเปรียบเสมือนค่ายกิจกรรมที่ให้ความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่ประชาชนผู้ที่ไปร่วมงานด้วย

ว่าที่ร้อยเอกสราวุฒิ สารคำ (ประธานชมรมอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และหัวหน้าคณะผู้จัดกิจกรรมกรีน อีเว้นท์)

วันที่ 29 ส.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ได้จัดทำโครงการรำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร ขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2562 เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีและความเสียสละของ สืบ นาคะเสถียร และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ทั้งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่

และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกให้กับบุคคลทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการดูแล รักษาผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้ง ซึ่งปีนี้ ภายในงาน จะมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งการจัดนิทรรศการการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ เรื่อง สืบ นาคะเสถียร และการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า กิจกรรมประชุมเครือข่ายป่าชุมชน กิจกรรมการทำบุญและวางหรีด

โดยวันที่ 30 สิงหาคม 2562 กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 8.00 น. ถึง 24.00 น. โดยมีการจัดกิจกรรม อาทินิทรรศการภาพถ่ายห้วยขาแข้ง ที่อาคาร 503 พร้อมชมภาพถ่ายทอดสดสัตว์ป่าจากหอนกยูง ที่ห้องลาย 2 กิจกรรมฐานเรียนรู้งานป้องกันและรักษาป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 7 ฐาน เวที “เครือข่ายชุมชนแนวกันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง” ดนตรี Acoustic รำลึก สืบ นาคะเสถียร ชมวีดีโอร้อยเรียงเรื่องราวผ่านกิจกรรมฐานเรียนรู้ ในหัวข้อ “วันนี้ห้วยขาแข้งเป็นอย่างไร” และกิจกรรมจุดเทียนรำลึก ที่บริเวณรูปปั้น สืบ นาคะเสถียร งานแสง สี เสียง เรื่อง “29 ปี แสงไฟที่สืบต่อ”

และในวันที่ 1 กันยายน 2562 มีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายห้วยขาแข้ง ที่อาคาร 503 พร้อมชมภาพถ่ายทอดสดสัตว์ป่าจากหอนกยูง ที่ห้องลาย 2 พร้อมประกอบพิธีทำบุญเลี้ยงพระ ถวายสังฆทาน และพิธีมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า และนักเรียนโรงเรียนเครือข่ายอนุรักษ์เสือโคร่ง ทุน “สืบเจตนาอนุรักษ์ป่าห้วยขาแข้ง” และพิธีวางหรีดรำลึกสืบนาคะเสถียร

สำหรับ สืบ นาคะเสถียร เป็นนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย มีชื่อเสียงจาการพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

อ้างอิงที่มา :

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 399 หมู่ 10 ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี 61160

ผืนป่าของ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง‘ เป็นป่าต้นน้ำมีลำน้ำแยกจากแควใหญ่ชื่อว่า ‘ลำน้ำข้าง’ พาดผ่านผืนป่าใหญ่ ขึ้นสู่ป่าแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ และเนื่องจากป่าแห่งนี้เป็นป่ารกทึบ ยังไม่มีผู้บุกรุกทำลายป่า จึงเรียกกันว่าเป็นป่าบริสุทธิ์ (VIRGIN FOREST) คือป่าที่ยังไม่เคยมีการจัดการทางด้านป่าไม้มาก่อน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมด 1,737,587 ไร่ (2,780.14 ตารางกิโลเมตร) มีอาณาเขตติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีเทือกเขาสลับซับซ้อน ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ‘ยอดเขาปลายห้วยขาแข้ง’ อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดตาก  มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,687 เมตร  เป็นต้นน้ำของลำห้วยหลายสาย ที่สำคัญที่สุดคือ ‘ห้วยขาแข้ง’ 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีแหล่งโป่งต่างๆ มากมายในพื้นที่ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์กีบ โป่งสำคัญ ได้แก่ โป่งซับเก้าและโป่งนายสอ มีสัตว์กีบขนาดใหญ่ เช่น กระทิง วัวแดง กวางป่า อีเก้ง ช้างป่า และหมูป่าลงกิน และยังพบสัตว์ผู้ล่า เช่น เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ และหมาใน ในฤดูแล้งมีนกนานาชนิดลงมากินน้ำและกรวดทราย

