“เรากำลังจะตายก่อนตายจริง” จากภาพหลอนไวรัส Covid-19

ขอบคุณที่มา : สยามรัฐ

โควิด-19 ไม่น่ากลัวเท่าภาพหลอนที่สังคมสร้างให้กับมัน

บรรยง วิทยวีรศักดิ์ ประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Financial Services Association)ในฐานะนักการเงินและเภสัชกร ห่วงใยเศรษฐกิจประเทศที่กำลังชงักงัน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงโรคโควิด-19 อีกครั้ง พร้อมเตือนสติประชาชนอย่ากลัวเกินกว่าเหตุ ก่อนที่เศรษฐกิจประเทศจะดิ่งเหว โดยการเขียนบทความผ่าน Facebook ส่วนตัว “สยามรัฐ” เห็นว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจและหลายเรื่องขัดแย้งกับข้อมูลเดิมๆที่เราเคยได้ยินมา จึงนำมาเสนอเพื่อให้ผู้อ่านใช้วิจารณญานประกอบในการตัดสินใจรับมือกับภัยโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

โควิด-19 ไม่น่ากลัวเท่าภาพหลอนที่สังคมสร้างให้กับมัน

ถามจริงๆตลอดชีวิตของเรา เคยมีใครเห็นผีแบบจะๆบ้าง เคยมีใครได้ข่าวว่ามีคนถูกผีหักคอ หรือถูกผีแหวกอกบ้าง คนบางคนกลัวผีจนเสียสติวิปลาสไป หรือตกใจวิ่งหนีผีจนตกตึกตาย คนไม่ได้ตายเพราะผี แต่คนตายเพราะกลัวผี

เราไม่รู้ว่าผีมีจริงหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าทุกคนคงเห็นด้วยกับผมว่า ความกลัวผีน่ากลัวกว่าตัวผีจริงๆเสียอีก

บางเรื่องที่เราไม่รู้ เรามักจินตนาการมันไปไกล เฉกเช่น ความกลัวโรคโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ผมคิดว่าเรากลัวเกินไปกว่าข้อเท็จจริงมาก

โควิด-19 หรือ โรคโคโรนาไวรัส มีต้นตอจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แล้วแพร่ระบาดกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก ผมเชื่อว่าทุกคนก็คงติดตามข่าวแบบใกล้ชิดไม่แพ้กัน แต่ตอนนี้ข่าวมาถูกขยายจนเกินความจริงมาก คนใส่หน้ากากกันทั่วบ้านทั่วเมือง บางคนไม่กล้าไปกินกาแฟร้านอาโกปากซอย เพราะกลัวติดเชื้อกลับมา บางคนกลัวกระทั่งการกินชาบูกับเพื่อนทั้งที่เป็นหม้อไฟเดือดๆ ไม่ต้องพูดถึงการเดินห้างเดินตลาดที่คนพยายามหลีกเลี่ยงกันเลย แล้วสังคมจะเดินหน้าไปได้อย่างไร ถ้าทุกคนถูกครอบงำด้วยความกลัว พ่อค้าแม่ค้าแทบจะขาดใจตายกันหมดแล้ว

วันนี้ ผมจึงมาขอให้รัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุข ออกมาพูดยืนยันความจริงกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริง ไม่ใช่เพียงแค่สันนิษฐาน ประเด็นที่ประชาชนอยากรู้คือ

1. โรคโควิด-19 ติดต่อกันง่ายจริงหรือ

ผมไม่เถียงว่าโรคนี้เป็นโรคติดต่อ และในต่างประเทศติดต่อกันแบบง่ายดาย เป็นร้อยเป็นพันคน แต่กรณีประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน มันติดต่อกันง่ายขนาดนั้นไหม ผมมีกรณีศึกษาจากเคสที่เป็นข่าว

1.1 อาม่าที่นครปฐมถือเป็นเคสผู้ป่วยคนไทยคนแรก

ในประเทศไทย อาม่ากลับมาจากอู่ฮั่นแล้วไม่สบาย 10 วันที่อาม่าอยู่กับครอบครัวก่อนเข้าโรงพยาบาล ไม่มีใครติดเชื้อจากอาม่า ทั้งๆที่ไม่มีการป้องกันใดๆ

