เช็คบัญชีด่วน เงินหายจากบัญชี ไปครั้งละน้อย แต่หลายครั้ง หรือ เท่ากันทุกเดือน วันเดียวกัน หรือเปล่า
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
จากกรณี ลูกค้าธนาคารตรวจพบ การทำธุรกรรมออนไลน์ หลายรายการ โดยข้อความระบุว่า Purchase via EDC ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการซื้อสินค้าบริการผ่านบัตรเดบิต และมาตัดเงินจากบัญชีธนาคารอีกที โดยผู้เป็นเจ้าของบัญชีไม่ได้ดำเนินการเอง
ซึ่งเป็นการตัดเงินจากบัญชีธนาคาร บัญชีบัตรเครดิต หรือบัญชีบัตรเดบิต อย่างผิดปกติเป็นจำนวนมาก หรือลักษณะผูกบัญชีไว้ซื้อสินค้า โดยจำนวนเงินที่หักไม่สูง แต่มีจำนวนหลายรายการติดๆ กัน
หากเงินหายจากบัญชี
โทรหาธนาคาร ยกเลิกระงับการใช้บัตรหรือบัญชีนั้น
เพื่อไม่ให้มีการตัดเงินจากบัตรหรือบัญชีได้อีก
ทุกบัญชี ควรเปิด ระบบ SMS แจ้งเตือนการฝากและถอนเงินทุกรายการ
บางกรณี หลายๆ ครั้งจะสังเกตว่า เงินในบัญชีจะมียอดเงินหายไป เมื่อโทรถามธนาคาร ธนาคารจะบอกว่า เราใช้ทำธุรกรรมใดไป แต่บางธุรกรรม ธนาคารก็บอกไม่แต่รู้ว่า น่าจะใช้ในการหักเงินประเภท ซื้อสินค้า หรือ ค่าต่ออายุอะไรซักอย่าง และเป็นการหักในเวลาที่ไม่น่าจะเป็นเจ้าของบัตรใช้
การดำเนินการเบื้องต้น แล การรักษาความปลอดภัยของ App , Socal , E- mail ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพ เข้าถึงข้อมูลบัญชีได้
- ไม่ควรคลิกรับ SMS ใดๆที่เสี่ยง ซึ่งมิจฉาชีพส่งเข้ามายังโทรศัพท์มือถือ
- ควรมีบัญชีเงินฝากที่ไม่เชื่อมกับ App Moblie กรณีที่มีเงินจำนวนมาก เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการเข้าถึงบัญชีในระบบออนไลน์
- ควรแจ้งธนาคารเปิดวงเงินในการถอนสูงสุดเท่าที่จำเป็น
- ทุกบัญชี ควรเปิด ระบบ SMS แจ้งเตือนการฝากและถอนเงิน ของทุกบัญชี
- ทุกบัญชี Facebook หรือ อะไรก็ตาม อาทิ Email ควรมีการแจ้งเตื่อนเมื่อมีการพยายามเข้าระบบ หรือ Login แบบผิดปกติ รหัสผิด หรือ Login ในพื้นที่ที่ไม่ใช้การใช้งานปกติ
- ทุกบัญชี Facebook หรือ อะไรก็ตาม อาทิ Email ที่เชื่อมกับระบบซื้อ กระเป๋าเงินอิเลกทรอนิกส์ ควรมีการอ้างอิงการเข้าระบบ 2 ชั้นกับโทรศัพท์มือถือ หรือ ใช้ Autherticator
- และทุกบัญชี ควรเชื่อมการตรวจสอบกับ E-mail อีก 1 ชื่อ ที่เป็น E-mail สำรองไว้ส่งรหัส หรือ แก้ไขข้อมูล Password
- บัญชีธนาคารที่ใช้สำหรับการซื้อของ หากซื้ออะไรควรใส่เงินไว้ ตามจำนวนที่ซื้อเท่านั้น ไม่ควรใช้บัตรที่มีเงินจำนวนมากในการตัดบัญชี
- ระมัดระวังการซื้อ APP บนโทรศัพท์มือถือ เพราะระบบ subscription – สมาชิก จะหักบัญชีรายเดือนอัตโนมัติแม้จะไม่ได้ใช้งานบ่อย ๆ
- ไม่ควรสมัครซื้อ Software แบบลักษณะการ Renew ถึงเวลาหักบัญชีบัตรเครดิตอัตโนมัติ เพราะบ้างครั้งเราไม่ได้ใช้จริง แต่ระบบจะหักเงินในบัตรอัตโนมัติ เมื่อควรกำหนดการต่ออายุ Software เช่น Domain หรือ โปรแกรมต่า่งๆ
- หากเลี่ยงไม่ได้ต้องใช้ซื้อ Software หรือ APP ในระบบ subscription และ Renew ให้ทำระบบแจ้งเตือนก่อนวันหมดอายุหรือวันตัดเงิน เผื่อต้องการยกเลิกการใช้งาน
ล่าสุด 19 ต.ค. 64 .. เรียกความเชื่อมั่นในระบบธนาคาร
‘ทุกธนาคาร’ รับเป็น ‘ผู้เสียหาย” เจ้าของบัญชีไม่ต้องไปแจ้งความ จะได้รับเงินคืนภายใน 5 วันทำการ