นอกจากนี้ ยังมีบ่อโคลนและปลักอยู่ทั่วไป เป็นแหล่งที่อยู่ของควายป่า ส่วนแหล่งดินทรายริมลำน้ำ เป็นแหล่งคลุกฝุ่นที่สำคัญของสัตว์จำพวกนก โดยเฉพาะนกในวงศ์ไก่ฟ้าและไก่ป่า

ป่าดงดิบเขา กระจายตามพื้นที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000-1,554 เมตร 
– ป่าดงดิบชื้น พบในบริเวณลุ่มลำห้วยต่างๆ ที่มีความชื้นสูง ในระดับทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร
– ป่าดงดิบแล้ง พบกระจายในพื้นที่ใกล้เคียงกับป่าดงดิบชื้น บริเวณเทือกเขาทางทิศตะวันออก ทางเหนือ และทางทิศตะวันตก
– ป่าเบญจพรรณ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 450-900 เมตร
– ป่าเต็งรัง พบในพื้นที่แห้งแล้งและมีหินผสมอยู่มาก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 200-600 เมตร

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงถือเป็นแหล่งรวมพันธุ์สัตว์ในเขตร้อนของเอเชียไม่ต่ำกว่า 712 ชนิด จากการรายงานของศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ (2540) พบสัตว์ประเภทต่างๆ ดังนี้
– สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบกว่า 130 ชนิด เช่น ควายป่า เลียงผา สมเสร็จ เก้งหม้อ แมวลายหินอ่อน
– นก พบทั้งหมด 360 ชนิด ซึ่งมีมากกว่า 1 ใน 3 ของนกที่พบทั้งหมดในประเทศไทย
– สัตว์เลื้อยคลาน พบ 81 ชนิด ในจำนวนนี้มีทั้งสัตว์เลื้อยคลานที่หายากและใกล้สูญพันธุ์
– สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบ 37 ชนิด
– ปลา พบ 105 ชนิด มีชนิดที่หายากในแหล่งน้ำจืดได้แก่ ปลาสลาด ปลาเค้า เป็นต้น

สืบ นาคะเสถียร พบปัญหามากมายในห้วยขาแข้ง เช่น ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า ที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย

สืบจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอ ยูเนสโก (UNESCO) เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นพื้นที่ มรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่

วันที่ 1 กันยายน 2533 สืบสะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง

สืบเอยเจ้าจากไปไม่สูญเปล่า …..

แนวความคิดเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่า แนวความคิดเรื่องการรักษาป่า ความคิดและอุดมการณ์
มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

  • แต่อย่างไรก็ตามการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างใดอย่างหนึ่ง มิได้หมายถึงการเก็บรักษาโดยไม่นำมาใช้ประโยชน์ แต่เป็นการใช้อย่างถูกต้องโดยวิธีที่จะใช้ทรัพยากรที่เหลือ อยู่ดังกล่าว สามารถอำนวยประโยชน์ไม่เฉพาะทางใดทางหนึ่ง แต่สามารถอำนวยประโยชน์ให้ในทุก ๆ ด้าน และยังคงมีเหลืออยู่มากพอที่จะเป็นทุนให้เกิดการพอกพูนขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อีก และยั่งยืนต่อไปในอนาคต ดังนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นจากการอนุรักษ์ มิได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนที่อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังคงสามารถอำนวยประโยชน์ต่อไปชั่วลูกชั่วหลานต่างหาก
    หนังสือเสียงเพรียกจากพงไพร.ธันวาคม ๒๕๓๓ 