1.2 แท็กซี่ที่รับนักท่องเที่ยวจีน เมื่อรู้สึกไม่สบายจึงไปหาหมอ หลังตรวจเสร็จ พบว่าเป็นโรคโควิด-19 แต่คนใกล้ชิดร่วม 13 คน ไม่มีใครติดเชื้อเลย โดยไม่มีการป้องกันหรือใส่หน้ากากเช่นกัน

1.3 อากงอาม่าที่ไปเที่ยวฮอกไกโด กลับมาได้ 3 วัน ป่วยเป็นโรคโควิด-19 ปรากฏว่าหลานชายวัย 8 ขวบ ติดเชื้อด้วย ซึ่งเข้าใจได้ว่าอาจจะมีการกอดหอมตามประสาคนเลี้ยงหลาน แต่ไม่ปรากฏว่าคนในครอบครัว คือลูกและลูกสะใภ้ติดเชื้อ หรือรวมถึงคนในไฟลท์บินเดียวกันแม้แต่คนเดียว

เมื่อประมวลจากเหตุการณ์ข้างต้น ผมจึงสรุปว่า มันไม่ได้ติดกันง่ายขนาดนั้น จะเอาเราไปเทียบกับประเทศเมืองหนาวไม่ได้ เมื่อก่อนไม่รู้ แต่ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 2 เดือน เราพอจะมีสถิติของประเทศเราเองแล้ว เราพอจะสรุปได้ไหมว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคเมืองหนาว ไม่ติดกันง่ายๆในเมืองร้อนอย่างไทย

2. โรคนี้ติดต่อทางลมหายใจหรือไม่

มีเอกสารทางการแพทย์มากมายที่ระบุว่า เชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ล่องลอยออกไปกับลมหายใจของผู้ป่วย แต่ต้องมีพาหนะให้เกาะไป ซึ่งก็คือละอองน้ำเล็ก (droplet) ที่เกิดจากการไอ จาม หรือออกมาพร้อมกับสารคัดหลั่งของร่างกาย เช่น น้ำลาย น้ำมูก น้ำตา เป็นต้น นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม จึงมีคนติดเชื้อน้อยมากในไทย เพราะเมื่อคนป่วยไอจามออกมา ละอองเหล่านี้จะร่วงสู่พื้น ไม่ฟุ้งมากในที่อากาศโปร่งร้อนของไทย และที่อุณหภูมิเกิน 27 องศา เชื้อไวรัสจะอ่อนแอ ติดยาก

แล้วทำไม จึงมีการแพร่กระจายมากในญี่ปุ่น เกาหลี หรืออิตาลี เพราะที่นั่นเป็นเมืองหนาว เมื่ออากาศเย็น ระดับ 0-5 องศาเซลเซียส อากาศจะหนาแน่น พอมีคนป่วยไอจาม ละอองน้ำเหล่านั้นสามารถล่องลอยแขวนตัวได้นาน แถมเชื้อไวรัสชอบอากาศเย็น จึงยังมีชีวิตตลอดระยะเวลาที่ฟุ้งอยู่ข้างนอก

ส่วนกรณีเกาหลีที่มีการระบาดเป็นพัน เพราะอาม่าป่วยแล้ว ไม่ยอมตรวจเชื้อ แถมยังเข้าร่วมสวดมนต์กับเพื่อนร่วมลัทธินับร้อยคนถึง 4 ครั้ง เมื่ออากาศเป็นใจ การแพร่กระจายจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็น Super spreader ไป

มีอีก 2 กรณีตัวอย่างที่คนไทยติดเชื้อโควิด-19 คือ พยาบาลที่ดูแลคนป่วย ที่เดิมไม่รู้ว่าเขาป่วยเป็นโรคโควิด-19 อาจมีการเช็คตัว สัมผัสกัน โดยไม่ทันระวัง และอีกรายเป็นพนักงานขายของให้ชาวต่างประเทศ ที่ใกล้ชิดกับชาวต่างชาติตลอดเวลา อาจมีการรับเงินที่เพิ่งผ่านการสัมผัสจากผู้ป่วยใหม่ๆ จึงติดเชื้อมา

ณ เวลานี้ ยังไม่มีหลักฐานว่าคนไทยติดเชื้อจากไวรัสที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศที่หายใจ