วันที่ 19 ต.ค. 64 พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ข้อสรุปกับทางธนาคารว่า ธนาคารจะรับเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวเอง โดยที่ประชาชนไม่ต้องไปแจ้งความกับสถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ ส่วนเงินที่สูญหายออกจากบัญชีหรือบัตรเครดิต เดบิต ทางธนาคารเจ้าของบัญชีจะชดใช้เงินคืนให้กับลูกค้าเองภายใน 5 วันทำการ
พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กล่าวว่า จะมีการตั้งผู้ประสานงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการสืบสวนสอบสวน และการนำเงินมาคืนให้กับผู้เสียหายหรือทางธนาคาร ตัดขั้นตอนและระยะเวลาในการทำเรื่องของแต่ละฝ่ายลง เพื่อให้สามารถติดตามจับกุมคนร้ายและอายัดบัญชีได้เร็วขึ้น ซึ่งข้อมูลจากสมาคมธนาคารไทย พบว่า ขณะนี้มีบัตรเครดิตที่ถูกล้วงข้อมูลไปแล้ว 5,700 ใบ เดบิต 4,800 ใบ รวมมูลค่าความเสียหาย 100 กว่าล้านบาท
ด้านตัวแทนสมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงินต่าง ๆ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกธนาคารทราบข้อมูลหมดแล้วว่า มีลูกค้าหรือบัญชีที่ถูกก่อเหตุกี่ราย โดยแต่ละธนาคารจะมีระบบในการตรวจสอบความเคลื่อนไหวและการใช้จ่ายจากบัญชี และบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตต่าง ๆ ว่า เข้าข่ายลักษณะรูปแบบที่ธนาคารจับตามองอยู่ ถูกโอนเงินไปยังบัญชีหรือผู้ให้บริการรายเดียวกับที่ธนาคารจับตามอง
ทั้งนี้ หากลูกค้ารายใดที่พบว่า บัญชีธนาคารหรือมีการใช้จ่ายในบัตรเครดิต บัตรเดบิต ผิดปกติ แต่ไม่ได้รับการติดต่อคืนเงินจากธนาคาร สามารถแจ้งไปยังธนาคารเจ้าของบัญชีได้ทันที เพื่อให้ทางธนาคารตรวจสอบ หากพบว่า เป็นความผิดพลาดจากกรณีดังกล่าว ธนาคารจะรีบคืนเงินให้ใน 5 วันเหมือนกับลูกค้าในกลุ่มแรก โดยไม่ต้องเข้าแจ้งความกับทางตำรวจ
จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มคนร้ายอาศัยช่องว่างในการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของธนาคาร ในการขโมยข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า และข้อมูลบัตรเครดิต-เดบิตไปใช้จ่าย หรือโยกย้ายเงินไปยังบัญชีอื่น ๆ ซึ่งกรณีดังกล่าวยืนยันว่า กลุ่มคนร้ายไม่สามารถเจาะระบบของธนาคารต่างๆ ได้ แต่คนร้ายใช้วิธีการล้วงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าหรือข้อมูลบนบัตรเครดิต เดบิต โดยใช้ 5 รูปแบบ อาทิ การขโมยเลขที่บัตร วันหมดอายุของบัตร และเลขความปลอดภัย 3 หลักที่อยู่ด้านหลังบัตร โดยรูปแบบของกลุ่มคนร้ายมีความแตกต่างกันออกไป
สิ่งสำคัญหลังจากนี้ ทางธนาคารจะร่วมกันหาวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก โดยไม่ให้กระทบต่อความสะดวกของผู้ใช้บริการ
เ้สนตัวแทนจากสำนักงาน ปปง.เปิดเผยว่า จากนี้จะนำข้อมูลจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ถูกก่อเหตุมาตรวจสอบว่า ปลายทางของเงินจำนวนดังกล่าวตกไปอยู่ในบัญชีหรือผู้ให้บริการรายใดบ้าง ไม่ว่าจะอยู่ภายในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ก็จะดำเนินการอายัดหรือนำเงินกลับมาคืนให้กับทางธนาคาร ซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียหายให้ได้มากที่สุด แม้ว่าเงินดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังต่างประเทศ ซึ่งทางสำนักงานปปง. มีเครือข่ายหน่วยงานในต่างประเทศ ที่สามารถติดต่อประสานงานนำเงินมาคืนให้ได้