  • ผมอยากเห็นว่า เราควรจะเปลี่ยนแนวทางที่จะพัฒนา ในความเห็นส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรที่เหลืออยู่น้อยนิดนี้ ผมไม่เห็นด้วยที่มัวพูดกันว่า เราจะใช้ทรัพยากรอย่างไรเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่เราควรจะหันมาสนใจว่า เราจะรักษาสภาวะแวดล้อมหรือทรัพยากรที่เหลืออยู่จำกัดได้อย่างไร เราต้องประหยัดการใช้ใช่ไหม เราจะต้องหามาตรการควบคุมในทางปฏิบัติให้ได้
    สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๕ ,กรกฎาคม ๒๕๓๓ 

  • จะเป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลจะเปิดใจกว้าง โดยการให้ทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ผู้นำในท้องถิ่น ผู้แทนราษฎร นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง มาพูดคุยร่วมกัน คือบางคนอาจจะต้องรับสถานภาพของบางกลุ่ม ข้าราชการอาจต้องยอมรับสถานภาพของประชาชน คือ ลดตัวลง ในขณะเดียวกันก็เพิ่มฐานะของเขาให้ขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน แทนที่จะพูดกันคนละที
    สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๙ ,กรกฎาคม ๒๕๓๓ 

  • ผมคิดว่ามันหมดยุคแล้ว มันควรจะมาถึงยุคที่ทุกคนมีความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็น ช่วยกันแก้ปัญหา เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
    สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๙, กรกฎาคม ๒๕๓๓
  • ผมว่าประเทศไทยถ้าสามารถเก็บป่าธรรมชาติเอาไว้ได้ประมาณร้อยละ ๒๐ แล้วเราใช้อย่างถูกต้อง หมายถึง เก็บเอาไว้เพื่อให้มันอำนวยประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสภาวะแวดล้อมอะไรต่าง ๆ เป็นแหล่งผลิตของธาตุอาหาร หรือความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง ถ้าเราใช้ป่าทั้งหมดที่เป็นแหล่งกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว เราจะไปหาความอุดมสมบูรณ์ได้ที่ไหน
    สารคดี ฉบับ ๖๘ หน้า ๑๐๕,ตุลาคม ๒๕๓๓ 

  • สิ่งที่ผมมักพูดอยู่เสมอก็คือ ป่าเราเก็บไว้เฉย ๆ ก็เป็นการอนุรักษ์ที่เราได้ประโยชน์ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องตัดมาใช้ ต้นไม้ให้อากาศ ให้น้ำ…นี่เป็นการใช้ใช่ไหม ใช้โดยที่เราไม่ต้องไปตัดเอาส่วนของมันมาใช้
    สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๓, กรกฎาคม ๒๕๓๓ 

  • ในความรู้สึกของผม เราไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอกว่า เราจะใช้ป่าไม้อย่างไร เพราะมันเหลือน้อยมากจนไม่ควรใช้ จึงควรจะรักษาส่วนนี้เอาไว้ เพื่อให้เราได้ประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ทางอ้อม…มันจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ จะต้องมองว่ามีการใช้ทั้งทางตรงทางอ้อม ป่าที่เก็บไว้ในรูปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติควรจะใช้ประโยชน์ในทางอ้อม” 
    สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๔,กรกฎาคม ๒๕๓๓ 

  • ถ้าเผื่อเรามีทรัพยากรที่เป็นลุ่มน้ำอยู่มาก แล้วเรารักษาป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ได้บางส่วน ใช้ไปบางส่วน เหมือนสมัยที่เรามีป่ามาก เราอาจจะสร้างเขื่อนได้บางแห่ง แต่ในปัจจุบัน ลักษณะของพื้นที่ที่เป็นลุ่มน้ำที่เหมาะจะสร้างเขื่อนให้ได้ปริมาณน้ำมาก ๆ เอามาผลิตกระแสไฟฟ้ามันเหลือน้อย และการที่เราสร้างเขื่อนไปก่อน แล้วค่อยตามแก้ไขผลกระทบทีหลัง ผมคิดว่ามันไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ ในทางปฏิบัติ…เดี๋ยวนี้เขื่อนเริ่มจะเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์แล้ว เพราะว่าป่าข้างนอกหมดแล้ว อย่างที่เขาใหญ่ก็เริ่มจะพูดถึงการสร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์ หากว่าการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ายังทำได้อีกต่อไป ผมคิดว่าป่าอนุรักษ์ในอนาคตคงไม่มีความหมายอะไร เหลือแต่ชื่อเอาไว้ว่า เคยเป็นป่าอนุรักษ์มาก่อน
    สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๖,กรกฎาคม ๒๕๓๓ 