3. คนไทยที่ติดเชื้อในประเทศจริงๆมีกี่คน

มีข้อมูลที่น่าดีใจ เมื่อเทียบกับข้อมูลที่เราเคยได้รับมา องค์การอนามัยโลกได้สรุปข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 พบว่า ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีคนติดเชื้อในประเทศไทย 35 คน เป็นคนจีนที่ติดเชื้อจากประเทศจีน 25 คน เป็นคนไทยที่ติดเชื้อจากต่างประเทศ 4 คน และเป็นคนไทยที่ติดเชื้อในประเทศ 6 คน โดยคนไทยทั้ง 6 คนนี้ ล้วนมีประวัติใกล้ชิดกับชาวต่างชาติหรือไม่ก็เป็นพยาบาลที่ดูแลคนป่วยทั้งสิ้น

หลังจากวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ได้ข่าวก็เป็นเคสอากงอาม่าที่ติดมาจากฮอกไกโด และล่าสุดที่ป่วย 4 คน ล้วนติดมาจากอิหร่านและอิตาลี ยังไม่พบข่าวคนไทยติดเชื้อในประเทศโดยตรงจากการใช้ชีวิตปกติเลย

4. ระยะฟักตัวสามารถติดต่อได้หรือไม่

เรื่องที่น่าประหลาดใจและขัดแย้งกับความเชื่อเดิมๆแบบสิ้นเชิง คือผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศเมื่อเร็วๆนี้ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่แพร่เชื้อในคนที่อยู่ในระยะฟักตัว กล่าวคือ จะแพร่เชื้อเมื่อมีอาการป่วยแล้วเท่านั้น (COVID-19 does not transmit as efficiently as influenza, from the data we have so far. With influenza, people who are infected but not yet sick are major drivers of transmission, which does not appear to be the case for COVID-19./ 3 March 20)

ความเชื่อผิดๆนี้ได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้คนว่า คนที่กลับมาจากต่างประเทศ หากอยู่ในระยะฟักตัว เขาไม่ต่างอะไรกับเครื่องพ่นเชื้อโควิด-19 ที่เคลื่อนที่ ทำให้เกิดกระแสการเกลียดชังคนที่เพิ่งไปต่างประเทศมาและไม่ได้กักตัวเองในบ้าน แต่เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่ผู้อำนวยการใหญ่พูด การกักตัวจึงเหมือนลดความจำเป็นลง แต่น่าจะเป็นการเฝ้าระวังว่าคนนั้นจะเป็นไข้เมื่อไร แล้วรีบกักตัวเข้าโรงพยาบาล หรือลดเวลาการกักตัวหลังกลับจากต่างประเทศลงมาเหลือ 1 สัปดาห์

5. ต้องกักตัวผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศเสมอไปไหม

ในรายงานขององค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำแก่ประเทศสมาชิกว่า เราจะใช้มาตรการกักตัว (quarantine)ในกรณีที่บุคคลนั้นได้เคยสัมผัสผู้ป่วย ดังนี้

5.1 เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ดูแลคนป่วย โดยไม่ได้ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมในการป้องกัน (เนื่องจากไม่รู้มาก่อนว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19)

5.2 บุคคลนั้นอาศัยหรือทำงานที่เดียวกับคนป่วย

5.3 บุคคลนั้นเพิ่งไปเที่ยวด้วยกันกับคนป่วยในระยะใกล้ชิด น้อยกว่า 1 เมตร

ในประเทศไทย ทั้งรัฐบาลและบริษัทเอกชนประกาศให้เจ้าหน้าที่ของตนต้องกักตัวที่บ้าน 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่กลับจากประเทศที่มีการระบาด โดยไม่แยกแยะว่าประเทศเหล่านั้นอยู่ในภาวะที่กำลังระบาดรุนแรงหรือควบคุมได้แล้ว ในขณะที่เรากลับรู้สึกเฉยๆกับชาวต่างชาติที่เข้ามาอย่างเสรี และอาจเดินทางบนรถไฟฟ้าขบวนเดียวกับเรา

เรากลัวคนไทยไปเที่ยวนอก แต่เรากลับต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติดั่งเทวดามาโปรดเศรษฐกิจของเรา

การปฎิบัติของเรา จึงเข้าข่ายมีอคติกับคนชาติเดียวกัน ไม่ต่างจากคนตะวันตกที่ดูหมิ่นคนจีนหรือคนเอเชียว่าเป็นตัวพาหะ โดยกระแสกลัวโรคโควิด-19 กดดันให้บริษัทต่างๆต้องออกระเบียบให้พนักงานที่ไปต่างประเทศต้องกักตัวเอง เพียงเพื่อป้องกันภาพลักษณ์ขององค์กรไม่ให้สังคมรังเกียจหรือไม่ติดต่อซื้อขายด้วย หากพบว่ามีพนักงานบริษัทนี้ป่วยเป็นโรคโควิด-19