18 ต.ค. 64 ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ชี้แจงความคืบหน้า กรณีการตัดเงินที่ผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต
ตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สมาคมธนาคารไทย ได้ชี้แจงกรณีการตัดเงินที่ผิดปกติ ผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของลูกค้าจำนวนมาก เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา ว่ามิได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากระบบธนาคาร โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการที่มิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตรและนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศ ที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) โดยตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม มีบัตรที่มีการใช้งานผิดปกติจากเหตุข้างต้นจำนวน 10,700 ใบ โดยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นรายการใช้จากบัตรเดบิตเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการใช้งานส่วนใหญ่มีจำนวนเงินต่อรายการต่ำ เช่น 1 ดอลลาร์ สรอ. และมีการใช้เป็นจำนวนหลาย ๆ ครั้ง ทั้งนี้ ธนาคารมีระบบตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ โดยแต่ละธนาคารจะกำหนดเพดานและเงื่อนไขการใช้งานของบัตรตามลักษณะประเภทร้านค้าและประเภทสินค้าแตกต่างกันไป
.
นอกจากนี้ ธปท. และ สมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันและแก้ปัญหา ดังนี้
.
- ยกระดับความเข้มข้นในการตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้ครอบคลุมทั้งธุรกรรมที่มีจำนวนเงินต่ำและที่มีความถี่สูง หากพบธุรกรรมที่ผิดปกติ ธนาคารจะระงับการใช้บัตรทันทีและแจ้งลูกค้าในทุกช่องทาง รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังรายการธุรกรรมจากต่างประเทศเป็นพิเศษ
- เพิ่มการแจ้งเตือนลูกค้าในการทำธุรกรรมทุกรายการ ตั้งแต่รายการแรกผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ระบบ Mobile banking อีเมล หรือ SMS
- กรณีที่ตรวจสอบพบว่าลูกค้าได้รับผลกระทบจากการทุจริตตามข้างต้น กรณีบัตรเดบิต ลูกค้าจะได้รับการคืนเงินภายใน 5 วันทำการ ส่วนกรณีบัตรเครดิต ธนาคารจะยกเลิกรายการดังกล่าว ลูกค้าไม่ต้องชำระเงินตามยอดเรียกเก็บที่ผิดปกติ และจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย
- ธปท. และสมาคมธนาคารไทยจะเร่งหารือกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตร เช่น Visa Mastercard เพื่อกำหนดให้มีการใช้การยืนยันตัวตนเพิ่มเติม เช่น OTP กับบัตรเดบิตสำหรับร้านค้าออนไลน์
.
กรณีลูกค้าพบความผิดปกติของธุรกรรมด้วยตนเอง สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารผู้ออกบัตร เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
.