  • ถึงแม้จะมี พ.ร.บ.ป่าไม้ แต่ป่าไม้เมืองไทยก็ยังลดลงตลอดเวลา นโยบายป่าไม้แห่งชาติ จึงออกมาเพื่อควบคุม พ.ร.บ.ป่าไม้อีกที โดยเขาแบ่งป่าออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ ป่าอนุรักษ์กับป่าเศรษฐกิจ โดยให้ป่าเศรษฐกิจ ๒๕% กับป่าอนุรักษ์ ๑๕% ซึ่งจะทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศทั้งหมด ๔๐% ซึ่งมองแล้วมันดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันจะเพิ่มในแง่ของป่าเศรษฐกิจ พวกยูคาลิปตัส ซึ่งไม่ได้เน้นในเรื่องของระบบนิเวศวิทยา การที่เราปลูกไม้โตเร็ว ๒-๓ ชนิด แล้วไปตัดไม้ในป่าธรรมชาติ ผมคิดว่ามันไม่มีทางรักษาป่า หรือทำให้เป็นป่าธรรมชาติได้อีก สำหรับป่าธรรมชาติตอนนี้เหลืออยู่เพียง ๑๙% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นป่าอนุรักษ์ต้นน้ำ ลำธาร อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประมาณ ๙% ส่วนอีกไม่ถึง ๑๐% เป็นป่าสงวนที่อยู่รอบ ๆ ป่าอนุรักษ์ ตัวนี้แหละที่ถูกราษฎรบุกรุกอยู่ทุกวันโดยอ้างว่าไม่มีที่ดินทำกินและมีการซื้อขายอย่างผิดกฏหมาย โดยพวกนายทุนที่อยู่ในเมืองหรือมีอิทธิพล หนทางแก้ไข มันต้องหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งอันนี้ต้องมีการประสานกันทุกฝ่าย หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ต้องรับรู้นโยบายกันบ้าง แล้วก็ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า ถ้าเขาขายที่ดินอันนี้ไปแล้ว เขาไม่มีทางไปอีกนั่นแหละจึงจะสามารถหยุดปัญหานี้ได้
    พีเพิล ฉบับ ๒๑ หน้า ๖๑,สิงหาคม ๒๕๓๓ 

  • ถึงแม้จะหยุดป่าสัมปทานแล้วก็ตาม แต่ราษฎรที่บุกรุกอยู่ในเขตป่าสงวนตอนนี้ ล้านกว่าครอบครัว ป่าไม้ที่ไหนจะเหลือ นอกจากความจริงใจของรัฐบาล เค้าบอกว่าจะต้องรักษาป่าให้ได้โดยการจำแนกพื้นที่ออกมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และบอกเลยว่าป่าสงวนตรงนี้ห้าม ห้ามมีกรรมสิทธิ์ ห้ามเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ตอนนี้ป่าหมดเพราะอะไรรู้ไหม เพราะป่าสงวนหมดสภาพ สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นป่ายูคาลิปตัสได้ ผมไม่อยากจะเรียกป่า เพราะมันไม่ใช่ป่า
    อิมเมจ ฉบับ ๓ หน้า ๓๒,มีนาคม ๒๕๓๓
  • การอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย จะสามารถประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยความเข้าใจ และความจริงใจต่อการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ประมาณร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่ทั้งประเทศ ไม่เช่นนั้นแล้วจำนวนชนิดของสัตว์ป่าที่หายากและกำลังจะสูญพันธุ์เหล่านี้ก็จะต้องสูญไป พร้อมกับการบุกรุกทำลายป่า ทั้งในรูปแบบของการพัฒนาที่ต้องตัดป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าออกและรวมถึงการยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าเพื่อกิจการอื่น ๆ
    เอกสารประกอบการสัมมนาสิ่งแวดล้อม ๓๓ หน้า ๔๒ 

  • ปัญหาของการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ช่องว่างของกฏหมายที่อนุญาตให้บุคคลมีสัตว์ป่าไว้ครอบครองโดยไม่ต้องขออนุญาต สิ่งนี้เป็นช่องทางให้การล่าสัตว์ มันเหมือนกฎหมายสัตว์ป่าที่คุณบอกว่า คุณสามารถที่จะมีเก้ง มีกวาง มีเสือ มีหมาไน หมาจิ้งจอก เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พวกนี้มีไว้ในครอบครองได้ ถ้าไม่เกินปริมาณที่กำหนด ทำไมในเมื่อเราคุ้มครองแล้ว ทำไมเราไม่คุ้มครองมันทุกตัว แก้กฎหมายสิ
    อิมเมจ ฉบับที่ ๓ หน้า ๓๑,มีนาคม ๒๕๓๓ 

  • สัตว์ป่าที่ถูกเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก ๆ ถ้าสามารถรอดชีวิตมาได้จนโต จะคุ้นเคยกับคน จนไม่สามารถปล่อยให้มีชีวิตอยู่ต่อไปในป่าได้ตามลำพังอีก… และส่วนมากลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่อยู่ในกรง ก็มักจะไม่แข็งแรง และเมื่อมันโตขึ้นก็จะเกิดการผสมกันเองในครอบครัวเดียวกัน… เรากำลังพูดกันมากว่าจะอนุรักษ์กันอย่างไร แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าการรักษาชีวิตสัตว์ให้รอดอยู่ แตกต่างอย่างมากมายกับการอนุรักษ์พันธุ์ของสัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ
    เอกสารประกอบการสัมมนาสิ่งแวดล้อม ๓๓ หน้า ๔๓-๔๔ 

  • พวกที่ชอบล่าสัตว์ป่าและพวกชอบกินเนื้อสัตว์ป่า ผมขอเถอะ พวกที่ชอบซื้อสัตว์ป่ามาเลี้ยงก็เช่นกัน ธรรมชาติเขาเลี้ยงได้ดีกว่าอยู่แล้ว
    สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๑๐๐,กรกฎาคม ๒๕๓๓ 

  • ในแง่ของการอนุรักษ์ คือการที่เราจะช่วยเหลือไม่ให้มันสูญพันธุ์ การทำให้มันมีประชากรเพิ่มขึ้น จะเป็นในกรงเลี้ยงหรืออะไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถปล่อยมันคืนไปในป่าธรรมดา ให้มันปรับตัวแลัวเพิ่มประชากรโดยตัวของมันเองได้ นั่นไม่ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ แล้วพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีวิวัฒนาการ ปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาพธรรมชาติ แต่ถ้าเราเอามันออกมาทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แต่พันธุ์ไม่ได้รับการพัฒนา สัตว์ที่ถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ มันก็จะผสมพันธุ์กันเอง ซึ่งจะทำให้เกิดลักษณะด้อยเพิ่มขึ้น
    สารคดี ฉบับ ๖๘ หน้า ๑๐๕,ตุลาคม ๒๕๓๓  

ล่าสุด 1 ก.ย. 2562 งาน “รำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร”

ขอบคุณภาพจาก เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ขอบคุณภาพจาก เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(รมว.ทส.) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร หน่วยงานราชการ เอกชน และรัฐวิสาหกิจในจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดใกล้เคียง ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา กว่า 500 คน เข้าร่วมงานรำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานีกิจกรรม “รำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร” จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่ทำอัตวินิบาตกรรมจบชีวิตตัวเอง ช่วงเช้าของวันที่ 1 กันยายน 2533 ภายในบ้านพักที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งจากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2532 สืบ นาคะเสถียร ได้เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และพบกับปัญหามากมายที่สืบตั้งเจตนารมณ์ว่าต้องแก้ไขให้ได้ เช่น ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า แต่ก็เป็นเรื่องยากยิ่งที่จะแก้ไขได้ และได้พยายามแก้ปัญหาในหลายๆด้าน แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ จนกระทั่งเช้ามืดของวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร จึงได้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยปืนหนึ่งนัด ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งการเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร ตั้งแต่บัดนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่ง วันที่ 1 กันยายนจึงเป็นวันที่ทุกคนจะร่วมระลึกถึงความเสียสละของสืบ นาคะเสถียร

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กิจกรรม “รำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2562 ซึ่งในวันที่ 1 กันยายน 2562 มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใหเกียรติเป็นประธานในพิธี โดยจะมีการวางหรีด รำลึก สืบนาคะเสถียร มอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรเจ้าหน้าทิ่พิทักษ์ป่าและนักเรียนจำนวน 58 ทุน การบรรยายและชมนิทรรศการ “Smart Patrol” และเรื่อง “เสือ” กิจกรรมเตรียมความพร้อมสัตว์ป่าก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จากคอกพักสัตว์สู่คอก soft release เนื้อที่ 100 ไร่ เพื่อให้สัตว์ป่าปรับตัว ให้เข้ากับสภาพธรรมชาติ ก่อนปล่อยคืน สู่ธรรมชาติอย่างแท้จริงต่อไป

การเดินทางไปที่เขื่อนทับเสลา สรุปโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก และการตรวจพื้นที่ในภาพรวมตามแผนงานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสัตว์ป่า”

ทั้งนี้ การเพาะพันธุ์และปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ เป็นหนึ่งในมาตรการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่จะช่วยให้เกิดการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์ป่าในผืนป่าอนุรักษ์ ของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนได้สนองนโยบาย สำคัญของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการแก้ไขปัญหาการลด จำนวนลงของสัตว์ป่าของประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถเพิ่มพูนสัตว์ป่านอกถิ่นอาศัย เพื่อให้เป็นสะพานเชื่อมโยงไปสู่การอนุรักษ์สัตว์ป่าในถิ่นอาศัยได้อีกด้วย ซึ่งในปีงบประมาณพุทธศักราช 2562 กรมอุทยานแหง่ชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนดแผนปฏิบัติงานกิจกรรมเพาะพันธุ์และปล่อยสัตว์ป่า กำหนดให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้งประเทศรวม 25 สถานี เพาะพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 56 ชนิด 6,418 ตัว เพื่อปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ

โดยในวันนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เตรียมสัตว์ป่า 2 ชนิด ได้แก่ เนื้อทราย จำนวน 70 ตัว และละมั่ง จำนวน 30 ตัว รวมเป็น 100 ตัว ซึ่งเดิมเลี้ยงไว้ในคอกขนาดเล็ก มาปล่อยในพื้นที่คอกขนาดใหญ่ ขนาด 100 ไร่ เพื่อให้สัตว์ป่าได้คุ้นชินกับสภาพพื้นที่อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนสามารถหาอาหาร ได้เอง รู้จักศัตรู รู้วิธีหลบภัยจากศัตรู ตามรูปแบบการปล่อยสัตว์ป่า แบบซอฟท์ รีลีส จึงจะได้นำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอย่างแท้จริงต่อไป สำหรับพื้นที่ ณ จุดปล่อยสัตว์ป่า

นอกจะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สัตว์ป่า ได้ปรับตัวก่อนปล่อยคืนสู่สภาพแล้ว ยังจะได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ และใช้ประโยชน์ สัตว์ป่าจากการท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนได้มีรายได้และเกิดความรัก หวงแหน เห็นคุณค่าในทรัพยากรสัตว์ป่าให้มากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้สัตว์ป่าที่นำมาปล่อยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตรวจสุขภาพ และตรวจโรค เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นพาหะนำโรคไปสู่สัตว์ป่าในธรรมชาติ เรียบร้อยแล้ว