อีกประเด็นที่ควรมีการถกเถียงกันคือ เจ้าหน้าที่ที่ไปประเทศเสี่ยง ควรมีการกักตัวกี่วัน มีข้อมูลขององค์การอนามัยโลกว่า กว่า 80% ของผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 มีอาการ 2-5 วันหลังจากรับเชื้อ การกักตัวในกรณีนี้จึงควรเป็นเพียงแค่ 1 สัปดาห์ เพราะถ้าเป็น 2 สัปดาห์ จะยากในการปฏิบัติ ทำให้แหกกฎได้ง่าย อย่าลืมว่านี่เป็นคนที่เพียงแค่ไปประเทศเสี่ยง ไม่ใช่คนที่สัมผัสผู้ป่วยตามนิยายขององค์การอนามัยโลก เชื่อว่าหลัง 7 วันไปแล้ว ถ้าเขามีไข้ เขาเองต้องรีบหาหมอเร็วด่วน เพราะเขาก็กลัวตายเหมือนกัน

6. จำเป็นต้องใส่หน้ากากไหม

เรื่องนี้ มีคนพูดบ้างพอสมควรแล้ว จากข้อมูลข้างบนจะสังเกตว่า คนทั่วไปมีความเสี่ยงในประเทศต่ำมากๆ ถ้าเราไม่ได้ไปประเทศที่กำลังมีโรคระบาด ไม่ได้ทำธุรกิจกับชาวต่างชาติที่ต้องคลุกคลีกัน ไม่ได้ทำงานในโรงพยาบาล เราแทบไม่ต้องใส่หน้ากากเลย กรุงเทพมีคน 10 ล้านคน ผ่านมา 60 วัน มีใครที่ใช้ชีวิตปกติแล้วติดไวรัสโควิด-19 บ้าง ผู้เชี่ยวชาญบางท่านถึงกับบอกว่า การใส่หน้ากากทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น เพราะไปจับหน้ากากแล้วมาลูบหน้าลูบตา เขาจึงแนะนำว่า ให้สละให้กับแพทย์พยาบาลที่ต้องใกล้ชิดคนไข้ดีกว่า ประชาชนทั่วไปจะใช้ก็ต่อเมื่ออยู่ในที่แออัด หรือมีความเสี่ยง เช่น บนเครื่องบิน ในรถไฟฟ้า หรือในโรงพยาบาล

7. โควิด-19 อยู่บนพื้นผิวได้นานเท่าไร

นี่เป็นประเด็นที่คนสงสัยกันมาก ความไม่รู้นำไปสู่ความกลัว มันไม่ใช่เพียงว่าละอองการไอการจามของคนป่วยที่ร่วงบนโต๊ะ จะอยู่ได้นานเท่าไรเท่านั้น มันต้องพูดในบริบทว่า ที่อุณหภูมิ 28-30 องศาเซลเซียสแบบบ้านเรานั้น มันจะอยู่ได้นานเท่าไร ถ้าเป็นห้องแอร์ที่ไม่ถ่ายเท จะนานเท่าไร เพื่อที่จะตอบคำถามว่า ทำไมประเทศไทยจึงมีการติดเชื้อในประเทศที่ต่ำมาก

และหากข้อเท็จจริงออกมาว่าเชื้อโรคจะอยู่ได้ในอุณหภูมิ 28-30 องศาได้เพียง 2-3 ชั่วโมง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องปิดสำนักงานหรือร้านค้าที่มีคนป่วยเคยทำงานนาน 2 สัปดาห์ เพียงให้เจ้าหน้าที่พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อแล้วปิดแอร์สัก 3 วัน ก็น่าจะเปิดดำเนินการได้ตามปกติ

ส่วนคนที่สงสัยว่าทำไมประเทศสิงคโปร์ที่เป็นเมืองร้อน ถึงมีคนป่วยมากกว่าเราถึง 1 เท่าตัว คาดว่าน่าจะมาจากการที่ประเทศเขาเป็นศูนย์กลางธุรกิจ มีชาวต่างชาติเข้ามาตลอดเวลา อยู่กันอย่างแออัด และที่สำคัญทุกพื้นที่ติดเครื่องปรับอากาศ แทบจะ 24 ชั่วโมง