สำหรับประชาชนทั่วไป ควรตรวจสอบการทำธุรกรรมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งระมัดระวังการผูกบัตรเดบิตในการทำธุรกรรม โดยเฉพาะกับแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยง เช่น เกมออนไลน์ แพลตฟอร์มที่ไม่มีการยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งาน หรือไม่มี OTP ทั้งนี้ สำหรับบางธนาคาร ลูกค้ายังสามารถเปิด/ปิดการใช้งานของบัตร หรือเปลี่ยนแปลงวงเงินการใช้บัตร หรืออายัดบัตรได้ด้วยตัวเองผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคาร นอกเหนือจากการติดต่อกับธนาคาร
.
ธปท. และ สมาคมธนาคารไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า โดยธนาคารมีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและมีการตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติอย่างต่อเนื่อง ในระยะต่อไป ธปท. และสถาบันการเงินจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกระดับมาตรการและประสิทธิภาพการตรวจจับและตอบสนองต่อรายการผิดปกติ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว
ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย
18 ตุลาคม 2564
บทสรุปจาก ‘ตำรวจไซเบอร์’ เบื้องต้น ผู้เสียหาย 4 หมื่น ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน
พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รองผบช.สอท. พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผบก.ตอท. แถลงกรณีมิจฉาชีพล้วงข้อมูลส่วนตัว หลอกดูดจากบัญชีธนาคาร มีประชาชนหลายรายถูกหักเงินออกจากบัญชีธนาคาร บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต โดยไม่ทราบสาเหตุ
พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า ขณะนี้ตำรวจไซเบอร์ร่วมประชุมกับสภาธนาคารไทย และธปท. เพื่อหาความร่วมมือแก้ปัญหากรณีดังกล่าว เบื้องต้นพบมีผู้เสียหายประมาณ 4 หมื่นคน ยอดสูงสุด 2 แสนบาท มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งผู้เสียหายถูกถอนเงินครั้งละจำนวนไม่มาก แต่หลายบาท หลายครั้ง เชื่อว่าคนร้ายไม่น่าจะก่อเหตุคนเดียวและมาจากหลายกลุ่มใช้วิธีหลายรูปแบบ
พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า พฤติการณ์การก่อเหตุ สันนิษฐานว่าอาจเกิดจาก 3 ลักษณะ คือ
1.เป็นการผูกบัญชีบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัญชีธนาคารเข้ากับแอพลิเคชั่นต่างๆ เช่น แอพพลิเคชั่นออนไลน์ และข้อมูลเกิดหลุดไปถึงแก๊งมิจฉาชีพ
2.การส่ง SMS หลอกลวง ที่จะส่งลิงก์มาตาม sms เข้ามือถือผู้เสียหาย และให้กรอกข้อมูลต่างๆ เช่น ปล่อยเงินกู้ ไปรษณีย์ไทย
3.การใช้บัตรเครดิต , บัตรเดบิตในชีวิตประจำวัน เช่น การให้บัตรพนักงานไปชำระค่าสินค้าและบริการ ในห้าง หรือการเติมน้ำน้ำมัน อาจถูกพนักงานเก็บข้อมูลเลขหน้าบัตร 16 หลัก และเลข CVC หลังบัตร 3 ตัว ซึ่งคนร้ายอาจรวบรวมข้อมูลและขายต่อในตลาดมืด
“ฝากเตือนประชาชนอย่าผูกบัตรเครดิต บัตรเดบิตกับแอพพลิเคชั่นที่ไม่จำเป็นหรือไม่น่าเชื่อถือ , ไม่คลิกลิงก์ใน sms หรืออีเมล์แปลกที่ไม่รู้จัก และควรลบหรือปิดเลข CVC เลข 3 ตัวหลังบัตร เพื่อความปลอดภัย”
พล.ต.ต.นิเวศน์ กล่าวว่า ตรวจสอบพฤติกรรมการดูดเงิน มักจะเป็นการดูดเงินจำนวนไม่กี่บาท แต่หลายๆ ยอด เพราะหากเป็นบัตรเดบิต มักจะไม่ส่ง sms แจ้งเตือนให้ผู้เสียหายรู้ ซึ่งยอดเหล่านี้มักเกิดจากการชำระซื้อค่าไอเทมในเกม หรือซื้อโฆษณาออนไลน์ ที่ไม่จำเป็นต้องส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อ
“การสืบสวน ตำรวจต้องประสานกับร้านค้าที่รับชำระว่า กระบวนการตัดเงินอย่างไร หากเป็นแอพพลิเคชั่นในประเทศอาจง่ายต่อการตรวจสอบมากกว่าแอพพลิเคชันที่อยู่ในต่างเทศ เช่น google”
ทั้งนี้จะได้หารือกับ ธปท.และกลุ่มผู้ค้าขายสินค้าออนไลน์ ถึงมาตรการป้องกัน เช่น อาจให้มีการลงทะเบียนร้านค้าออนไลน์ หรืออาจปรับมาตรการแจ้งเตือนชำระสินค้าและบริการที่เป็นยอดน้อยๆ ไม่ถึงขั้นต่ำ เพื่อป้องกันปัญหา
มือดีนำข้อมูลบัตรเครดิตขายร้านเกม
ขณะที่ ทางเพจ Drama-addict ได้โพสต์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า มีผู้เสียหายบางคนที่ไปเช็กปลายทางแล้วพบว่า สำหรับเงินจำนวน 37 บาที่โดนตัดรัวๆ โดยไม่รู้สาเหตุและที่มา เมื่อผู้เสียหายไปอายัดบัตรและเช็กข้อมูล ก็พบว่า เป็นการซื้อของในเกมออนไลน์ ทั้งยังมีผู้ให้ข้อมูลอีกว่า ก่อนหน้านี้ไม่นาน มีคนไปตระเวนติดต่อตามร้านเกม บอกว่า เขาได้ข้อมูลบัตรเครดิตมาล๊อตนึง มีเลขบัตร ชื่อ เลข CVC เลขวันหมดอายุแล้วจะให้ทางร้านเอาไปผูกกับแอคเคาท์ในแอปพวก wallet หรือพวกเกม แล้วให้กดซื้อเพชรในเกม มาขายให้เด็กที่มาเล่นเกมในร้าน ราคาถูกๆ คนที่แจ้งเบาะแสมาเขาปฏิเสธไป
แต่หลังจากนั้นพอนั่งดูข่าวที่สื่อนำเสนอว่าเหยื่อบางคน โดนสูบเงินทีละ37 บาท และโดนจากเกมออนไลน์ มันคือราคาเพชรราคาเดียวกับที่มีคนมาเสนอขาย และเป็นเกมเดียวกัน
จึงแจ้งมาให้ข้อมูล ทั้งนี้หากร้านเน็ท ร้านเกม ร้านใดก็ตาม ที่มีผู้ไปติดต่อแบบลักษณะดังกล่าว
ขอให้ส่งข้อมูลไปที่ กองปราบปราม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี – บก.ปอท.
ธปท. และ สมาคมธนาคารไทย ชี้แจง
ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ชี้แจงกรณีการตัดเงินที่ผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของลูกค้าจำนวนมาก
.
ตามที่ปรากฏข่าวพบลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตและบัตรเดบิตจำนวนมากประสบปัญหาการทำรายการชำระเงินโดยที่ไม่ได้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้รับทราบปัญหาและได้ตรวจสอบสถานการณ์ดังกล่าว โดยเบื้องต้นพบว่า มิได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เป็นรายการที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และไม่ใช่แอปดูดเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว
.
ขณะนี้ธนาคารเจ้าของบัตรได้ดำเนินการระงับการใช้บัตรของลูกค้าที่มีรายการผิดปกติ และติดต่อลูกค้า รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบร้านค้าที่มีธุรกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้
.
นอกจากนี้ ลูกค้าที่ตรวจสอบพบความผิดปกติของรายการธุรกรรมด้วยตนเอง สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารผู้ออกบัตรเพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเร่งคืนเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายตามขั้นตอนของธนาคารโดยเร็วต่อไป
.
ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า โดยธนาคารพาณิชย์มีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและมีการตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบรายการที่ผิดปกติ ธนาคารจะแจ้งลูกค้าเพื่อตรวจสอบและยืนยันรายการธุรกรรม และพร้อมจะดูแลลูกค้าด้วยความรับผิดชอบเสมอ
.
ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
17 ตุลาคม 2564