8. ผู้ป่วยจะถูกไวรัสทำลายปอดอย่างถาวรจริงหรือไม่

ข่าวนี้นำความสยองให้ทุกคนที่เสพข่าว แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้เชี่ยวชาญสรุปมาคือ ในจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ทุก 100 คน จะมีความหนักเบาในอาการป่วยดังนี้

81 % มีอาการเล็กน้อย (mild)

14 % มีอาการรุนแรง (severe)

และ 5 % มีอาการวิกฤต (critical) ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวมาก่อน

จากสถิติล่าสุดในไทย (5 มีนาคม) มีผู้ป่วย 48 ราย รักษาหายแล้ว 31 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 16 ราย เสียชีวิต 1 ราย

แล้วข่าวที่ว่า ผู้ป่วยโรคนี้ ปอดจะถูกไวรัสทำลายอย่างรุนแรงและไม่สามารถฟื้นฟูได้ไปตลอดชีวิตมาจากไหน ผมเห็นข่าวอาม่านครปฐมกับคนขับแท็กซี่ที่หายป่วยแล้ว ยิ้มร่า แถมชูกล้ามว่าแข็งแรงดีแล้ว เราเสพข่าวกันเกินขนาดรึเปล่า หรือหมอผู้เชี่ยวชาญให้ยาเกินขนาด (ตีความเอาเองครับ)

9. อัตราการตายน่ากลัวแค่ไหน

อัตราการตายจากโรคโควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลกสรุปมาคือ 3.4% แต่นี่เป็นข้อมูลรวมในประเทศเขตหนาว แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ 60 วันที่ผ่านมา เรามีคนป่วย 48 คน เสียชีวิต 1 คน

Centers for Disease Control (CDC) หรือศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลว่า คนที่อายุต่ำกว่า 50 ปี มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเพียง 1% ซึ่งข่าวล่าสุดแจ้งว่า ในประเทศจีนค่าเฉลี่ยรวมของผู้ป่วยอัตราการเสียชีวิตได้ลดต่ำกว่า 1% แล้ว เพราะเขาเรียนรู้วิธีที่จะรักษาได้ดีขึ้น

ท่านทราบหรือไม่ว่า ขณะที่เราคุยกันนี้ ในประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ชั่วโมงละ 2 คน หรือเฉลี่ย 50 คนต่อวัน หากเทียบระยะเวลาเดียวกัน 60 วันที่ผ่านมา เรามีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุไปแล้ว 2,966 ราย (ข้อมูลวันที่ 4 มีค.) เมื่อเทียบกับโรคโควิด-19 ที่เสียชีวิตเพียงคนเดียว มันต่างกันราวกับฟ้ากับเหว แต่ตัวเลขไม่เคยหลอกใคร

ผมมักได้ยินคนชอบถามว่า คุณจะกล้ารับประกันไหมว่า จะไม่มีคนติดโรคนี้ ถ้ามีการจัดสัมมนาอบรมขึ้นมา ผมพูดได้เพียงว่า เรามีโอกาสเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากกว่าจากโรคโควิด-19 แน่ๆ แต่เรากลับกลัวโรคโควิด-19 มากกว่าเป็นพันเท่า

โอกาสป่วยด้วยโรคโควิด-19 น้อยอยู่แล้ว โอกาสเสียชีวิตยิ่งน้อยไปอีก

อีกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ปีที่แล้ว ในประเทศไทยมีคนป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ 390,000 ราย และเสียชีวิต 27 ราย หรือเฉลี่ยเดือนละ 2 ราย มันก็น่ากลัวไม่แพ้โควิด-19 เลยนะ แต่ไม่มีใครกลัวแล้ว


10. จะมีวัคซีนป้องกันโรคนี้ไหม

มีข่าวว่ามี 18 หน่วยงานกำลังวิจัยและทดลองวัคซีนตัวนี้อยู่ เชื่อว่าจะสามารถผลิตออกมาได้ในที่สุด และเชื้อโควิด-19 นี้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่มีโอกาสเกิดได้เป็นระยะๆ ตราบใดที่เราไม่สามารถห้ามคนเดินทางไปมาหาสู่กัน แต่จะเป็นโรคที่เราเอาอยู่ คือเมื่อตรวจพบก็จะมีการกักตัวรักษา แล้วตรวจสอบคนใกล้ชิดเหมือนที่เราทำเมื่อเจอผู้ป่วยไข้เลือดออกตอนนี้ แต่ระหว่างที่รอวัคซีน ขอให้ประเทศเดินหน้าก่อนได้ไหม

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องออกมาฟันธงให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า เชื้อโควิด-19 ติดได้ง่ายจริงหรือ ด้วยวิธีใด เชื้ออยู่ได้กี่วัน หรือที่อุณหภูมิเท่าไรที่มันจะตายหรืออ่อนแอ รัฐบาลจะปล่อยให้คนกลัวจนไม่กล้าออกจากบ้าน แล้วภาวะเศรษฐกิจของบ้านเราจะเป็นอย่างไร รัฐบาลต้องมองภาพใหญ่ ไม่เอาอารมณ์กลัวแบบไร้ข้อมูลมากำกับนโยบาย ปล่อยให้มีคนพูดในแนวดราม่าว่าเดือนมีนาคม เมษายน จะมีการระบาดสูงสุดทั้งๆที่เป็นกลางหน้าร้อน กระทรวงสาธารณสุขควรเป็นผู้ใหญ่ที่มาสร้างความมั่นใจ ไม่ใช่ทำลายความมั่นใจเสียเอง

ถึงเวลาที่ผู้เชี่ยวชาญต้องมาคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ด้วยข้อเท็จจริงและต้องใช้ข้อมูลล่าสุดมาคุยกัน เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด อย่าปล่อยให้คลุมเครือ ทำให้มีคนหาประโยชน์จากสถานการณ์ได้

มาถึงจุดนี้ ผมขอย้ำว่า ผมเข้าใจดีว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อ แต่มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมของไทย เราพูดกันว่า ตื่นตัวแต่ไม่ตระหนก ผมเห็นด้วยว่าเรายังควรต้องมีการเฝ้าระวัง โดย

1. มีการตรวจสอบวัดอุณหภูมิผู้โดยสารขาเข้าจากต่างประเทศอย่างเข้มข้น

2. หน่วยงานของรัฐและเอกชนควรมีการตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าในอาคารใหญ่อย่างต่อเนื่อง

3. มีการทำความสะอาดอาคารและอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

4. จัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลให้เพียงพอ

5. มีการกักตัวผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วย หรือผู้ที่เพิ่งกลับมาจากประเทศที่กำลังมีโรคระบาดอย่างรุนแรงและยังควบคุมไม่อยู่ ไม่ให้ใกล้ชิดคนอื่น

6. มีบทลงโทษทั้งจำและปรับ สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้วปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องการไปต่างประเทศหรือคนป่วยในบ้าน

7. ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนรวมถึงวิธีป้องกันตัวที่เหมาะสม

คนไทยมักจะมีอารมณ์ผันผวน สังเกตได้จากตลาดหุ้น เวลาหุ้นขึ้นก็ดีใจหาย เวลาหุ้นตกก็ตกแหลกราญ มากกว่าประเทศใดๆในโลก เราปล่อยให้อารมณ์มามีอิทธิพลเหนือข้อเท็จจริงเสมอ

ตอนนี้กิจกรรมการประชุม สัมมนา ปาร์ตี้ นิทรรศการ แม้กระทั่งงานสงกรานต์ ถูกยกเลิกหมด ถ้ารัฐบาลยังปล่อยภาพให้เป็นแบบนี้ ต่อไปจะลามไปถึงการกลัวคนส่งของ ไปรษณีย์ เซลแมน หรือคนขับแท็กซี่ จนไม่มีคนกล้าขึ้นรถเมล์ เดินบนถนน เดินในห้าง หรือตลาดสด แล้วบ้านเมืองจะอยู่กันอย่างไร

เรากำลังจะตายก่อนตายจริง

ฤา ผีโควิด-19 จะน่ากลัวกว่าโรคโควิด-19 จริงๆ

หมายเหตุ : เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรที่สังกัด

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.who.int/dg/speeches/detail/who-director-general-s-opening-re…

https://www.who.int/docs/default-source/coronaviruse/who-china-joint-mis…

https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2002032

https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1874414

https://www.chula.ac.th/clipping/27949/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง